โบรกเกอร์แนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.ซาบีน่า (SABINA) เล็งผลดำเนินงานฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง (H2/63) มีแผนปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรอีก 10 สาขาภายในปีนี้เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อออนไลน์มากขึ้น คาดสัดส่วนรายได้ออนไลน์เพิ่มเป็น 15% จากปีก่อน 10% และใน 3 ปีจะเพิ่มเป็น 25-30%
ทั้งนี้ การลดจำนวนพนักงานลงเกือบ 400 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลงกว่า 30 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเริ่มเห็นผลในช่วงไตรมาส 3/63 รวมไปถึงการออกแคมเปญกระตุ้นยอดขาย
ส่วนรายได้ OEM มีการเปลี่ยนไปผลิตหน้ากากผ้าขายในช่วงไตรมาส 2/63 แต่คาดรายได้ OEM ชุดชั้นในจะเร่งตัวขึ้นตามลำดับในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/63) เพราะลูกค้าต้องกลับมาสต็อกสินค้าใหม่ จะเริ่มส่งไปให้ลูกค้ายุโรปใน ก.ย.
หุ้น SABINA ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 19.40 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ดัชนี SET บวก 2.39 จุด
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) หยวนต้า (ประเทศไทย) ซื้อ 21.60 เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ซื้อ 24.30 ฟิลลิป(ประเทศไทย) ซื้อ 22.40 ทิสโก้ ถิอ 19.20
น.ส.ญานินทร์ อภิชาติสกุลวงศ์ นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ให้เหตุผลแนะนำ"ซื้อ"หุ้น SABINA ว่า เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ SABINA ถูกปิดช่องทางการขายหลักที่เป็นสาขาตามห้างสรรพสินค้า ส่งผลให้ยอดขายหายไป แต่ก็ได้พลิกกลยุทธ์หันมาขายผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้สัดส่วนยอดขายช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด ซึ่งปัจจุบันยอดขายงช่องทาง Retail ก็เริ่มกลับมาแล้ว ดังนั้นหากไม่มีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ก็เชื่อว่าผลการดำเนินงานของ SABINA ในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/63) จะกลับมาดีกว่าครึ่งปีแรก
นอกจากนี้ ในช่วงโควิดทาง SABINA ได้ช่วยเหลือสังคมด้วยการหันมาผลิตหน้ากากผ้าอนามัย ทำให้โรงพยาบาลและสถานที่ที่ต้องการจากผู้ที่มาจ้างให้ผลิต ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้ SABINA ก็ยังมีรายได้ OEM เข้ามาด้วย สามารถไปชดเชยรายได้ OEM จากต่างประเทศที่หายไปในช่วงโควิดได้บางส่วน อย่างไรก็ดี ในครึ่งปีหลังเริ่มเห็นลูกค้าทางฝั่งยุโรปและอังกฤษกลับมาแล้ว ขณะที่หน้ากากผ้าอนามัยก็ยังคงผลิตอยู่
SABINA ยังมีแผนจะปิด 10 สาขาที่เป็นพื้นที่ไม่ค่อยจะสร้างยอดขายให้ด้วย ซึ่งการปิดสาขาก็เป็นการตอบโจทย์ของการหันไปขายออนไลน์ พร้อมคาดการณ์กำไรสุทธิปี 63 ไว้ที่ 303 ล้านบาท ลดลงกว่า 20% จากปี 62 ที่มีกำไรสุทธิ 413 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
สำหรับ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า ช่วงที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนทำให้ต้องมีการปิดเมือง (Lockdown) SABINA บริหารจัดการทั้งด้านการผลิตและการขายได้ค่อนข้างดี ส่งผลให้แนวโน้มกำไรสุทธิปีนี้มีโอกาสดีกว่าคาดการณ์ เนื่องจากปัจจุบันยอดขายกลับมาฟื้นตัวแล้ว 90% ของระดับปกติ ซึ่งบริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่หายไป เนื่องจากมีสัดส่วนยอดขายในกลุ่มนักท่องเที่ยวเพียง 3% เท่านั้น
ขณะที่การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ยังมีการเติบโตในระดับสูงด้วย โดยคาดว่าสัดส่วนรายได้จะออนไลน์จะเพิ่มเป็น 15% จากปีก่อน 10% และคาดว่าใน 3 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 25-30%
ส่วนสินค้า OEM ส่งออกให้กับลูกค้าในอังกฤษและฝรั่งเศสจะกลับมาส่งออกในเดือน ก.ย.-ธ.ค.63 ซึ่งเลื่อนมาจากช่วงไตรมาส 2/63 อีกทั้งมีรายได้จากการรับจ้างผลิตหน้ากากผ้า ทำให้รายได้จาก OEM โดยรวมปีนี้ยังทรงตัวใกล้เคียงกับปีก่อนได้
ทั้งนี้ คาดว่ากำไรในช่วงไตรมาส 3/63 จะกลับมาฟื้นตัว แม้ยังลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาส 4/63 ทิศทางกำไรมีโอกาสที่จะสูงขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวสูงขึ้นหลังจากบริษัทได้กลับมาเริ่มผลิตในช่วงปลายเดือน พ.ค. ในขณะเดียวกันได้ลดจำนวนพนักงานลงเกือบ 400 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายลดลงกว่า 30 ล้านบาทต่อปี ซึ่งจะเริ่มเห็นผลในช่วงไตรมาส 3/63 รวมไปถึงการออกแคมเปญกระตุ้นยอดขาย
ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯคาดว่า กำไรปกติในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/63) จะฟื้นตัวแบบ V-Shape และไวกว่าที่ตลาดคาด โดยคาดรายได้ในประเทศจะทยอยฟื้นตัวขึ้นต่อเนื่องจากการจัดการส่งเสริมการขาย และการกลับมาเปิดเต็มรูปแบบของห้างร้านต่างๆ และ SABINA มีฐานลูกค้าหลักเป็นในประเทศ การหายไปของนักท่องเที่ยวจึงไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ณ เดือน ส.ค. รายได้กลับมาราว 90% ของระดับปกติแล้ว ปัจจุบันอัตราการใช้กำลังการผลิตราว 95% ขณะที่รายได้จากการส่งออกผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วเช่นกัน
ส่วนรายได้ OEM มีการเปลี่ยนไปจำหน่ายหน้ากากผ้าในช่วงไตรมาส 2/63 แต่คาดว่ารายได้ OEM ชุดชั้นในจะเร่งตัวขึ้นตามลำดับในช่วงครึ่งปีหลัง (H2/63) เพราะลูกค้าต้องกลับมาสต็อกสินค้าใหม่ โดยจะเริ่มส่งไปยังลูกค้ายุโรปในเดือน ก.ย. ส่วนการบริหาร SG&A ยังคงดำเนินต่อเนื่อง มีแผนปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรอีก 10 สาขาภายในปีนี้ทั้งนี้เพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เน้นซื้อออนไลน์มากขึ้น พร้อมคาดการณ์เบื้องต้นว่ากำไรปกติไตรมาส 3-4/63 จะสูงที่ราว 80–100 ลบ.ต่อไตรมาส