บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ยกเลิก "เครดิตพินิจ" แนวโน้ม "Negative" หรือ "ลบ" ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตองค์กรและตราสารหนี้ของ บมจ. ดุสิตธานี (DTC) พร้อมทั้งประกาศลดอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทลงมาอยู่ที่ระดับ "BBB-" จากเดิมที่ระดับ "BBB" พร้อมทั้งกำหนดแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น "Negative" หรือ "ลบ"
อันดับเครดิตที่ลดลงดังกล่าวสะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าสถานะทางการเงินของบริษัทจะอ่อนแอลงในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง โดยหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทจะอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 10 เท่าไปจนถึงปี 2566 ซึ่งเป็นผลจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนแอลงจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ที่ส่งผลต่ออุตสาหกรรมโรงแรมประกอบกับภาระหนี้ของบริษัทที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการ "ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค" ซึ่งหากการพัฒนาโครงการดำเนินไปตามแผน สถานะทางการเงินของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นอย่างมากหลังจากปี 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปรับลดอันดับเครดิตในครั้งนี้สะท้อนถึงสถานะเครดิตของบริษัทที่อ่อนแอลงในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมโรงแรมมีแนวโน้มไม่ชัดเจนเป็นอย่างมากท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าอุตสาหกรรมโรงแรมจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันต่อไปอีกในช่วงปี 2563-2564 เนื่องจากการจำกัดการเดินทางมีแนวโน้มจะยังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในขณะที่แบบแผนการใช้ชีวิตใหม่ที่คนทั่วไปต้องรักษาระยะห่างทางสังคมอันเกิดมาจากความกลัวการติดเชื้อโรคก็น่าจะเป็นปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ภาระหนี้จะอยู่ในระดับสูงในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 10 เท่าต่อไปจนถึงปี 2566 เป็นอย่างน้อยโดยพิจารณาจากแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทที่จะอ่อนแอลงในระยะ 24 เดือนข้างหน้าซึ่งเกิดจากผลกระทบของโรคโควิด 19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยว ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดจากการลงทุนใหม่ ๆ ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมานั้นก็ยังต้องใช้เวลาในการเติบโต นอกจากนี้ แรงกดดันต่อภาระหนี้ของบริษัทยังเกิดจากหนี้ที่จะเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งเป็นโครงการผสมผสานขนาดใหญ่ที่ต้องใช้งบในการก่อสร้างทั้งสิ้นที่ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2567 ด้วย ซึ่งเงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่จะมาจากเงินชำระตามงวดที่ได้รับจากการขายโครงการที่พักอาศัยและโครงสร้างอาคารศูนย์การค้า ทริสเรทติ้งเห็นว่าผลกระทบของโรคโควิด 19 และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจะเพิ่มความไม่แน่นอนในการขายโครงการที่พักอาศัย และอาจทำให้บริษัทต้องกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ
นอกเหนือจากโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค แล้ว บริษัทยังมีแผนลงทุนในโครงการอื่น ๆ อีกประมาณ 1.2 พันล้านบาทในปี 2563 โดยหลัก ๆ แล้วจะเป็นการลงทุนในโครงการ "โรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์" และ "โรงแรมอาศัย สาทร" และคาดว่าเงินลงทุนของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 150-200 ล้านบาทต่อปีในปี 2564-2565
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทที่ปรับปรุงแล้วจะขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดที่ประมาณ 1.5-1.6 หมื่นล้านบาทในปี 2566 ก่อนที่บริษัทจะเริ่มทยอยได้รับกระแสเงินสดจำนวนมากจากการขายและโอนโครงการที่พักอาศัยในปี 2567-2568 ทั้งนี้ สมมติฐานของทริสเรทติ้งยังได้พิจารณารวมถึงแผนในการบริหารสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งจะส่งผลต่อสถานะทางการเงินโดยรวมและช่วยบรรเทาภาระหนี้ของบริษัทได้ในระดับหนึ่งอีกด้วย
การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมสู่ระดับก่อนวิกฤติโรคโควิด 19 จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 24 เดือน ธุรกิจโรงแรมเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มาตรการจำกัดการเดินทางทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจโรงแรมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองและเริ่มเปิดประเทศในระดับหนึ่งแล้ว แต่มาตรการจำกัดการเดินทางจะยังคงมีอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่งและมีความเข้มงวดต่างกันไป ความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินทางทางอากาศอาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการเดินทางโดยเครื่องบินโดยสารระหว่างประเทศที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมงในระยะเวลาหลายไตรมาสข้างหน้า นอกจากความวิตกกังวลด้านสุขภาพแล้ว ยังมีประเด็นที่ปริมาณเที่ยวบินจะลดลงอย่างมากซึ่งอาจเป็นปัจจัยขัดขวางการฟื้นตัวอีกด้วยเนื่องจากธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงนั้นต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว ดังนั้น เมื่อพิจารณาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัวซึ่งส่งผลต่ออุปสงค์ในการเดินทางแล้ว ทริสเรทติ้งประเมินว่าธุรกิจโรงแรมจะใช้เวลาอย่างน้อย 24 เดือนในการที่จะเห็นอุปสงค์ของบริการด้านโรงแรมฟื้นตัวกลับมาอยู่ในระดับเท่ากับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของจะลดลงประมาณ 55% ในปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 อยู่ประมาณ 25% ส่วนในปี 2565 นั้น รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562 ประมาณ 10% ทั้งนี้ สมมติฐานดังกล่าวคำนึงถึงการที่โรงแรมของบริษัทส่วนใหญ่ค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในประเทศไทย ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าโรงแรมของบริษัทที่หัวหิน พัทยา และกรุงมะนิลาจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าเนื่องจากโรงแรมเหล่านี้พึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ในการนี้ สมมติฐานของทริสเรทติ้งยังพิจารณารวมถึงโรงแรมใหม่อีก 2 แห่งของบริษัทคือโรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ ที่คาดว่าจะเปิดตัวในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ และโรงแรมอาศัย สาทร ที่คาดว่าจะเปิดตัวในไตรมาสแรกของปี 2564 ด้วย
รายได้จะติดลบในปี 2563 แต่จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2563 จะลดลงราว ๆ 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและจะปรับดีขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 4.6 พันล้านบาทในปี 2565 โดยอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งเกี่ยวกับการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรม ในขณะที่รายได้จากธุรกิจอาหารและธุรกิจการศึกษาของบริษัทนั้นทริสเรทติ้งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 น้อยกว่าและคาดว่าจะฟื้นตัวสู่ระดับใกล้เคียงกับระดับก่อนการแพร่ระบาดของโรคได้ภายในปี 2564 นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการปรับแผนธุรกิจเพื่อบริหารจัดการและปรับปรุงคุณภาพโรงแรมของบริษัทเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในระยะกลางถึงระยะยาว
บริษัทได้มีความพยายามในการลดต้นทุนในหลาย ๆ ส่วน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร ค่าที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการบริหารและการตลาด เพื่อที่จะบรรเทาผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ติดลบในปีนี้ก่อนที่จะปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 0.8-1.1 พันล้านบาทต่อปีในปี 2564-2565
สภาพคล่องจะบริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถบริหารจัดการและรักษาสถานะสภาพคล่องให้สามารถยืนหยัดผ่านพ้นช่วงที่ธุรกิจถดถอยนี้ไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2563-2564
ทั้งนี้ แหล่งสภาพคล่องหลักของบริษัทประกอบด้วยเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวนประมาณ 1.2 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังกำลังอยู่ในระหว่างการขอวงเงินสินเชื่อโครงการเพื่อใช้สำหรับ "โรงแรมดุสิต สวีท ราชดำริ กรุงเทพ" โรงแรมอาศัย ไชน่าทาวน์ และโรงแรมอาศัย สาทร รวมทั้งสิ้นอีก 1.4 พันล้านบาท และบริษัทยังได้รับเงินจากการจัดสรรรายได้ค่าธรรมเนียมจำนวน 297 ล้านบาทในเดือนกรกฎาคม 2563 อีกด้วย ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานติดลบประมาณ 600 ล้านบาทในปี 2563 ก่อนที่จะปรับดีขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 380 ล้านบาทในปี 2564
บริษัทมีความจำเป็นในการใช้เงินทุนในช่วงที่เหลือของปี 2563 อันประกอบไปด้วยภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 54 ล้านบาท ภาระผูกพันในสัญญาเช่าดำเนินงานประมาณ 250 ล้านบาท และงบใช้จ่ายตามแผนการลงทุนอีกประมาณ 600 ล้านบาท ส่วนในปี 2564 นั้น บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 1.1 พันล้านบาท มีภาระผูกพันในสัญญาเช่าดำเนินงานประมาณ 500 ล้านบาท และมีแผนการลงทุนประมาณ 150-200 ล้านบาท ในการนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทมีความจำเป็นจะต้องใช้เงินทุนอีกประมาณ 1-1.3 พันล้านบาทสำหรับการก่อสร้างโครงการ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ในปี 2564
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
-รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืน (RevPAR) ของโรงแรมที่บริษัทเป็นเจ้าของจะลดลงประมาณ 55% ในปี 2563 และจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2564 แต่ก็ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในปี 2562 อยู่ประมาณ 25% ส่วนในปี 2565 นั้น รายได้เฉลี่ยต่อห้องต่อคืนจะอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2562 ประมาณ 10%
-รายได้รวมของบริษัทในปี 2563 จะลดลงราว ๆ 50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจะปรับดีขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 4 พันล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 4.3 พันล้านบาทในปี 2565
-อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะติดลบในปี 2563 ก่อนที่จะปรับดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 0.8-1.1 พันล้านบาทต่อปีในปี 2564-2565
-บริษัทจะมีแผนลงทุนโดยไม่รวมโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ที่ประมาณ 1.2 พันล้านบาทในปี 2563 และประมาณ 150-200 ล้านบาทต่อปีในปี 2564-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงมุมมองของทริสเรทติ้งว่าผลการดำเนินงานและสถานะทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ภายใต้แรงกดดันต่อไปอีกในปี 2563-2564 โดยที่การฟื้นตัวของธุรกิจยังคงมีความไม่แน่นอนในระดับสูงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่ยังไม่นิ่งและสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทั่วโลก
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง แนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทอาจปรับเปลี่ยนมาเป็น "Stable" หรือ "คงที่" หากผลการดำเนินงานของบริษัทฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องและบริษัทสามารถดำรงสถานะสภาพคล่องเอาไว้ได้อย่างเพียงพอที่จะรองรับภาวะผันผวนใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีความรุนแรงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ และสถานะทางการเงินของบริษัทเสื่อมถอยลงกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ หรือสถานะสภาพคล่องของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมาก