KSL เผยปี 51 เพิ่มสัดส่วนส่งออกเอทานอลเป็น 50% แก้ปัญหาในประเทศล้นตลาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 7, 2007 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.น้ำตาลขอนแก่น(KSL)เล็งปรับสัดส่วนส่งออกเอทานอลเพิ่มเป็น 50:50 ในปีหน้า จากปัจจุบันส่งออกไม่เกิน 20% เพื่อแก้ปัญหาความต้องการในประเทศต่ำและถูกกดราคารับซื้อ เล็งนำผลผลิตโรงงานใหม่ที่จะเริ่มเดินเครื่องปี 52 ราว 1.5-2.0 แสนลิตร/วันเพื่อส่งออกโดยเฉพาะ คาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นราว 960 ล้านบาท
"ถ้าจะให้ work ก็ต้องครึ่งต่อครึ่ง...ตอนนี้มัน over supply รวมผู้ผลิตก็ได้ตั้งล้านกว่าลิตร/วัน แต่ขายได้ทั้งประเทศต่อวันไม่ถึง 5 แสนลิตร/วัน ถ้าไม่ส่งออกแล้วจะเก็บไว้ขายใคร"นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพัฒนาธุรกิจ KSL กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายชลัช กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณผลผลิตเอทานอลยังคงล้นตลาดจากความต้องการใช้ในประเทศที่ไม่ได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับรัฐบาลยังไม่มีนโยบายจะยกเลิกการจำหน่ายเบนซิน 95 จึงยังไม่กระตุ้นการใช้แก๊สโซฮอล์เท่าที่ควร
ล่าสุด KSL ทำสัญญาส่งออกเอทานอลล็อตใหญ่จำนวน 5 ล้านลิตรไปยังประเทศในแถบเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ ส่งมอบได้ปลายเดือนส.ค.50 ซึ่งจะทำให้ทั้งปีนี้ KSL สามารถส่งออกเอทานอลได้ราว 6-7 ล้านลิตร ที่ราคา 16 บาท/ลิตร จะสร้างรายได้จากการส่งออกประมาณ 2.0-2.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70-80 ล้านบาท
พร้อมระบุว่า หากบริษัทสามารถทำสัญญาการส่งออกเอทานอลในระยะยาวกับต่างประเทศได้ คาดว่าผลผลิตจากโรงงานใหม่ที่จะเริ่มผลิตภายในปี 52 บริษัทจะนำไปส่งออกโดยเฉพาะ เบื้องต้นเตรียมพิจารณาสถานที่ก่อสร้างโรงงานที่ไว้อาจเป็นที่ชลบุรี หรือกาญจนบุรี กำลังการผลิตรวม 1.5-2 แสนลิตร/วัน หรือคิดเป็น 60 ล้านลิตร/ปี คาดว่าจะทำรายได้ประมาณ 960 ล้านบาท
"ถ้าเรามี long term partner เราจะทำโรงงานเอทานอลเฉพาะเพื่อการส่งออกอย่างเดียว ดูสถานที่เบื้องต้นไว้แล้วอาจจะเป็นที่ชลบุรี หรือกาญจนบุรี รูปแบบทั้งหมดเราทำเสร็จแล้ว ถ้าเราเซ็นสัญญา long term ได้เมื่อไหร่เราก็เริ่มทำ รออีกประมาณปีหนึ่งหรือสักปี 52" นายชลัช กล่าว
นายชลัช กล่าวว่า ราคาที่ส่งออกเอทานอลแม้จะไม่แตกต่างจากราคาขายในประเทศนัก โดยราคาส่งออกอยู่ที่ 16.00-16.50 บาท/ลิตร ขณะที่ราคาในประเทศอยู่ที่ 16 บาท/ลิตร รวมทั้งเป็นช่วงที่เงินบาทแข็งค่า แต่ KSL ก็จำเป็นต้องส่งออก เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกผู้ซื้อจากในประเทศกดราคา
"วันนี้ถ้าผลิตได้ 100 แล้วมารอขายทีละ 50 ผู้ซื้อก็นั่งสบายๆ รู้อยู่แล้วว่าจะเหลือ เพราะงั้นถ้าไม่ลดก็ไม่ซื้อ ถ้าส่งออกให้เห็นว่า เราไม่ได้เดือดร้อนขนาดต้องซมซานไปขายคุณ ก็ส่งออกได้ อำนาจการต่อรองจะเปลี่ยนไป ดีกว่าจะมาอ้อนวอนตลาดในประเทศให้ซื้อทุกวัน" นายชลัช กล่าว
พร้อมกันนี้ ยังขอให้รัฐบาลยืนยันนโยบายในธุรกิจเอทานอลให้มีความชัดเจนและไม่เปลี่ยนแปลงบ่อย เพราะจะกระทบต่อการทำธุรกิจของผู้ประกอบการได้ โดยเฉพาะกรณีการอนุญาตส่งออกเอทานอล
"ผมขออย่างเดียวเลย ความชัดเจน...วันนี้นักธุรกิจเหนื่อย เพราะตลาดในประเทศมันไม่โตแล้ว และรัฐบาลก็ไม่ยอมบังคับ(การยกเลิกจำหน่ายเบนซิน 95) ถ้าผู้ผลิตไปหาตลาดต่างประเทศเรียบร้อย วันดีคืนดีจะมายอมยกเลิกจำหน่าย(เบนซิน 95) แล้วมาบอกว่าของไม่พอ ห้ามส่งออก จะให้เราทำอย่างไรถ้าไปเซ็นสัญญากับต่างประเทศไว้แล้ว"นายชลัช กล่าว
ส่วนความคืบหน้าของการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลในประเทศลาวและกัมพูชานั้น นายชลัช ยืนยันว่า โรงงานน้ำตาลของ KSL ทั้ง 2 แห่งจะสามารถเดินเครื่องได้ต้นปี 52 ตามแผนที่วางไว้ เพราะขณะนี้สามารถขยายพื้นที่ปลูกอ้อยได้เร็วพอสมควรและไม่มีปัญหาในการดำเนินการแต่อย่างใด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ