(เพิ่มเติม) มิลล์คอนฯ คาดกระจายหุ้นเข้าตลาด mai ใน Q4/5, ระดมทุนราว 200-300 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 1, 2007 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล กรรมการผู้จัดการ บมจ.มิลล์คอน สตีลอินดัสทรีส์ (MILL) กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล(ไฟลิ่ง)กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ในวันนี้เพื่อขออนุญาตกระจายหุ้น โดยคาดว่าจะสามารถนำหุ้นของบริษัทจะเข้าจดทะเบียนและทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ mai ได้ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ และคาดว่าจะสามารถกำหนดราคา IPO ได้ในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.นี้ 
"จริงๆ สามารถเข้า SET ได้ แต่หากเข้า SETความน่าสนใจอาจลดลงหากเทียบกับตัวอื่น...ที่เลือก mai เพราะจะมีมาร์เกตแคปใหญ่ที่สุด"นายสิทธิชัย กล่าว
ทั้งนี้ มิลล์คอนฯ ได้แต่งตั้งบล.เคทีบี เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำในการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย
การระดมทุนในครั้งนี้คาดว่าจะได้เงิน 200-300 ล้านบาท เพื่อนำไปใช้ในการสร้างโกดัง และปรับปรุงเครื่องจักร รวมทั้งใช้เป็นทุนหมุนเวียน ซึ่งคาดว่าจะสามารถขยายตลาดได้ในไตรมาส 4 ปีนี้
ปัจจุบัน มิลล์คอนฯ มีทุนจดทะเบียนและชำระแล้ว 300 ล้านบาท มีสินทรัพย์ประมาณ 1.77 พันล้านบาท มีกำลังการผลิตรวมประมาณ 5 แสนตันต่อปี แบ่งเป็นการผลิตเหล็กเส้นและเหล็กข้ออ้อยประมาณ 2.5 แสนตันต่อปี และเหล็กรูปพรรณประมาณ 2.5 แสนตันต่อปี โดยมียอดขายในไตรมาสแรกของปีนี้ประมาณ 965.95 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 34.63 ล้านบาท
"การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการด้านการเงินด้วยเครื่องมือที่หลากหลายขึ้น ซึ่งจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลง ขณะเดียวกันยังสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย" นายสิทธิชัย กล่าว
สำหรับธุรกิจของบริษัทในปีนี้จะเน้นทำการตลาดในส่วนเหล็กรูปพรรณให้มากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่ ส่วนเหล็กเส้นก่อสร้างจะต้องเน้นพัฒนาด้านการบริการ นอกจากนี้ยังจะเพิ่มตลาดต่างประเทศให้มากขึ้นอีกด้วย
ในปี 50 บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโต 25% จาก 2,695 ล้านบาทในปีก่อน อีกทั้งจะรักษาอัตรา gross margin ที่ 8% ซึ่งสูงกว่าปีก่อนที่อยู่ในระดับ 6%
นายสิทธิชัย กล่าวถึงการหาพันธมิตรว่า บริษัทเปิดกว้างในการรับพันธมิตรแต่คงจะเห็นหลังจากเข้าจดทะเบียนแล้ว โดยต้องการได้พันธมิตรเข้ามาเพื่อช่วยในเง่ของกำลังการผลิตและการเติบโต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ