บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิต ‘A+(tha)’ ของ GPSC ได้รวมถึงอันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ที่ ‘a(tha)’ ฟิทช์ได้พิจารณาความสัมพันธ์ด้านการดำเนินงาน และด้านกลยุทธ์ระหว่าง GPSC และบริษัทแม่ ซึ่งได้แก่ บริษัท ปตท. จากัด (มหาชน) หรือ ปตท. (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ว่าอยู่ในระดับปานกลาง ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Criteria)
อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เนื่องจากบริษัทฯเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 ของกำลังผลิตทั้งหมดของประเทศ บริษัทฯมีทรัพย์สินที่มีคุณภาพดี โดยเป็นโรงไฟฟ้าในประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ซึ่งมีกระแสเงินที่สม่ำเสมอ เพราะรายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายไฟฟ้าภายใต้สัญญาขายไฟฟ้าระยะยาวกับคู่ค้าที่มีสถานะทางธุรกิจและการเงินที่แข็งแกร่ง
ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนจะยังอยู่ในระดับสูงในช่วงห้าปีข้างหน้า ซึ่งจำกัดการลงลดของอัตราส่วนหนี้สินในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่า GSPC จะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ที่ประมาณ 4 ถึง 5เท่าได้ (ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เท่ากับ 4.4 เท่า) ซึ่งสอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันของบริษัทฯ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
- ได้รับผลกระทบไม่มากจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส
ฟิทช์คาดว่ากำไรของบริษัทฯจะได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการแพร่ระบาดฯ โดยประมาณร้อยละ 73 ของรายได้จากขายไฟฟ้าและไอน้ำ มาจากสัญญาการขายไฟฟ้าระยะยาว ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทลูกของ ปตท. โดยสัญญาดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงในด้านปริมาณการขายไฟฟ้าที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีการกำหนดปริมาณไฟฟ้าขั้นต่ำที่ลูกค้าต้องรับซื้อ
บริษัทฯมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2563 เพิ่มขึ้นร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทฯมีการรู้รายได้เต็มระยะเวลางบการเงินจาก บมจ. โกลว์ พลังงาน (GLOW) อีกทั้งลูกค้าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมาก จากการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ซึ่งได้แก่ ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น คิดเป็นเพียงร้อยละ 2 ของยอดขายไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก
- สถานะทางธุรกิจที่ดี
บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW ในเดือนมีนาคม 2562 ด้วยขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น ทำให้มีการกระจายตัวด้านสินทรัพย์และด้านภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้น โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำได้ของบริษัทได้เพิ่มขึ้นเป็น 4,747 เมกกะวัตต์ และ 2,701 ตันต่อชั่วโมง จาก 1,977 เมกกะวัตต์ และ 1,760 ตันต่อชั่วโมง ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 GPSC ได้กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่อันดับที่ 3 ของประเทศ (จากอันดับที่ 6 ในช่วงก่อนเข้าซื้อกิจการ) โดยกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเมื่อคิดเป็นสัดส่วนกับกำลังผลิตทั้งหมดของประเทศ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ10 จากร้อยละ 4
นอกจากนี้ GPSC ยังมีการกระจายตัวของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าของ GLOW ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง (ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 16 ของกำลังผลิตทั้งหมดตามสัดส่วนการถือหุ้นของ GPSC หลังเข้าซื้อกิจการ) โดย GPSC อยู่ในระหว่างก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ซึ่งจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจำนวน 250 เมกกะวัตต์ และ 175 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มดำเนินงานภายในปี 2566
- รายได้ที่มั่นคง
GPSC มีรายได้ที่สม่ำเสมอ จากการที่สินทรัพย์ส่วนใหญ่ของบริษัทฯอยู่ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศไทยที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแล ฟิทช์คาดว่า บริษัทจะมี EBITDA เพิ่มขึ้นเป็น 1.8 ถึง 1.9 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2563 และ 2564 จา 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการรับรู้รายได้จาก GLOW เต็มระยะเวลางบการเงิน กำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ น่าจะอยู่ในระดับที่คงที่ ในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า จากการที่ไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่หมดอายุ
การก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน Glow Energy เฟส 2 น่าจะมีกระทบไม่มากนักต่อรายได้จากขายไฟฟ้า เนื่องจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวยังคงสามารถดำเนินกิจการได้ในระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน และโรงไฟฟ้าใกล้เคียงของบริษัทฯ สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้ในช่วงการโอนย้ายการดำเนินงานไปยังโรงไฟฟ้าใหม่ เนื่องจากโรงไฟฟ้าของบริษัทฯมีสายส่งที่เชื่อมโยงกัน
- ค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูง
ฟิทช์ คาดว่า อัตราส่วน FFO net leverage จะอยู่ที่ระดับประมาณ 4 ถึง 4.3 เท่าในปี 2563-2565 (ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เท่ากับ 4.4 เท่า) จากค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กของ GLOW และการเชื่อมโยงโครงข่ายโรงไฟฟ้าของ GSPC กับ GLOW ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วน FFO net leverage อาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณระดับประมาณ 5 เท่าในปี 2566 จากค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่สูงในโครงการ Energy Recovery Unit ที่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินน่าจะค่อยๆ ปรับตัวลดลงหลังจากโครงการดังกล่าวเริ่มมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
- ความสัมพันธ์กับ บมจ.ปตท.(PTT) ที่ระดับปานกลาง
ฟิทช์มองว่า GPSC เป็นบริษัทเดียวในกลุ่ม ปตท. ที่มีบทบาทในการกระจายรายได้ของกลุ่มไปยังธุรกิจไฟฟ้าซึ่งมีเสถียรภาพมากกว่า นอกจากนี้ GPSC ยังเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ รายหลักให้แก่บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น ซึ่งได้แก่ บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AA+(tha) แนวโน้มเครดิตเป็นลบ) และ บมจ. ไออาร์พีซี (IRPC) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ทั้งนี้ GPSC มีสัดส่วน EBITDA หลังจากการเข้าซื้อกิจการ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7 ถึง 10 ของ EBITDA รวมของกลุ่ม แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าสัดส่วน EBITDA จากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจปิโตรเคมี และโรงกลั่น
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต โดยมีบริษัทฯมีรายได้และกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ ใกล้เคียงกับ บมจ. บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานในสนามบินหลักของประเทศไทย และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด หรือ NNEG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กในประเทศไทย
BAFS และ NNEG ต่างมีรายได้ที่สม่ำเสมอ จากการแข่งขันทางธุรกิจที่ต่ำ และ NNEG ยังได้รับประโยชน์จากสัญญาซื้อขายระยะยาวเช่นเดียวกับ GSPC ทั้งนี้ GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า BAFS เนื่องจาก GPSC มีการกระจายตัวของทรัพย์สินและรายได้ที่สูงกว่า นอกจากนี้ BAFS ยังได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมการบินที่ถดถอยจากการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส ทำให้รายได้อ่อนแอลง และมีอัตราส่วนหนี้สินเพิ่มขึ้น ดังนั้น อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ BAFS
GPSC มีอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่สูงกว่า NNEG โดยฟิทช์คาดว่าอัตราส่วน FFO net leverage ของ GPSC จะอยู่ที่ระดับ 4 ถึง 5 เท่า อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ NNEG เนื่องจาก GPSC มีสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า เนื่องจากมีการกระจายตัวของทรัพย์สินที่สูงกว่า และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สูง NNEG อย่างมีนัยสำคัญ
เมื่อเทียบกับ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ในเขตอาเซียน SCC มีสถานะทางธุรกิจอ่อนแอ่กว่า GPSC เนื่องจาก บริษัทมีความเสี่ยงจากปริมาณการขายและราคาของวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะในส่วนของปูนซีเมนต์ โดยธุรกิจปิโตรเคมีก็มีความผันผ่วน อย่างไรก็ตาม SCC มีธุรกิจที่หลากหลายกว่า และขนาดธุรกิจมีขนาดใหญ่กว่า GPSC มาก อีกทั้งมีอัตราส่วนหนี้สินที่ต่ำกว่า GPSC จึงทำให้อันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของ SCC
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- รายได้รวมอยู่ที่ระดับ 6.7-7 หมื่นล้านบาทในปี 2563-2565 (ปี 2562 อยู่ที่ 6.3 หมื่นล้านบาท)
- EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับร้อยละ 27-28 ในปี 2563 และ 2564 (ปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 24.4)
- ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2563-2565
- จ่ายเงินปันผลร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิ
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่เพิ่มสูงขึ้น
- การเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของบริษัท ยังไม่น่าจะเกิดขึ้นในระยะสองถึงสามปีข้างหน้า เนื่องจากบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง หลังจากมีการเข้าซื้อกิจการ GLOW อย่างไรก็ตามฟิทช์อาจพิจารณาปรับเพิ่มอันดับเครดิตโดยลำพังของ GPSC หากอัตราส่วน FFO net leverage ลดลงต่ำกว่า 4.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยลบ:
- อัตราส่วนหนี้สินที่ลดลงช้ากว่าที่ฟิทช์คาด เนื่องจากเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือกระแสเงินสดจากการดำเนินงานต่ำกว่าที่คาด ซึ่งส่งผลให้ FFO net leverage ของบริษัทอยู่ในระดับสูงกว่า 5.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง
- สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอลงจากการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงด้านการดำเนินงานสูง
- ระดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัท กับ ปตท. ที่ลดน้อยลง
- อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิอาจถูกปรับลดจากอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัท หากอัตราส่วน prior-ranking debt to EBITDA เพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูงกว่า 2.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 เท่ากับ 2.1 เท่า)
สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง: ฟิทช์ เชื่อว่า บริษัทฯมีสภาพคล่องที่แข็งแกร่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิถุนายน 2563 โดยบริษัทฯ มีหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับจากเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 7.5 พันล้านบาท โดยประมาณร้อยละ 60 เป็นหนี้ระยะสั้นที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้บริษัทยังมีสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น จากการเบิกเงินกู้ยืมระยะยาว จำนวน 3 พันล้านบาท และออกหุ้นกู้ จำนวนรวม 5 พันล้านบาท ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงสิงหาคม 2563
สรุปรายการปรับปรุงงบการเงินที่สำคัญ ฟิทช์ได้ปรับงบการเงินรวมของ GPSC โดยใช้วิธี Proportionate Consolidation ในส่วนของ รายได้, กระแสเงินสด, เงินสด และหนี้ของ IRPC-CP ตามสัดส่วนการถือหุ้น IRPC-CP ของจำนวน 51% โดย GPSC ฟิทช์มองว่า GPSC ไม่สามารถเข้าถึงกระแสเงินสดของ IRPC-CP อย่างเต็มที่ และมีความรับผิดชอบที่จากัดสาหรับหนี้ของ IRPC-CP ตามสัดส่วนการถือหุ้นและเงื่อนไขตามสัญญาเงินกู้ของ IRPC-CP