"เอ็นอาร์ อินสแตนท์ฯ"ขาย IPO เข้าเทรด SET ใน Q4/63 มั่นใจนลท.ตอบรับดีรับเทรนด์อาหารสุขภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 9, 2020 15:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาววีณา เลิศนิมิตร กรรมการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) ผู้ผลิตและส่งออกอาหารและเครื่องปรุงรสชั้นนำ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบไฟลิ่งของ NRF แล้ว โดยจะเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 340 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการขาย IPO และเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ในช่วงไตรมาส 4/63

ทั้งนี้ มีความมั่นใจว่าการเสนอขายหุ้น IPO ของ NRF จะได้รับการตอบรับที่ดินจากนักลงทุน ในภาวะที่ตลาดหุ้นมีความผันผวน และปัจจัยความไม่แน่นอนต่าง ๆ ที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารได้เปลี่ยนแปลงไป ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่ง NRF ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากปัจจัยดังกล่าว โดยเฉพาะการขยายตัวของตลาดผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-Based Food) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ NRF และเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์เทรนด์อาหารสุขภาพที่กำลังขยายตัวมากขึ้น ทำให้เห็นว่า NRF ถือเป็นหนึ่งในหุ้นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยมาก หรือแทบจะไม่ได้รับผลกระทบเลย

ขณะเดียวกันบริษัทที่มีลักษณะธุรกิจคล้าย NRF ที่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐฯเมื่อปืก่อน คือ Beyond Meat ซึ่งเป็นป็นบริษัทโปรตีนทางเลือกบริษัทแรกที่เข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุนจากการเสนอขาย IPO ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นมาแตะ 1 หมื่นล้านดออลาร์สหรัฐฯ หลังขาย IPO จากช่วงก่อนหน้า IPO อยู่ที่ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สะท้อนการมองถึงโอกาสในการลงทุนที่เป็นเทรนด์ในอนาคต

สำหรับ NRF จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 340 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 25.08% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัท แบ่งเป็น การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 290 ล้านหุ้น และเสนอขายหุ้นสามัญโดยผู้ถือหุ้นเดิม คือ บริษัท ดีพีเอ ฟันด์ เอส จำกัด จำนวนไม่เกิน 50 ล้านหุ้น โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปชำระเงินกู้ยืม ลงทุนโครงการในอนาคต และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

NRF นับเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูป เครื่องปรุงรสชั้นนำ และอาหารโปรตีนจากพืช โดยมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 2,000 SKU และกว่า 500 สูตรอาหาร ใน 3 กลุ่มธุรกิจ คือ

1. กลุ่ม Ethnic Food (OEM / Private Label และ NRF Brands) แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต (OEM / Private Label) ประกอบด้วย เครื่องประกอบอาหารและเครื่องปรุงรสอาหาร อาหารสำเร็จรูปพร้อมปรุง (Ready-to-cook) อาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) และเครื่องดื่มชนิดผงพร้อมชงและพร้อมดื่ม รวมถึงอาหารอุ่นไมโครเวฟ เป็นต้น , ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ของ RBF จำนวน 6 แบรนด์

2. กลุ่ม Plant-Based Food ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช โดยนำโปรตีนจากพืชมาผลิตอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารมังสวิรัติ ปรุงแต่งให้มีรสชาติ รสสัมผัส กลิ่น ใกล้เคียงเนื้อสัตว์ ปัจจุบันมีเงินลงทุนในธุรกิจ Plant-based food แล้วประมาณ 250 ล้านบาท และวางแผนลงทุนเพิ่มอีกประมาณ 400 ล้านบาท เพื่อลงทุนในฐานการผลิตในและนอกประเทศ รวมถึงการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีการผลิต Plant-Based Food เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต

3. กลุ่ม Functional Products ธุรกิจผลิตภัณฑ์สินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-shapes) อาทิ ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอยู่ระหว่างการขยายไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคล

นายแดน ปฐมวาณิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ NBF เปิดเผยว่า การนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งด้านฐานะการเงินและขีดความสามารถขยายธุรกิจ รองรับการก้าวสู่ผู้นำในอุตสาหกรรมผลิตอาหารในระดับสากล และเป็นบริษัทที่มีรูปแบบพร้อมรองรับผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเติบโตสูงในอนาคต (Platform for Future Food)

ทั้งนี้ บริษัทมีเป้าหมายระยะยาวก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคต ที่มุ่งเน้นนวัตกรรมอาหารเพื่อสร้างความยั่งยืนให้ระบบนิเวศอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ด้วยนโยบายการเป็น The Purpose – Led Company เพื่อสร้างการเติบโตของบริษัทอย่างก้าวกระโดด ให้มียอดขายเพิ่มขึ้นให้ได้ประมาณ 3,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 67 ภายใต้กลยุทธ์การเจาะตลาดอาหารกลุ่ม Specialty Food ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกและมีอัตราการเติบโตสูง โดย NRF จะให้ความสำคัญในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารไทยและอาหารท้องถิ่น (Ethnic Food) ผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช (Plant-Based Food) และ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน (Functional Products)

สำหรับแผนดำเนินงานระยะสั้นและระยะกลางของ NRF ประกอบด้วย 1. ขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น โดยลงทุนซื้อโรงงานผลิตอาหารที่ได้รับการรับรองมาตรฐานในระดับเดียวกับบริษัท 2. ขยายตลาดผลิตภัณฑ์ในบรรจุภัณฑ์ V-Shape ทั้งในผลิตภัณฑ์ประเภทอาหารและไม่ใช่อาหาร ส่งไปจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 3. เพิ่มกำลังการผลิตเส้นบุก รองรับความต้องการของตลาดอาหารสุขภาพที่เติบโต อีกทั้งจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์เส้นบุกที่ผลิตในประเทศจีนลดลง และมองหาแหล่งผู้ผลิตเส้นบุกจากประเทศอื่น ดังนั้น ลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทรายหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของสินค้าประเภทเส้นบุกได้ลงนามใน บันทึกตกลงความเข้าใจในการรับจ้างผลิตระยะเวลาประมาณ 3 ปี เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์จากบุกประมาณ 15 ล้านหน่วย

4. เร่งกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาการผลิตอาหารโปรตีนจากพืชผ่านการร่วมทุนกับ THE BRECKS COMPANY LIMITED หรือ ‘เบรคส์’ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 27 ปี ในธุรกิจผลิตอาหารโปรตีนจากพืช โดยร่วมกันจัดตั้งบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ Plant and Bean Ltd. ที่ประเทศอังกฤษ รับจ้างผลิตอาหารโปรตีนจากพืชให้กับบริษัทอาหารชั้นนำของโลก และมีแผนการขยายการผลิตไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาในอนาคต รวมถึงยังเป็นพันธมิตรกับ Meatless Farm ในประเทศอังกฤษ ผู้ผลิตอาหารจำพวกแฮมเบอร์เกอร์เนื้อเทียม โปรตีนจาก ข้าวและถั่ว รวมถึงหัวไชเท้า ที่ทดแทนรสชาติ การสัมผัสเหมือนกินเนื้อสัตว์จริง โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายว่าจะเป็น ผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับ Meatless Farm ในประเทศไทยภูมิภาคเอเชียในอนาคต นอกจากนี้ ยังเข้าร่วมลงทุนใน Big Idea Venture และกองทุนนิวโปรตีนขนาดกองทุน 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นกองทุนแบบ Accelerator ที่ให้เงินทุนสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพเกี่ยวกับอาหารโปรตีนจากพืชพร้อมทั้งคำปรึกษาในการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งมีเป้าหมายการลงทุนประมาณ 100 สตาร์ทอัพ ภายใน 3 ปี โดยปัจจุบันลงทุนแล้วประมาณ 27 สตาร์ทอัพ มากกว่าครึ่งหนึ่งของสตาร์ทอัพเหล่านั้นมียอดขายแล้ว

ล่าสุด NRF ได้เข้าลงทุนใน Phuture Food Limited (Phuture) หนึ่งในสตาร์ทอัพด้าน Food Tech ในทวีปเอเชียที่ได้รับความสนใจจากบริษัทลงทุนระดับโลก มุ่งเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์หมูสับเทียมที่ผลิตจากโปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นหลัก โดยลงทุนเพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางธุรกิจและโอกาสในการเป็นผู้ผลิตสินค้าให้กับ Phuture หลังผลิตภัณฑ์พร้อมออกวางจำหน่าย ทั้งนี้ เพื่อรองรับการผลิตให้กับสตาร์ทอัพและลูกค้า Plant-Based Food นอกเหนือจากการร่วมลงทุนในโรงงานผลิต Plant-Based Food ที่ประเทศอังกฤษแล้ว บริษัทมีแผนสร้างโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชแห่งใหม่ในประเทศไทย (Plant-based dedicated manufacturing facilities) โดยตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้จากผลิตภัณฑ์ Plant-based ประมาณ 30-40% ในปี 67

นอกจากนี้มีแผนการลงทุนสร้าง NRF Global E-commerce Platform ร่วมกับ Boosted ECommerce Inc. (Boosted) เพื่อร่วมกันเข้าลงทุนในธุรกิจ branded e-commerce (Consumer Package Brands: CPG) ของ Third-party Seller ที่มียอดขายบน Amazon E-commerce marketplace และมีผลกำไรแล้ว รวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูง

นายแดน กล่าวอีกว่า บริษัทยังคงมีการเจรจากับลูกค้าที่เข้ามาสั่งซื้อสินค้าของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ทั้งสินค้าประเภท Ethnic และ Plant-Base Food ซึ่งเริ่มมีลูกค้าให้การตอบรับและสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ที่ล่าสุดบริษัทได้เพิ่มมาอีก 7-8 ราย และอยู่ระหว่างการเจรจาอีกไม่ต่ำกว่า 10 ราย โดยที่บริษัทมีออเดอร์เข้ามาจากลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่ต่อเนื่องไปจนถึงปี 64 แล้ว ซึ่งเห็นการตอบรับของเทรนด์ตลาดที่ดี ทำให้มั่นใจว่าบริษัทจะมีศักยภาพการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

นางสาวเพ็ญอุไร ไชยชัชวาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายบัญชีและการเงิน NRF กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 63 บริษัทมีรายได้รวม 603.7 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 41.1 ล้านบาท เติบโตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 517.4 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 16.3 ล้านบาท

ภายหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO แล้วบริษัทมีแผนจะนำเงินส่วนหนึ่งไปชำระเงินกู้ยืมระยะยาวทั้งหมด 900 ล้านบาท ลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยลดลงไปได้ 60 ล้านบาท/ปี และทำให้ความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นในปีต่อไป ขณะเดียวกันก็จะทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงต่ำกว่า 1 เท่า จากครึ่งแรกของปี 63 อยู่ที่ 1.3 เท่า รวมถึงสามารถนำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานไปใช้ในการลงทุนขยายกิจการตามโครงการในอนาคตที่บริษัทวางระยะยาวไว้ถึงปี 65 อีกด้วย

นอกจากนี้เงินที่ได้จากการเสนอขาย IPO บริษัทจะนำไปเพิ่มสัดส่วนการลงทุนใน City Food ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องแกง ซอส และน้ำเต้าหู้ จากเดิมที่ถือหุ้นในสัดส่วน 15% จะเพิ่มเป็น 100% ซึ่งเป็นธุรกิจที่บริษัทเล็งเห็นถึงโอกาสในการลงทุน และต่อยอดการลงทุนให้กับบริษัทรองรับการเติบโตขึ้นในอนาคต ซึ่ง City Food มีโรงงานผลิตอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานในนครปฐม ผลิตเครื่องแกง กำลังการผลิต 3,000 ตัน/ปี ปัจจุบันใช้กำลังการผลิต 40-50% และกำลังการผลิตซอส 3,000 ตัน/ปี ปัจจุบันใช้กำลัอการผลิต 80% และโรงงานในราชบุรี ผลิตน้ำเต้าหู้ กำลังการผลิต 8 ล้านลิตร/ปี ปัจจุบันใช้กำลังการผลิตไปแล้ว 30%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ