(เพิ่มเติม) ก.ล.ต.-ตลท.เตรียมทบทวนค่าธรรมเนียมเทรดหุ้น-TFEX ตามข้อร้องเรียนสมาคมโบรกฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 9, 2020 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เตรียมหารือเพื่อพิจารณากรณีค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้น เพื่อลดอุปสรรคของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ตามที่ได้รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของภาคธุรกิจในการประชุมรายไตรมาสระหว่าง ก.ล.ต. และสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563

ทั้งนี้ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย ได้นำเสนอข้อมูลสถานการณ์การประกอบธุรกิจโบรกเกอร์ของบริษัทหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และประเด็นที่เกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ค่าคอมมิชชั่น) โดยให้ข้อมูลว่า แม้ปริมาณการซื้อขายจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ค่าคอมมิชชั่นที่บริษัทเรียกเก็บจากผู้ลงทุนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงที่ผ่านมา โบรกเกอร์ได้ลดค่าคอมมิชชั่นให้แก่ลูกค้า ส่งผลให้รายได้ของโบรกเกอร์ลดลง แต่ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ค่าคอมมิชชั่น จึงขอให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนประเด็นดังกล่าว

ก.ล.ต. เห็นว่าเพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบันของตลาดทุนไทย ก.ล.ต. ไม่มีแผนที่จะเพิ่มอัตราการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจากโบรกเกอร์ ซึ่งปัจจุบันเรียกเก็บจากการซื้อขายหลักทรัพย์ ในอัตราร้อยละ 0.001 ของมูลค่าการซื้อขาย และสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท สำหรับการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ในอัตรา 0.01 และ 0.10 บาทต่อสัญญา ขึ้นอยู่กับราคาหลักทรัพย์อ้างอิง ซึ่งใช้มาตั้งแต่ปี 2560 และเป็นอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับค่าธรรมเนียมในต่างประเทศ

สำหรับค่าธรรมเนียมการซื้อขายในส่วนที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเรียกเก็บเพื่อเป็นค่าบริการซื้อขาย (Trading Fee) อยู่ที่อัตราร้อยละ 0.005 ของมูลค่าการซื้อขาย และค่าการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (Clearing Fee) อยู่ที่อัตราร้อยละ 0.001 ของมูลค่าการซื้อขาย รวมทั้งค่าธรรมเนียมการรักษาหลักทรัพย์ในบัญชีหลักทรัพย์ 1.50 บาทต่อเดือนต่อมูลค่าหลักทรัพย์คงเหลือทุกจำนวน 1 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในส่วนค่าธรรมเนียมที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ เรียกเก็บจากโบรกเกอร์เป็นเรื่องทางธุรกิจระหว่างตลาดหลักทรัพย์กับโบรกเกอร์สมาชิก ซึ่ง ก.ล.ต. ไม่ได้เป็นผู้กำหนด

ในส่วนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX ในช่วงที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงอัตราค่าธรรมเนียมการประกอบธุรกิจรายปี เพื่อให้สอดคล้องกับภาระและต้นทุนการกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ซึ่งแปรผันตามปริมาณธุรกรรมการซื้อขายในตลาดที่เพิ่มสูงขึ้นมากจากในอดีต และเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของตลาดทุน ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะปรับปรุงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจาก TFEX เป็นอัตรา 0.05 บาทต่อสัญญาที่มีการซื้อขายใน TFEX และมีอัตราขั้นต่ำ 2 ล้านบาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ TFEX ได้จัดตั้งขึ้นในปี 2547 ก.ล.ต. ไม่ได้มีการเก็บค่าธรรมเนียมจาก TFEX เพื่อส่งเสริมการซื้อขายในตลาด จนได้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมในปี 2554 ซึ่งโบรกเกอร์เห็นว่า เป็นอัตราที่สูงและขอให้ปรับลดลง เนื่องจากจะทำให้เกิดการส่งผ่านค่าใช้จ่ายดังกล่าวจาก TFEX ไปยังโบรกเกอร์และต่อไปยังผู้ลงทุน

ขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างดำเนินการทบทวนค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจาก TFEX โดยจะนำข้อเสนอแนะที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบธุรกิจและผู้ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณา เพื่อให้ค่าธรรมเนียมอยู่ในระดับที่เหมาะสมและสอดคล้องกับต้นทุน ในขณะเดียวกันก็ไม่เป็นภาระแก่ผู้เกี่ยวข้องเกินสมควร และจะยกประเด็นที่โบรกเกอร์มีข้อเสนอเรื่องค่าธรรมเนียมการซื้อขายดังกล่าว เพื่อหารือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยว่า ตลท. มองว่าเรื่องดังกล่าวก็ต้องมีการศึกษาและต้องมองถึงความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการปรึกษากับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น โบรกเกอร์อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผ่านมามีข้อเรียกร้องจากผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าให้พิจารณาทบทวนอัตราการเรียกเก็บในปัจจุบัน

"ที่ผ่านมาก็ได้มีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งในส่วนของค่าธรรมเนียมที่โบรกเกอร์ต้องจ่ายให้กับ ตลท. ทั้งหมดก็ยังปรึกษากันอยู่ ซึ่งตลาดก็ต้องดูความเหมาะสมด้วย" นายภากร กล่าว

ด้านนายพิเชษฐ สิทธิอำนวย นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ เรียกร้องให้ ตลท. พิจารณาปรับลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นเพื่อความสมดุลของระบบ เนื่องจากปัจจุบันแม้ปริมาณการซื้อขายโดยรวมของตลาดหลักทรัพย์จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น แต่รายได้ของผู้ประกอบการนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์กลับปรับตัวลดลง เนื่องจากค่าธรรมเนียมซื้อขายหุ้นลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากการเปิดเสรีส่งผลให้มีการแข่งขันด้านค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง ขณะที่ผู้ประกอบการยังมีต้นทุนค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่นำส่งให้กับ ตลท. ในระดับที่คงที่มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตามสมาคมฯยังไม่ได้กำหนดข้อเสนอให้กับ ก.ล.ต.และ ตลท.ว่าควรจะเรียกเก็บในอัตราที่ลดลงในระดับเท่าไหร่ เพราะยังไม่ได้ศึกษาลึกถึงจุดดังกล่าว คงต้องมีการหารือร่วมกับ ตลท. และ ก.ล.ต. ก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ