FORTH รุกธุรกิจตัวแทนขายเครื่องบิน-ทำโรงซ่อมเครื่องบินสร้างรายได้ประจำ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 9, 2020 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชวิน พิพัฒน์โชติธรรม ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร บมจ.ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น (FORTH) เปิดเผยว่า บริษัทได้ขยายธุรกิจใหม่ด้วยการเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องบินยี่ห้อ KODIAK 100 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งที่ผ่านมาได้จำหน่ายไปแล้ว 1 ลำเพื่อนำไปทำธุรกิจให้บริการกระโดดร่ม โดยตั้งเป้าหมายยอดจำหน่ายปีละ 1 ลำ

ขณะเดียวกันก็จะดำเนินธุรกิจโรงซ่อมเครื่องบินภายใต้ชื่อบริษัท FORTH MRO จากการร่วมมือกันระหว่าง FORTH กับ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ถือหุ้นในสัดส่วน 75% และ 25% ตามลำดับ โดยบริษัทได้รับสิทธิบริหารพื้นที่คลัง 3 ของท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อสร้างโรงซ่อมเครื่องบิน ระยะเวลาของสัมปทาน 15 ปี เริ่มในปีนี้เป็นปีแรก คาดว่าการรื้อย้ายคลังเก่าและการก่อสร้างจะใช้เวลาราว 1 ปี น่าจะดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในไตรมาส 2-3/65 ซึ่งจะสอดคล้องกับที่ประมาณการณ์ไว้ว่าธุรกิจสายการบินจะกลับมาดีขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

"ในเมืองไทยมี MRO หรือโรงซ่อมเครื่องบินที่เป็นมาตรฐานที่จะซ่อมเครื่องบินระดับกลาง มีอยู่ที่การบินไทยที่เดียว ประกอบกับการตรวจเช็คเครื่องบินเมื่อครบกำหนดระยะเวลาก็จะมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น A-Check, B-Check, C-Check และ D-Check โดยโรงซ่อมของเราจะซ่อมทุกๆ 2 ปี และทุกๆ 4 ปี หรือ C-Check กับ D-Check โดยในภูมิภาคนี้เครื่องบินเกือบทั้งหมดบินไปซ่อมที่สิงค์โปร์ ทำให้เรามองเห็นโอกาสตรงนี้

รวมถึงเรายังได้พันธมิตร และผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในธุรกิจการบินเข้ามาเสริม ขณะเดียวกันก็มองว่าโรงซ่อมของเรามีความได้เปรียบในด้านทำเล และยังเหมาะกับเครื่องบินขนาดกลางที่ใช้บินระหว่างเมืองที่ทุกๆ 2 ปีต้องเช็ค ซึ่งเครื่องบินเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องบินไปซ่อมที่อื่นก็สามารถซ่อมที่โรงซ่อมของเราได้ จึงมองเป็นโอกาสที่เราจะได้ธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำเข้ามาอีกหนึ่งธุรกิจ"นายชัชวิน กล่าว

สำหรับธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรซ์ โซลูชั่น (Enterprise Solutions Business) ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือ (Backlog) อยู่ที่ 2,985 ล้านบาท แบ่งเป็น งาน Electronic Monitoring (EM) rental (งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว) ของกรมคุมประพฤติ มูลค่า 850 ล้านบาท, งานรถโบกี้ปั้นจั่นกลขนาดยกได้ไม่ต่ำกว่า 80 ตัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 798 ล้านบาท, งานซื้อพร้อมติดตั้ง IP Core Router และอุปกรณ์ DWDM ของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 330 ล้านบาท ,งานระบบสมาร์ทกริดของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) 575 ล้านบาท และงานบำรุงรักษาซ่อมแซมแก้ไขและปรับเปลี่ยนโครงข่ายสายเคเบิลใยแก้วนำแสง ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 435 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถทยอยรับรู้รายได้ส่วนใหญ่ในปีนี้ และบางส่วนในปี 64

นายชัชวิน กล่าวว่า บริษัทคาดหวังว่าโครงการกำไลข้อเท้าติดตามตัวสำหรับนักโทษ (Electronic Monitoring : EM) จะเป็นพระเอกให้กับธุรกิจของ FORTH ในอนาคต หลังจากได้รับงานเข้ามาและมีการรับรู้รายได้ต่อเนื่องตลอด 3 ปี ขณะที่ยังมีโอกาสในธุรกิจนี้อีกพอสมควร เนื่องจากปัจจุบันมีเรือนจำในประเทศอยู่ 200 แห่ง และมีนักโทษอยู่ในระบบประมาณ 3 แสนคน แต่จริงๆ ระบบเรือนจำสามารถรองรับได้เพียง 2 แสนคน ทำให้กระทรวงยุติธรรมมีนโยบายที่จะพักโทษนักโทษจำนวนหนึ่ง หรือราว 1 แสนคน จึงคาดว่าจะมีความต้องการ EM อีกกว่า 3 หมื่นตัว สร้างรายได้อีกกว่า 800-900 ล้านบาท

อีกทั้งยังมองโอกาสเข้าไปเสนองานในหน่วยงานตำรวจอีกด้วย คาดหวังว่าอย่างน้อยจะมี EM ในระบบรวม 7-8 หมื่นตัว แต่เป้าหมายสูงสุดคือ 1.2 แสนตัว ซึ่ง EM น่าจะทำให้เกิดเป็นรายได้ประจำทที่จะทยอยรับรู้เป็นรายได้อีก 3-5 ปีในอนาคต

นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเข้าประมูลงานใหม่เพิ่มเติมอีกอีก 43 โครงการ มูลค่ารวม 10,086 ล้านบาท แบ่งเป็น งานโครงการของ กฟน.และกฟภ.จำนวน 28 โครงการ มูลค่ารวม 4,393 ล้านบาท, งานกรมเจ้าท่า 1 โครงการ มูลค่า 18 ล้านบาท, งานกรมสื่อสาร ของกองทัพอากาศ (ทอ.) 6 โครงการ มูลค่า 40 ล้านบาท, งานหน่วยงานยุติธรรม 2 โครงการ มูลค่า 1,015 ล้านบาท, งานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 2 โครงการ มูลค่า 3,830 ล้านบาท และหน่วยงานการปกครองส่วนท้องถิ่น 4 โครงการ มูลค่า 790 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับงานราว 3,000-4,000 ล้านบาทจากงานทั้งหมดที่เข้าประมูล

ส่วนธุรกิจอีเอ็มเอส คาดว่าในช่วงปลายปีนี้ลูกค้าหลายรายจะกลับเข้ามา หลังความต้องการสินค้าในตลาดโลกช่วงโควิด-19 ลดลงไป ขณะที่ธุรกิจสมาร์ท เซอร์วิส หรือตู้บุญเติม ปัจจุบันธุรกิจเริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติแล้ว และคาดว่าจะเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากการเดินหน้าขยายธุรกิจ โดยเฉพาะการเป็น Banking Agent Service หรือ ผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจร เชื่อมต่อกับทุกธนาคารพาณิชย์ เช่น บริการเปิดบัญชีธนาคาร บริการฝาก-ถอนเงิน รวมไปถึงการเติมเงินและรับชำระเงิน โดยบริษัทยังวางแผนที่จะผลิตตู้ ATM แต่เน้นไปที่ยอดเงินขนาดเล็ก เช่น การเบิกเงินจำนวนไม่เกิน 2 พันบาท ซึ่งมองว่ามีตลาดและมีทิศทางในอนาคต

ขณะที่กลุ่ม Vending Machine ก็ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง เช่น Coffee Vending Machine ตู้กดกาแฟและน้ำหวานอัตโนมัติ รวมไปถึงการพัฒนา EV Charging Station & Smart Petrol Kiosk หรือสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า และตู้จำหน่ายน้ำมันอัตโนมัติ ซึ่งบริษัทก็เชื่อว่าจะเติบโตมากขึ้นในอนาคต

นายชัชวิน กล่าวว่า คาดรายได้ปีนี้จะทำได้ใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้อยู่ที่ 6,809 ล้านบาท หลังครึ่งปีแรกทำได้แล้ว 3,158.80 ล้านบาท จากงานในมือปัจจุบันที่มีอยู่ก็น่าจะรับรู้รายได้เข้าเป็นส่วนใหญ่ และยังมีการประมูลงานใหม่เพิ่มเติมอีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ