นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ (NER) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาหาพันธมิตรเพื่อเข้ามาลงทุนในหุ้นเพิ่มทุนที่จะเสนอขายแบบเฉพาะเจาะจง (PP) จำนวน 154 ล้านหุ้น โดยเป็นพันธมิตรจากจีน และญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 4/63 นี้ โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้น PP ในครั้งนี้มาใช้เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และช่วยให้ฐานทุนของบริษัทมีขนาดใหญ่มากขึ้นด้วย
ก่อนหน้านี้ทาง Daiwa Fund Consulting Co.Ltd. นักลงทุนสถาบันจากประเทศญี่ปุ่น ต้องการที่จะซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าวทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามบริษัทมองว่าเป็นความเสี่ยงในการเข้าถือหุ้นจำนวนมากจนเกินไป จึงมองหาพันธมิตรที่จะช่วยให้กิจการมีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
"ถึงแม้ว่า Daiwa จะต้องการเข้ามาถือหุ้นในระยะยาว แต่อย่างไรก็ตามมองว่าการถือหุ้นสัดส่วนที่มากถึง 20% เป็นจำนวนมากเกินไป ซึ่งมากกว่าการถือหุ้นในระดับกว่า 9% ถือว่าเหมาะสมแล้ว ซึ่งพันธมิตรที่จะเข้ามาลงทุนครั้งนี้จะช่วยสร้างการเติบโตของบริษัทได้เพิ่มเติม"นายชูวิทย์ กล่าว
นายชูวิทย์ กล่าวว่า สำหรับทิศทางผลประกอบการในไตรมาส 4/63 จะเป็นช่วงที่ผลประกอบการทำสถิติสูงที่สุดในปีนี้ เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่ที่เข้ามาอีก 172,800 ตัน/ปี และบริษัทได้ขายสินค้าล่วงหน้าไปแล้วเกือบทั้งหมด โดยมีราคาที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูงด้วย
ขณะที่ปี 64 บริษัทคาดรายได้จะปรับตัวสูงขึ้นทะลุ 20,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิทะลุ 1,000 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากการมีกำลังการผลิตเพิ่มเข้ามาเป็นรวม 465,600 ตัน/ปี จากก่อนหน้านี้มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 292,800 ตัน/ปี ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจากับลูกค้ารายใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะใช้กำลังการผลิตเต็มทั้งปี ซึ่งจะช่วยให้บริษัทมีการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ที่ทำให้มาร์จิ้นของบริษัทปรับตัวสูงขึ้นด้วย โดยมีโอกาสที่อัตรากำไรขั้นต้นจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6% จากปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ราว 5%
นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมงบลงทุนไว้ราว 60 ล้านบาท เพื่อที่จะใช้ในการขยายกำลังการผลิตในโรงงานใหม่ที่ได้เดินเครื่องผลิตไปก่อนหน้านี้อีก 30% ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 500,000 ตันต่อปี
นายชูวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทอยู่ระหว่างเตรียมการลงทุนโรงงานผลิตแผ่นปูนอนสำหรับสัตว์ ด้วยงบลงทุนราว 220 ล้านบาท โดยจะมีกำลังการผลิตราว 1.5 ล้านแผ่นต่อปี ปัจจุบันรอดูสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้คลี่คลายและสามารถเดินทางไปตรวจสอบและพูดคุยกับผู้ผลิตเครื่องจักรในประเทศไต้หวัน ซึ่งหากเดินทางไปสั่งซื้อเครื่องจักรได้คาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 1 ปี เพื่อที่จะก่อสร้างและติดตั้งเครื่องจักร
โดยในประเทศไทยมีเกษตรกรเลี้ยงโคนมจำนวน 750,000 ตัว ขณะที่ประเทศออสเตรเลียมีจำนวนโคนมกว่า 300 ล้านตัว ซึ่งประเทศไทยมีข้อตกลงด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยให้บริษัทสามารถแข่งขันได้ โดยประเทศออสเตรเลียเป็นประเทศหลักที่ทางบริษัทจะเข้าไปบุกตลาด โดยบริษัทตั้งเป้าจะมียอดขายอย่างน้อย 1 ล้านแผ่น ในปี 65