บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาทของ บมจ. ไทคอน อินดัสเทรียล
คอนเน็คชั่น (TICON) ที่ระดับ “A-"
พร้อมทั้งประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A" และหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดเดิมของบริษัทที่ระดับ “A-" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"
โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำและผลงานที่เป็นที่ยอมรับในธุรกิจให้เช่าโรงงานสำเร็จรูป รายได้จากค่าเช่าโรงงานที่คาดการณ์ได้ และผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวในปัจจุบัน ความเชื่อมั่นในการลงทุนที่ลดลง และความไม่แน่นอนทางการเมืองยังเป็นประเด็นที่ต้องระมัดระวัง
แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" อยู่บนพื้นฐานของการคาดการณ์ว่าบริษัทจะสามารถรักษาความเป็นผู้นำในตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าเอาไว้ได้ โดยคาดว่ารายได้จากค่าเช่าจะค่อยๆ เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งจะช่วยรองรับความต้องการเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจศูนย์โลจิสติกให้เช่าของบริษัท นอกจากนี้ ยังคาดว่าอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 55%-60% ในระหว่างการก่อสร้างศูนย์โลจิสติกก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 50%
ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น เป็นผู้นำในธุรกิจโรงงานสำเร็จรูปให้เช่าในประเทศไทย ความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทมาจากประสบการณ์ 17 ปีในธุรกิจการสร้างโรงงานสำเร็จรูปให้เช่า ความสามารถในการก่อสร้างโรงงานมาตรฐานในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่ง ความได้เปรียบในด้านต้นทุนจากการประหยัดจากขนาด และกลยุทธ์ในการบริหารจัดการการก่อสร้างโรงงานด้วยตนเอง
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2550 บริษัทมีโรงงานให้เช่าและคลังสินค้ารวม 154 โรงกระจายอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรม 12 แห่งและในศูนย์โลจิสติกของบริษัทคิดเป็นพื้นที่รวม 401,434 ตารางเมตร ในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 บริษัทสามารถปล่อยเช่าโรงงานและคลังสินค้าให้แก่ลูกค้าใหม่จำนวน 23 ราย โดยที่ในปี 2549 บริษัทมีผู้เช่าใหม่จำนวน 61 ราย และในปี 2548 มีจำนวน 56 ราย
จากการศึกษาของ CB Richard Ellis (CBRE) เมื่อประเมินจากพื้นที่โรงงานที่ให้เช่า บริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวม 70% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งสูงกว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของคู่แข่งอันได้แก่ บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีส่วนแบ่ง 10% บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) 9% บริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน) 8% และ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) 3%
ทริสเรทติ้งกล่าวว่า รายได้ค่าเช่าของบริษัทไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น เป็นรายได้ที่มีความแน่นอนสูงจากการมีโครงสร้างของสัญญาเช่าโรงงานที่มีอายุ 3 ปีและอัตราการต่อสัญญาเช่าเฉลี่ย 82% ในช่วงระหว่างปี 2545-2549 ในปี 2549 บริษัทมีรายได้จากค่าเช่า 628 ล้านบาทและจากการขายโรงงานให้แก่ TFUND อีกจำนวน 1,982 ล้านบาท
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปี 2550 นั้นบริษัทมีรายได้ค่าเช่าค่อนข้างคงที่ที่ 343 ล้านบาท บริษัทมีแผนจะขายโรงงานอีกจำนวน 50 โรงให้แก่ TFUND ในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 และจะนำเงินที่ได้จากการขายโรงงานดังกล่าวประมาณ 2,200 ล้านบาทไปใช้ในการลงทุนตามแผนการขยายงานของบริษัทในช่วงปี 2551-2552
ถึงแม้ว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองในระหว่างปี 2549-2550 จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม แต่ตลาดโรงงานสำเร็จรูปให้เช่ากลับได้รับผลกระทบน้อยกว่าเนื่องจากในช่วงที่ความเชื่อมั่นถดถอย ผู้ประกอบการจำนวนมากนิยมเช่าโรงงานมากกว่าที่จะมีโรงงานเป็นของตนเอง
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งกล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยในระยะกลางถึงระยะยาวจะยังคงดีอยู่อันเนื่องมาจากนโยบายการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาล
--อินโฟเควสท์ โดย สารภี สายะเวส/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--