"กุสซิ่งฯ"จับมือ SCC วิจัย-พัฒนาผลิตไฟฟ้าสะอาด หวังขยายโรงไฟฟ้าชีวมวลในไทยเป็น 50 MW

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 14, 2020 10:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายไมเคิล เมสเนอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กุสซิ่ง รีนิวเอเบิ้ล เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้ร่วมมือกับบมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เพื่อวิจัยและถ่ายทอดความรู้และสาธิตโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชนหนองบัว จ.นครสวรรค์ ให้เป็นต้นแบบ เพื่อสร้างพลังงานสะอาด รองรับความต้องการในการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นภายในประเทศ ด้วยงบลงทุนกว่า 100 ล้านบาท ขนาดกำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ (MW) จำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ในรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Non-Firm ตั้งแต่ปี 2561 และบริษัทวางเป้าหมายจะขยายการผลิตไฟฟ้าในไทยเป็น 50 เมกะวัตต์ หรืออีก 15-20 โครงการในช่วงปี 63-65 ด้วยการร่วมทุนกับพันธมิตรในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันยังรอดูนโยบายที่ชัดเจนจากทางภาครัฐก่อน

สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชนหนองบัว เป็นการดำเนินการโดยบริษัท และพันธมิตรท้องถิ่นในจ.นครสวรรค์ สัดส่วน 60:40 ซึ่งนับได้ว่าเป็นโรงไฟฟ้าชุมชนต้นแบบ จากกระบวนการผลิตที่สะอาดและทันสมัย ในรูปแบบเทคโนโลยีก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์แบบ Dual Fluidized bed biomass gasification (DFB) ด้วยเทคโนโลยีมีความยืดหยุ่นสูงในการใช้วัตถุดิบจากผลผลิตทางการเกษตรที่หลากหลาย ของเสียจากขยะชุมชน เช่น ไม้สับ เหง้ามัน เป็นต้น เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล

เทคโนโลยี DFB เป็นระบบปิด ใช้น้ำน้อย ไม่มีน้ำเสีย ใช้เชื้อเพลิงน้อย หลักการทำงานใช้หลักการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ ที่ไม่ใช่การเผาวัตถุดิบเชื้อเพลิงโดยตรง แต่ใช้ทรายร้อน ประมาณ 800-850 องศาเซ็นติเกรด เป็นตัวนำความร้อนไปเผาเชื้อเพลิง โดยจะมีช่องว่างระหว่างนำท่อก๊าซเป็นสุญญากาศ เพื่อลดการสูญเสียความร้อน แล้วผ่านท่อน้ำวนด้วยระบบหล่อเย็น (Cooling Tower) เกิดเป็นไอน้ำ จนกลายเป็นก๊าซมีเทนบริสุทธิ์ และผลลัพธ์ที่ได้คือก๊าซที่สะอาดและให้พลังงานซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าไฮโดรเจน หรือก๊าซธรรมชาติสังเคราะห์ (SNG) โดยเทคโนโลยีดังกล่าวปราศจากมลพิษและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

ขณะเดียวกันบริษัทวางแผนสร้างห้องเย็น (Cold storage room) มูลค่าราว 8 ล้านบาท ให้กับชุมชนหนองบัวได้ใช้ประโยชน์จากพลังงานความร้อนเหลือทิ้ง (Waste heat) จำนวนมาก นำมาเปลี่ยนเป็นความเย็นภายในปี 2564

นายไมเคิล กล่าวว่า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของบริษัทอยู่ที่ราว 2.5 บาท/หน่วย ซึ่งนับว่าต่ำกว่าอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบันที่อยู่ราว 3.6 บาท/หน่วย ทำให้เชื่อว่าจะสามารถแข่งขันกับรายอื่นได้ และด้วยเทคโนโลยีที่สะอาดทำให้ทางเอสซีจี ให้ความสนใจ เข้ามาร่วมวิจัยและพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าร่วมกัน โดยให้เงินสนับสนุนแก่บริษัทราว 60 ล้านบาท และมีโอกาสที่ต่อยอดการทำงานร่วมกันในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ทางเอสซีจี ก็ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการอย่างในพื้นที่อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ขณะเดียวกันเอสซีจี ก็ให้ความสนใจนำเทคโนโลยีเข้าไปพัฒนาในโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ของกลุ่มเอสซีจีที่มีอยู่เดิมด้วย เช่น ในจ.สระบุรี ระยอง เป็นต้น

นอกจากนี้ด้วยเทคโนโลยี gasification ของบริษัทยังสามารถนำพลังงานความร้อนไปใช้ในกระบวนการผลิตซีเมนต์ ทดแทนการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพื่อให้เกิดพลังงานความร้อนในกระบวนการผลิต ซึ่งก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะทำให้สามารถผลิตซีเมนต์ด้วยกระบวนการที่สะอาดได้

"บริษัทวางเป้าหมายจะส่งเสริมด้านการพัฒนาชุมชนให้กับผู้พัฒนาโครงการเพื่อจัดหาระบบ GRETHA DFB ในราคาคงที่และกำหนดการก่อสร้างที่เชื่อถือได้ให้กับ โครงการไฟฟ้าชุมชน ทั่วประเทศไทย โดยต้นทุนการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ ด้วยเทคโนโลยี DFB ในประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 100 ล้านบาท จะมีต้นทุนต่ำกว่าเมื่อเทียบกับ Gussing Austria ที่ใช้งบลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท"นายไมเคิล กล่าว

นายไมเคิล กล่าวว่า บริษัทยังได้นำเทคโนโลยี DFB เข้าไปติดตั้งในโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 1 เมกะวัตต์ เสร็จเป็นที่เรียบร้อย โดยเตรียมทดสอบระบบและกำลังผลิตภายในปี 2563 ขณะที่ยังให้ความสนใจที่จะนำเทคโนโลยีดังกล่าวเข้าไปติดตั้งในโรงไฟฟ้าชีวมวลในประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน ยกเว้นในบูรไน ที่เน้นการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล และในลาวที่เน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำ

สำหรับบริษัท กุสซิ่ง รีนิวเอเบิ้ล เอ็นเนอร์จี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซเชื้อเพลิงสังเคราะห์แบบ DFB จากประเทศออสเตรีย เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท กุสซิ่ง รีนิวเอเบิ้ล เอ็นเนอร์จี จำกัด หรือ GREG ประเทศออสเตรีย ปัจจุบันโรงไฟฟ้าชุมชนใน Gussing Austria ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 15 ปี ถือเป็นผู้จัดหาพลังงานสะอาดและน้ำร้อนให้กับชุมชน Gussing ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนแรกของโลกที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่อันดับ 1 ของโลก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ