โบรกเกอร์ต่างแนะนำ"ซื้อ"หุ้น บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) คาดกำไรฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปี 63 จากกำไรการขาย NPA เพิ่มขึ้น หลังอัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการขายทรัพย์มือสองค่อนข้างมากในช่วงครึ่งปีหลัง รวมทั้งเจรจาขาย NPL และ NPA ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันก็เดินหน้าซื้อหนี้เข้าพอร์ตตามที่ตั้งเป้า 1 หมื่นล้านบาทในปีนี้
อย่างไรก็ดี กำไรในปี 63 คาดว่าจะลดลง 61-65% จากปีก่อนมาที่ 2.32 -2.55 พันล้านบาท หลังกำไรไตรมาส 2/63 อ่อนแอ แต่มีลุ้น upside จากการบันทึกสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี (DTA) 2-2.5 พันล้านบาทเข้ามารับรู้ในปีนี้ อีกทั้งคาดว่าอัตราการจ่ายผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ปีนี้อยู่ที่ 3.5-4.8%
ขณะที่ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงทำให้หุ้น BAM น่าสนใจ
พักเที่ยง ราคาหุ้น BAM อยู่ที่ 21.80 บาท ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.10%
โบรกเกอร์ คำแนะนำ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) หยวนต้าฯ ซื้อ 29.50 กสิกรไทย outperform 28.75 ทรีนีตี้ ซื้อ 28.50 เคจีไอฯ outperform 28.00 ทิสโก้ ซื้อ 26.00 เคทีบีฯ ซื้อ 25.00 ไทยพาณิชย์ outperform 25.00
นายมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ได้ปรับคำแนะนำสำหรับหุ้น BAM จาก "ถือ"เป็น"ซื้อ"และปรับราคาเป้าหมายขึ้นมาเป็น 25 บาท จากเดิม 22.00 บาท หลังได้ข้อมูลใหม่ และคาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/63 จะกลับมาดีขึ้น หลังจากที่กรมบังคับคดีสามารถเปิดประมูลหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ตามปกติ หลังจากปิดไปเมื่อช่วงโควิด-19 ระบาด และยอดขายทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ดีขึ้นหลังจากที่ออกจำหน่ายได้ และได้รับเสียงตอบรับดี และคาดว่าจะดีต่อเนื่องในไตรมาส 4/63 จากลูกหนี้ที่ขอรับการช่วยเหลือกลับมาชำระได้ตามสัญญาในเดือน ก.ย.
บริษัทยังคงเป้ายอดซื้อ NPL/NPA ปีนี้ที่ 1 หมื่นล้านบาท โดย BAM อยูในช่วงสะสมพอร์ต คาดว่ากำไรในปี 63 ที่ระดับ 2.32 พันล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 65% แต่จะกลับมาโตในปี 64 ที่คาดมีกำไร 4.67 พันล้านบาท เติบโต 101% อย่างไรก็ตาม ในปีนี้คาดว่าจะรับรู้รายได้จาก DTA ประมาณกว่า 2 พันล้านบาท จากยอดรวม 4.9 พันล้านบาท
นอกจากนี้ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงก็น่าสนใจที่เข้าลงทุน โดย BAM มีจุดแข็งที่เคยเป็นหน่วยงานรัฐ มีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่ง และ อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E)ต่ำ
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า มีมุมมองเชิงบวก โดยคาดว่ากำไรของ BAM จะฟื้นตัวเด่นตั้งแต่ไตรมาส 3/63 เป็นต้นไป หนุนด้วยแนวโน้มกำไรจากทั้งการขาย NPA ที่ดีขึ้นมาก หลังกรมบังคับดีกลับมาเปิดประมูลได้ตามปกติ และ BAM เริ่มอัดโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นการขายทรัพย์มือสองค่อนข้างมากในช่วงครึ่งหลังปี 63 ทั้งมหกรรมลดราคา 9 เดือน 9 และการขายผ่าน Online Channel ในเว็บไซต์ของบริษัทเองหรือการขายผ่าน Shopee บวกกับ Offline Channel ด้วยการออกบูธตามงานอีเว้นท์ต่าง ๆ อีกกว่า 10 งานในปีนี้ คาดจะได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีเพราะปัจจุบันดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ในระดับต่ำและราคาอสังหาริมทรัพย์มือหนึ่งปรับเพิ่มขึ้นมาพอสมควรแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทั้งปีนี้คาดว่า BAM จะมีกำไรปกติราว 2.5 พันล้านบาท ลดลง 61.1%YoY หลังจากในช่วงไตรมาส 2/63 มีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอ
ทั้งนี้ มอง BAM เป็น Defensive Play แข็งแกร่ง โดยผลดำเนินงานที่อ่อนแอในไตรมาส 2/63 เป็นเพียงประเด็นชั่วคราว และคาดแนวโน้มฟื้นตัวตั้งแต่ในไตรมาส 3/63 นอกจากนี้ยังมี Upside Risk จากกำไรพิเศษในส่วนของ DTA และการขายทรัพย์ NPA รายใหญ่ ขณะที่ราคาหุ้นมี Upside ราว 36% จากมูลค่าพื้นฐานปี 64 ที่ 29.50 บาท และคาดมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลอีก 3.5%
บล.ไทยพาณิชย์ คาดว่ากำไรของ BAM จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในครึ่งหลังปี 63 และปี 64 โดยได้รับการสนับสนุนจากความต้องการ NPA เพิ่มขึ้น และการแก้ปัญหา NPL ได้มากขึ้น บวกกับ Upside จากผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี และคาดว่า BAM จะยังจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอในปี 63 โดยคิดเป็นผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ดีในระดับ 4.8% หรืออัตราหุ้นละ 1.05 บาท แนะนำ Outperform แต่ปรับราคาเป้าหมายลดลงจาก 27 บาท สู่ 25 บาท เนื่องจากปรับประมาณการกำไรปกติลดลง 23% ในปี 63 และ 11% ในปี 64
"คาดว่ากำไรจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วแบบ V-shape ในช่วงครึ่งหลังปี 63 ฟื้นตัวจากการออกแคมเปญราคาพิเศษสำหรับขาย NPA กรมบังคับคดีกลับมาจัดการขายทอดตลาดหลังจากปิดการขายทอดตลาดตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค.-31 พ.ค. และการกลับมาออกบูธจำหน่ายทรัพย์ในครึ่งหลังปี 63 (2 อีเว้นท์ในเดือนก.ค. และอีกมากกว่า 10 อีเว้นท์ที่กำลังจะมาถึง) BAM กำลังเจรจาขาย NPL และ NPA ขนาดใหญ่ 3-4 รายการ มูลค่า 100-300 ล้านบาทต่อรายการ และ 1 รายการ มูลค่า 800 ล้านบาท ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้ข้อสรุปในครึ่งหลังปี 63 "บทวิเคราะห์ระบุ
ทั้งนี้ คาดว่า BAM จะมีกำไรพิเศษจากผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี ซึ่ง BAM วางแผนรับรู้ผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีมากที่สุดเท่าที่ทำได้ในปีนี้ ถ้าได้รับความเห็นชอบจากผู้สอบบัญชี อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการใช้ผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีในอนาคต ซึ่ง BAM จะทยอยรับรู้ผลประโยชน์เหล่านี้เมื่อความไม่แน่นอนหมดไป โดยเอาผลประโยชน์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีเข้ามาไว้ในประมาณการจำนวน 2 พันล้านบาท ในปี 63 และ 1.5 พันล้านบาท ในปี 64 และ 1 พันล้านบาทในปี 65