(เพิ่มเติม1) ศาลล้มละลาย มีคำสั่งให้ THAI เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูฯพร้อมแต่งตั้งผู้ทำแผน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday September 14, 2020 15:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศาลล้มละลายมีคำสั่งให้ บมจ.การบินไทย (THAI) เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามที่บริษัทในฐานะลุกหนี้เป็นผู้ร้องขอ พร้อมแต่งตั้งบริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ พลอากาศเอกชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน, นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล, นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค, นายบุญทักษ์ หวังเจริญ, นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ

ศาลล้มละลาย ระบุว่า การบินไทยได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูเพราะมีหนี้สินล้นพ้นตัว โดย ณ 31 มี.ค.63 มีหนี้สิน 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่ทรัพย์สินมีอยู่ 3.3 แสนล้านบาท ซึ่งมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน 1.7หมื่นล้านบาท และไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด

นอกจากนี้ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงสร้างธุรกิจของการบินไทยเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และมีความจำเป็นต่อระบบคมนาคมและขนส่งทางอากาศ เป็นสายการบินแห่งชาติ ธุรกิจมีมูลค่าและมีบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญทั้งชื่อเสียงและประสบการณ์มานาน แต่เนื่องจากเกิดสภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินจากสายการบินต้นทุนต่ำกระทบต่อรายได้ และการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจการบินต้องหยุดดำเนินการลงฉับพลัน

รวมทั้ง การบินไทยเป็นองค์กรขนาดใหญ่หากไม่ได้รับการฟื้นฟูกิจการและหยุดกิจการส่งผลต่กการจ้างงาน การขนส่ง การท่องเที่ยว โรงแรม ผู้ถือหุ้นกู้ที่รวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ช่องทางการฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้สถาบันการเงินต่างๆที่มีสัดส่วน 54.5% ของมูลหนี้ สนับสนุนให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ รวมทั้ง เจ้าหนี้ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าซื้อเครื่องบินหลายรายสนับสนุนให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ และยินยอมให้การบินไทยใช้เครื่องบินที่ให้เช่าหรือให้เช่าซื้อโดยพักและขยายระยะเวลาการชำระหนี้บางส่วนเพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจการบินไทยได้ต่อไป

อีกทั้ง การบินไทยยังมีหนังสือมาแสดงเป็นหลักฐานยืนยันว่าได้เจรจาประนอมหนี้เรื่อยมาและได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหนี้ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้ให้เช่าและให้เช่าซื้อเครื่องบิน ผู้ให้บริการท่าอากาศยาน สายการบินคู่ค้า ผู้ถือหุ้นกู้รายใหญ่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการประกอบกิจการของการบินไทยทำให้ข้อกล่าวอ้างของการบินไทยมีน้ำหนัก

ดังนั้น หากการบินไทยมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โครงสร้างองค์กร และการบริหารจัดการของบริษัทในกระบวนการฟื้นฟูกิจการ การบินไทยมีโอกาสดำเนินธุรกิจต่อไปและมีรายได้สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้อย่างเป็นธรรมในจำนวนที่ดีขึ้นหรืออย่างน้อยจะไม่ได้รับความเสียหายเพิ่มเติมจากการคงสภาพกิจการของการบินไทยไว้ ทั้งสามารถรักษาการจ้างงานจำนวนมากซึ่งเป็นประโยชน์มากกว่าการปล่อยให้กิจการของลูกหนี้ต้องล้มละลาย จึงฟังได้ว่ามีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของการบินไทย

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร กรรมการบริษัท และรักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ THAI เปิดเผยว่า หลังจากนี้คณะผู้ทำแผนจะดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจะใช้เวลาโดยเร็วที่สุดคาดว่าจะนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการต่อศาลได้ภายในไตรมาส 4/63 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการประมาณต้นปี 64 ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผนภายในไตรมาส 1/64 และการบินไทยจะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

ในส่วนของเจ้าหนี้นั้น กรมบังคับคดีจะดำเนินการแจ้งเจ้าหนี้ทั้งหลายให้ทราบถึงคำสั่งศาล โดยเจ้าหนี้จะต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี เพื่อไม่ให้เสียสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้คืน โดยการยื่นคำขอรับชำระหนี้มีกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่มีการประกาศคำสั่งตั้งผู้ทำแผนลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งขณะนี้ที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผนแล้ว เจ้าหนี้สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้เลยทางออนไลน์จนถึง 1 เดือนนับแต่ที่คำสั่งศาลได้ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

"วันนี้เป็นก้าวแรกที่สำคัญของการฟื้นฟู โดยศาลพิจารณา 3 ประเด็น หนี้สินพ้นตัว ผู้สามารถทำแผนและคุณสมบัติของแผน ซึ่งการบินไทยจะปรับโครงสร้างหนี้โครงสร้างองค์กร และเจ้าหนี้สนับสนุนมากกว่า 50%"นายชาญศิลป์กล่าวหลังศาลล้มละลายมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการ"นายชาญศิลป์ กล่าว

อย่างไรก็ดี มีเจ้าหนี้คัดค้านราว 15-16 ราย คิดเป็น 1-2% ของมูลหนี้ ทั้งนี้ เจ้าหนี้รายใหญ่ ได้แก่ ผู้ถือหุ้นกู้ ผู้ให้เช่าหรือผู้ให้เช่าเครื่องบิน และ สถาบันการเงิน รวมกว่า 80% สนับสนุนการเข้าฟื้นฟูกิจการ ส่วนผู้ถือตั๋วโดยสารกว่า 3.3 แสนราย ก็เป็นเจ้าหนี้ด้วย

นายชาญศิลป์ คาดว่าการบินไทยจะใช้ระยะเวลาฟื้นฟูกิจการ 5 ปี ทั้งนี้ ปัญหาของการบินไทยสะสมมานาน ทั้งเรื่องแผนการลงทุนเครื่องบิน การแข่งขันการบิน ระบบงาน ต้นทุนการบริหารต่างๆและผลกระทบที่เกิดการระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการของผู้โดยสารหายไป แต่ขณะนี้ความต้องการกลับมา ในเส้นทางในประเทศที่ทำการบินโดยสายการบินไทยสมายล์ ซึ่งเป็นบริษัทลูก ทำให้บริษัทเริ่มมีรายได้

อย่างไรก็ตาม นายชาญศิลป์ ยอมรับว่า อนาคตธุรกิจการบินคงไม่เหมือนเดิม เพราะมีค่าใช้จ่ายจำเป็นต้องดูแลด้านสุขอนามัย ซึ่งการบินไทยได้รับการยอมรับว่ามีมาตรการด้านสุขอนามัยในระดับสากล และคาดว่าจะใช้เวลา 4-5 ปีกว่าธุรกิจจะกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งจะค่อยๆเริ่มดีขึ้น ขณะที่ องค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ(IATA) คาดว่าธุรกิจการบินจะกลับมาในปี 66-67 ขึ้นกับว่าในเวลานั้นสายการบินไหนจะอยู่สายการบินไหนจะไป ซึ่งการบินไทยจะใช้โอกาสนี้ในการปรับปรุงองค์กร ปรับปรุงกระบวนการทำงาน แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ยาก แต่เชื่อมั่นความสามารถของคนการบินไทย และบริษัทก็มีสินทรัพย์ที่ดี

นายชาญศิลป์ กล่าวต่อไปว่า การบินไทยร่วมกับกรมบังคับคดีได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหนี้ของการบินไทยในการยื่นคำขอรับชำระหนี้ โดยเจ้าหนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเองที่บ้านผ่านทางเว็บไซต์ http://www.led.go.th/tgreorg/index.asp หรือ QR Code หรือหากเจ้าหนี้ท่านใดไม่สะดวกยื่นคำขอรับชำระหนี้ผ่านระบบออนไลน์ด้วยตนเอง ก็สามารถนำเอกสารมายื่นขอรับชำระหนี้ที่จุดบริการที่หน่วยงานต่าง ๆ จะได้อำนวยความสะดวก 4 หน่วยงาน ได้แก่

1. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต อาคาร 1 ชั้น 1

2. กรมบังคับคดี ถนนบางขุนนนท์, สำนักงานบังคับคดีทั่วประเทศ, ศูนย์บังคับคดีล้มละลายส่วนหน้า (ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ อาคารเอ ชั้น 1)

3. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) (สำหรับหุ้นกู้) และ

4. ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ถนนนครอินทร์ (สำหรับหุ้นกู้กลุ่มสหกรณ์)

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า จุดให้บริการรับคำขอรับชำระหนี้ที่สำนักงานใหญ่ของการบินไทยนั้น จะมีการจัดเจ้าหน้าที่และมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ช่วยอำนวยความสะดวกแก่เจ้าหนี้ในทุกขั้นตอน โดยจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.63 ณ โถงอาคาร 1 จนกระทั่งครบกำหนดระยะเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ต้นเดือน พ.ย.ตามเวลาราชการ เว้นวันหยุดเสาร์อาทิตย์และวันหยุดราชการ

สำหรับเจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้จะต้องเป็นบุคคลที่มีสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ที่เป็นหนี้เงิน โดยหนี้ดังกล่าวจะต้องเกิดก่อนวันที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้การบินไทยฟื้นฟูกิจการ ไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ก็ตาม ซึ่งรวมถึงหนี้การค้า หนี้ค่าเช่า หนี้หุ้นกู้ เป็นต้น ซึ่งเจ้าหนี้จะต้องจัดเตรียมข้อมูลจำนวนหนี้ คิดคำนวณถึงวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน และเอกสารแสดงตน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ