นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู (BANPU) เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายเข้าสู่โหมดธุรกิจของการตั้งรับ (Defensive Mode) ในปี 63-64 หลังสิ้นสุดการใช้เงินลงทุนก้อนใหญ่เข้าซื้อแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ (Barnett) ในสหรัฐ มูลค่า 570 ล้านเหรียญสหรัฐที่จะปิดดีลในวันที่ 1 ต.ค.นี้ เพื่อรองรับกับสถานการณ์โควิด-19 คาดฟื้นตัวล่าช้ายังกดดันธุรกิจถ่านหินที่เป็นธุรกิจหลักถูกกระทบจากราคาทรงตัวระดับต่ำ ขณะที่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็จะเก็บเกี่ยวผลการดำเนินของธุรกิจก๊าซฯและโรงไฟฟ้าจากการทยอยซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมา ก่อนจะเริ่มกลับมาเข้าสู่โหมดช่วงการขยายงานอีกครั้งในปี 65-68
เบื้องต้นประเมินว่ากำไรจากการดำเนินงานจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ต่อเนื่องในปี 64 จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์เข้ามาตั้งแต่ไตรมาส 4/63 สร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ทันที 50 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไป และธุรกิจไฟฟ้าจะเติบโตตามกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจถ่านหินจะยังคงตรึงปริมาณขายที่ระดับ 42 ล้านตัน/ปี พร้อมกับมุ่งเน้นการลดต้นทุนต่อเนื่อง
"ปี 2020-2021 เป็นปีที่บ้านปูอยู่ในโหมด Defensive ตั้งรับ เพราะสถานการณ์โควิด เราเชื่อว่าเศรษฐกิจจะยังไม่ฟื้นตัวอีกสัก 1-2 ปี ก็ยังไม่ฟื้น ปี 2022-2025 พวกนี้เป็นช่วงปีที่จะเร่งขยายงาน ขยายจากของเดิม...งบลงทุนปีหน้าก็น่าจะยังน้อยกว่าปีนี้ เพราะเป็นช่วง Defensive ตัวเลขยังไม่ออก ตอนนี้ทำ strategic plan อยู่ ที่ตัดไปก็จะเปลี่ยนเป็น existing operation พวก greenfield เป็นพวกที่จะลงทุนในปีที่ 3-4 อย่างการหาซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซฯในสหรัฐก็ยังไม่ต้องเร่งรีบอะไร ปีหน้าก็คงจะเริ่มดู เพราะคงเริ่มเดินทางได้แล้ว แต่ก็เชื่อว่าน่าจะยังไม่จบในปีหน้า"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า บริษัทคาดว่าในปี 63 จะใช้งบลงทุนราว 600 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดิมที่ตั้งงบลงทุนไว้ 930 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากที่เจรจาต่อรองราคาการเข้าซื้อแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์เหลือราว 570 ล้านเหรียญสหรัฐ และปรับแผนไม่ซื้อโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังไม่ได้จ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ทั้งในออสเตรเลียและเวียดนามที่ได้เข้าไปศึกษาก่อนหน้านี้
โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้บริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้วบางส่วน และคงเหลือที่จะใช้อีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการจ่ายเงินก้อนสุดท้ายเพื่อปิดดีลซื้อแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์ และอีก 66 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงานลม เอลวิน หมุย ยิน ในเวียดนาม ซึ่งจะทำให้รับรู้ผลการดำเนินงานของทั้ง 2 กิจการเข้ามาในไตรมาส 4/63
สำหรับธุรกิจก๊าซฯในสหรัฐ ภายหลังการเข้าซื้อแหล่งบาร์เนตต์เสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63 จะทำให้มี EBITDA เข้ามาทันที 50 ล้านเหรียญสหรัฐขึ้นไปในไตรมาส 4/63 และเมื่อรวมกับแหล่งก๊าซ Marcellus shale ที่มีอยู่แล้ว ก็คาดว่าจะสร้าง EBITDA ให้กับบริษัทได้ราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี บนสมมติฐานราคาก๊าซฯที่ 2.7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู
ทั้งนี้ ราคาก๊าซฯในช่วง 7 เดือนครึ่งของปีนี้อยู่ที่ 1.6-1.8 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 2.7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูในปัจจุบัน และมีทิศทางขาขึ้นในปี 64 โดยราคาฟิวเจอร์สอยู่ที่ราว 3 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู ซึ่งเป็นผลจากซัพพลายที่ลดลงหลังบางแหล่งลดการผลิตหรือปิดตัวไปจากราคาที่ตกต่ำก่อนหน้านี้ ขณะที่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้น โดยราคาก๊าซฯที่ปรับขึ้นทุก 10 เซ็นต์/ล้านบีทียู จะทำให้มี EBITDA เพิ่มขึ้น 10 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี
เมื่อรวมทั้ง 2 แหล่งของบริษัทจะทำให้มีปริมาณขายก๊าซฯเพิ่มขึ้นเป็น 450 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปี 64 จากเฉลี่ยปีนี้ที่ราว 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยบริษัทจะยังไม่เร่งปริมาณการขายก๊าซฯเพิ่มขึ้น เพราะจะต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มในการขุดเจาะหลุมผลิต ซึ่งปัจจุบันแหล่งบาร์เนตต์มีหลุมผลิตมากถึง 4,700 หลุมเพียงพอรองรับการขายภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันแล้ว นอกจากนี้ บริษัทยังมีโอกาสต่อยอดจากธุรกิจก๊าซฯ โดยได้ลงนามเพื่อศึกษาโอกาสความร่วมมือกับ บมจ.ปตท. (PTT) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญธุรกิจก๊าซที่มีสาย Value Chain ที่ยาวมาก ขณะที่บริษัทมีเพียงธุรกิจเดียวคือก๊าซฯต้นน้ำ ทำให้มองที่จะขยายไปยังธุรกิจอื่นใน Value Chain ทั้งในส่วนของขั้นกลางซึ่งอาจเป็นการขายก๊าซฯผ่านเข้าท่อ หรือส่งออก หรือการทำเทรดเดอร์ ตลอดจนการขนส่ง แต่ในส่วนขั้นปลาย สิ่งหนึ่งที่บริษัทคงไม่ได้ดำเนินการแน่นอน คือในสายธุรกิจปิโตรเคมี รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่อื่น ๆ
"การลงนาม MOU ร่วมกันเพื่อนำจุดแข็งของทั้งสองบริษัทมาหาโอกาสใน Value Chain ของก๊าซฯที่จะเข้ามาช่วยพัฒนาในภูมิภาคนี้ให้มีการใช้ก๊าซฯอย่างมีคุณภาพ...ความร่วมมืออาจจะไม่ได้ร่วมทุนกันก็ได้ เราก็เป็นหนึ่งใน ecosystem เขาก็ได้ มีความร่วมมือที่ทำงานไปด้วยกันได้ ใน Value Chain ของก๊าซฯเรากำลังศึกษาร่วมกันอยู่ ยังตอบไม่ได้ว่าจะเป็นอะไร อยากสรุปให้ได้ภายในปีนี้"นางสมฤดี กล่าว
นางสมฤดี กล่าวว่า ในส่วนของการต่อยอดจากธุรกิจก๊าซฯในสหรัฐสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้านั้นไม่ได้หารือร่วมกับทางกลุ่ม PTT เพราะบริษัทมี บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) เป็นผู้ดำเนินการอยู่แล้ว โดย BPP ยังมองหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิง ในสหรัฐ ซึ่งจะเป็นรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการในโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการอยู่แล้ว แม้ปัจจุบันจะไม่ได้รับซื้อก๊าซฯจากแหล่งของบริษัท แต่เมื่อหากสามารถเปลี่ยนการถือหุ้นมาเป็นกลุ่มบ้านปูก็จะผลักดันให้รับก๊าซฯจากแหล่งของบริษัทเป็นการทดแทน
สำหรับธุรกิจถ่านหิน ซึ่งเป็นธุรกิจหลักนั้น คาดว่าจะยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาที่ยังอยู่ในระดับต่ำจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ปัจจุบันราคาลงมาเคลื่อนไหวอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐ/ตัน และน่าจะยังทรงตัวอยู่ในช่วงนี้ต่อไปในระยะยาว จากสถานการณ์โควิดของหลายประเทศที่ยังไม่ได้ดีขึ้น มีเพียงจีนที่คลี่คลาย และเห็นการนำเข้าถ่านหินฟื้นตัวอย่างชัดเจน ส่งผลดีต่อบริษัทในการทำตลาดที่จีน แต่ก็ถูกหักล้างจากตลาดอินเดียที่สถานการณ์โควิดยังรุนแรง ทำให้การนำเข้าถ่านหินของอินเดียลดลงไปมหาศาล ขณะที่ซัพพลายถ่านหินทั้งจากทางอินโดนีเซีย ออสเตรเลีย ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ทำให้เชื่อว่าถ่านหินน่าจะผ่านจุดต่ำสุด และน่าจะยังพยุงราคาที่ระดับดังกล่าวได้ หรืออาจจะมีทิศทางที่ดีขึ้นเมื่อเศรษฐกิจกลับมาดีขึ้น
ดังนั้น ในช่วงนี้บริษัทก็จะรักษาระดับการขายถ่านหินจากแหล่งผลิตของบริษัทไว้ที่ 42 ล้านตัน/ปี รวมถึงในปีนี้ด้วย โดยจะมาจากเหมืองออสเตรเลีย 13 ล้านตัน อินโดนีเซีย 22 ล้านตัน และจีน 7 ล้านตัน แต่หากราคาถ่านหินขยับขึ้นเกิน 75 เหรียญสหรัฐ/ตัน บริษัทก็พร้อมจะเพิ่มเป้าหมายการขายกลับไปสู่ระดับ 45 ล้านตัน/ปีตามเดิม โดยในช่วงที่ราคาถ่านหินอยู่ในระดับต่ำ บริษัทก็จะมุ่งเน้นการลดต้นทุนการผลิตถ่านหินเป็นหลัก โดยในปีนี้ปรับลดลงราว 20% และจะยังลดต่อเนื่องอีกในปีหน้าด้วย ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มการทำเทรดดิ้งธุรกิจถ่านหินให้มากขึ้น โดยเฉพาะในจีนที่ตลาดยังเติบโต ส่วนในเวียดนามที่มีการกดราคาถ่านหิน ก็จะไม่เน้นมากนักเพราะการขายจะเน้นการสร้างกระแสเงินสดกลับเข้ามาเป็นบวก
นางสมฤดี กล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ มีทิศทางที่ดีขึ้นจากธุรกิจก๊าซฯ ที่ได้แหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์เข้ามา และการลดต้นทุนของธุรกิจถ่านหิน ส่วนธุรกิจไฟฟ้าได้รับประโยชน์จากโรงไฟฟ้าหงสาในลาวที่กลับมาเดินเครื่องผลิต หลังจากหยุดซ่อมบำรุงในช่วงไตรมาส 2/63 รวมถึงจะมีโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นที่จะ COD อีก 20 เมกะวัตต์ และจะรับรู้ผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพลังงานลม เอลวิน หมุย ยิน ในเวียดนามเข้ามาทันทีหลังจากซื้อกิจการแล้วเสร็จในไตรมาส 4/63 ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวง (SLG) ในประเทศจีน ที่เดิมคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 4/63 ก็จะเลื่อนเป็นในช่วงไตรมาส 1/64
ขณะเดียวกันบริษัทยังได้ปรับลดเงินเดือนของผู้บริหารระดับสูงลง 25% รวมถึงลดเบี้ยประชุมของคณะกรรมการ 25% โดยไม่มีการลดเงินเดือนพนักงาน เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจในการแสดงสปิริตของผู้บริหารในช่วงที่เผชิญกับภาวะยากลำบากของธุรกิจด้วย
อย่างไรก็ตาม ในด้านของกำไรสุทธิในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ยังคงถูกดดันจากค่าใช้จ่ายครั้งเดียว ในการซื้อกิจการแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์ รวมถึงค่าที่ปรึกษา และยังต้องจับตาทิศทางค่าเงินบาทด้วย หากแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 ก็จะส่งผลกระทบผลการดำเนินงานโดยรวม
สำหรับผลกำไรจากการดำเนินงานในปี 64 ยังเชื่อว่าจะดีกว่าปี 63 จากการรับรู้ผลการดำเนินงานของแหล่งก๊าซฯบาร์เนตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม เอลวิน หมุย ยิน ได้เต็มปี รวมถึงโรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวง ก็จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1/64 และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Soc Trang ในเวียดนาม ก็จะเปิดดำเนินการในช่วงต้นปีหน้า ประกอบกับการลดต้นทุนการผลิตในธุรกิจถ่านหินอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยหนุนผลการดำเนินงานด้วย
นางสมฤดี ยืนยันว่า ขณะนี้บริษัทยังมีกระแสเงินสดที่แข็งแรงและเงินทุนหมุนเวียนอยู่ในระดับที่ดี โดยปัจจุบันกลุ่มบริษัทมีเงินเทียบเท่าเงินสดคงเหลือ 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่มีภาระหนี้สุทธิภายหลังการเข้าซื้อแหล่งบาร์เนตต์ แม้จะเพิ่มเป็นราว 3,900 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ยังไม่เกินเป้าหมาย โดยอยู่ที่ 1.34 เท่า และมีเป้าหมายจะลด D/E เหลือ 1.1 เท่า โดยใช้ EBITDA ที่เข้ามาแต่ละปีกลับมาลดหนี้ ขณะที่มีภาระจ่ายคืนเงินต้นราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยในปี 64 มีภาระหนี้ที่เป็นหุ้นกู้จะครบกำหนดราว 5 พันล้านบาท มีแนวโน้มที่จะรีไฟแนนซ์ ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้วิธีการออกหุ้นกู้ทดแทนหรือการกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยต้องดูสภาพตลาดในช่วงเวลาดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง