นายเพา จาตกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจบริหารเงิน ธุรกิจขนาดใหญ่ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) เปิดเผยว่า รายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจบริหารเงินในปี 63 มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เติบโต 15-20% หลังจากปัจจุบันรายได้ค่าธรรมเนียมของธุรกิจบริหารเงินทำได้เกินเป้าหมายที่ธนาคารตั้งไว้ จากปัจจัยหนุนของตลาดตราสารหนี้ที่เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น หลังจากผ่านช่วงความผันผวนในช่วงปลายเดือนมี.ค.-เม.ย.ที่ผ่านมา จากปัจจัยโควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล และเทขายตราสารหนี้และหุ้นกู้ออกมามาก แต่หลังจากที่สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เริ่มคลี่คลายมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดตราสารหนี้เริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น
โดยการกลับมาฟื้นตัวขึ้นของตลาดตราสารหนี้ ทำให้ลูกค้าผู้ประกอบการรายใหญ่ต่าง ๆ เริ่มกลับมาออกหุ้นกู้มากขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ค่อนข้างมาก และนักลงทุนให้การตอบรับหุ้นกู้ที่ออกมาเป็นอย่างดี สะท้อนภาพความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อตลาดตราสารหนี้กลับมาดีขึ้น อีกทั้งขนาดของตลาดตราสารหนี้ไทยในปัจจุบันมีขนาดใหญ่กว่าตลาดหุ้นแล้ว สะท้อนภาพบวกต่อตลาดตราสารหนี้ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้น และสะท้อนภาพความสนใจของนักลงทุนที่เริ่มหันมาลงทุนในตลาดตราสารหนี้มากขึ้น เพื่อเป็นทางเลือกในการกระจายการลงทุนที่มีความเสี่ยงไม่สูง และมีผลตอบแทนที่ดีกว่าการออมผ่านเงินฝาก โดยในปีนี้ธนาคารคาดว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ของตลาดจะสูงกว่าปีก่อนที่ 5 แสนล้านบาท
หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เริ่มเผยแพร่อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงใหม่ ที่เรียกว่า THOR (Thai Overnight Repurchase Rate) ซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่คำนวณจากธุรกรรมกู้ยืมระยะข้ามคืนในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระหว่างธนาคาร เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 63 และธนาคารได้เข้าทำสัญญาอนุพันธ์อ้างอิงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ THOR เป็นธุรกรรมแรกของประเทศ ได้แก่ ธุรกรรมอนุพันธ์ Overnight Index Swap หรือ OIS ที่อ้างอิงกับ THOR ร่วมกับธนาคารกสิกรไทย (KBANK) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 800 ล้านบาท เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 63 ที่ผ่านมา
ธนาคารได้วางเป้าหมายถัดไปในการออกไปให้ความรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงตัวใหม่ให้ลูกค้ารายต่อราย เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าเข้าใจ ด้วยความที่ THOR เป็นเรื่องใหม่ และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาตลาดการเงินของไทยเพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่มีความโปร่งใส เพราะ THOR ไม่ได้ใช้ใครคนใดคนหนึ่งเป็นผู้กำหนดราคา แต่อ้างอิงบนธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง อีกทั้ง THOR เป็นดอกเบี้ยที่มีเสถียรภาพ ไม่ผันผวนมากนัก และยังสะท้อนสภาพคล่องที่แท้จริงของค่าเงินบาท และสะท้อนอัตราดอกเบี้ยที่ควรจะเป็นอีกด้วย
ขณะเดียวกันธนาคารมีแผนจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่จะนำเอาอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง THOR มาใช้มากขึ้น เพิ่มเติมจากผลิตภัณฑ์ที่ธนาคารมีอยู่แล้ว ทั้งธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร หุ้นกู้ ตราสารอนุพันธ์รวมถึงธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืมเงิน ที่อ้างอิงกับ THOR
"หลังจากธปท. ประกาศจะใช้ดอกเบี้ยตัวใหม่ ซีไอเอ็มบี ไทย เห็นโอกาสที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดนี้ เราเตรียมความพร้อมและงานหลังบ้านทันที ทั้งความพร้อมของแบงก์ที่มีทั้งฝั่ง Treasury, Risk, Operations, Finance และ Legal เรียกได้ว่าเกี่ยวข้องกับเกือบทุกสายงานในแบงก์ หลังจากเราพร้อมแล้วจึงได้เริ่มเข้าไป quote ราคาครั้งแรกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 63 และ quote ราคาต่อเนื่องถึง 2 เดือน จึงมีธนาคารกสิกรไทยเข้ามา hit ราคา และเกิดธุรกรรมแรก หลังจากนั้นได้เกิดธุรกรรมเกิดขึ้นอีก 2 ธุรกรรม ซึ่งธนาคารจะเข้าไป quote ราคาเรื่อย ๆ เพราะเราถือว่าการพัฒนาตลาดเป็นหน้าที่หนึ่งของธนาคารอีกด้วย โดยธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาด 1 ใน 3 ของมูลค่าธุรกรรมในปี 64"นายเพา กล่าว
ในฐานะที่ธนาคารเป็น Maket Maker ธนาคารตั้งเป้าหมายว่าจะมีส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันธนาคารมีส่วนแบ่งตลาดในธุรกรรม ที่อ้างอิงTHBFIX ราว 20-25% ของปริมาณธุรกรรมโดยรวมที่มีกว่า 1-2 แสนล้านบาท/เดือน หรือ 1-2 ล้านล้านบาท/ปี โดยคาดว่าจากความพร้อมในการเสนอผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิง THOR ทำให้คาดว่าส่วนแบ่งตลาดในธุรกรรมที่อ้างอิง THOR ของธนาคารจะมีสัดส่วนสูงกว่า 30%
นายพรชัย ปัทมินทร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บรรษัทธุรกิจและวาณิชธนกิจธุรกิจขนาดใหญ่ CIMBT กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันธนาคารเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ไปแล้วราว 6 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาส 4/63 จะมีลูกค้าเตรียมออกหุ้นกู้อีกราว 5-7 พันล้านบาท