นายรัชต์ โสดสถิตย์ กรรมการบริหาร บล.เอเซีย พลัส ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ. ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) เปิดเผยว่า MICRO ได้เสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 235 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 1.00 บาทต่อหุ้น กำหนดราคาไอพีโอหุ้นละ 2.65 บาท จัดสรรให้แก่ บุคคลทั่วไป 58.4% นักลงทุนสถาบัน 16.6% และผู้มีอุปการคุณรวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์และพนักงาน 25.0%
ทั้งนี้ กำหนดเปิดจองซื้อหุ้น IPO ในช่วงระหว่างวันที่ 21 - 23 กันยายนนี้ และคาดว่าจะดำเนินการเปิดซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) วันแรก ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ในกลุ่มธุรกิจการเงิน / เงินทุนและหลักทรัพย์ (FIN) โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า MICRO พร้อมกันนี้ ได้แต่งตั้งผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ MICRO จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย บล.ฟินันเซีย ไซรัส, บล.เคจีไอ (ประเทศไทย), บล.ทิสโก้, บล.กรุงไทย ซีมิโก้, บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และ บล.โกลเบล็ก
สำหรับการตั้งราคาไอพีโอที่ 2.65 บาทต่อหุ้น คิดเป็น P/E (Pre-Dilution) ประมาณ 14.0 เท่า ซึ่งถือว่าเป็นระดับราคาที่มีความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัทฯ เป็นธุรกิจที่กำลังขยายการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีอัตรากำไรอยู่ในระดับที่น่าสนใจ
"เรามั่นใจว่าการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ MICRO ในครั้งนี้ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน ด้วยราคาไอพีโอที่เหมาะสม และการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนทั่วไปตั้งแต่วันโรดโชว์ในช่วงที่ผ่านมา จึงเชื่อว่า MICRO จะเป็นหุ้น Growth Stock ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุนในระยะยาว" นายรัชต์ กล่าว
MICRO มีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อนำเงินที่ได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายในการเสนอขายหลักทรัพย์และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จำนวนประมาณ 620 ล้านบาท จะใช้เป็นเงินทุนในการขยายธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อจำนวน 460 ล้านบาท ชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมสถาบันการเงิน 150 ล้านบาท และลงทุนในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศจำนวน 10 ล้านบาท
นายวินิตย์ ปิยะเมธาง กรรมการผู้จัดการ MICRO เปิดเผยว่า กลยุทธ์ในช่วงต่อจากนี้ MICRO พร้อมขยายการเติบโต โดยโครงการในอนาคตในปี 63 บริษัทมีแผนพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ Mobile Application สำหรับการรวบรวมข้อมูลลูกค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้พนักงานสาขาส่งข้อมูลมายังสำนักงานใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการอนุมัติสินเชื่อจากส่วนกลาง ทั้งนี้ บริษัทฯ คาดว่าจะใช้งบลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะใช้เงินที่ได้รับจากเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ และคาดว่าระบบจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในปีนี้
บริษัทตั้งเป้ารักษาอัตราการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อได้ไม่น้อยกว่า 30% ต่อปี โดยมีแผนจะขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 64-65 คาดจะมี 16 สาขา และ 20 สาขา จากปี 63 มี 12 สาขา เน้นจังหวัดที่มีการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสูง หรือในพื้นที่ที่มีผู้ประกอบการเต็นท์รถบรรทุกมือสองจำนวนมาก คาดว่าจะใช้งบลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 4 ล้านบาท เพื่อรองรับเป้าหมายการขยายพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อให้เติบโตเป็น 5,000 ล้านบาทภายในปี 65
"ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทจะยังคงมุ่งเน้นการให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุกมือสองเป็นหลัก โดยมุ่งเน้นการรักษาฐานลูกค้าเดิมและการขยายลูกค้าใหม่ ผ่านการขยายเครือข่ายผู้ประกอบการเต็นท์รถบรรทุกมือสองและการเพิ่มจำนวนสาขาให้ครอบคลุมและสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงและพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน สำหรับแผนธุรกิจระยะยาว บริษัทมีแผนจะเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างครบวงจร" นายวินิตย์ กล่าว
ด้านนายกานต์ดนัย ชลสุวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่ด้านบัญชีและการเงิน MICRO เปิแผยว่า จากแผนงานที่บริษัทจะนำเงินบางส่วนจากการระดมทุนไปชำระหนี้เงินกู้ 150 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 5% จะทำให้อัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ลดลงมาอยู่ในระดับ 1 เท่า ขณะเดียวกันเมื่อชำระหนี้แล้วบริษัทจะมีการกู้เงินบางส่วนที่มีอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่ 4% มาแทน ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินลดลง นอกจากนี้ ยังมีแผนจะระดมทุนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นกู้ในอนาคตเพื่อทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลงกว่าเดิม
บริษัทยังตั้งเป้าจะรักษาระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ไม่ให้เกิน 3% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.7% โดยเน้นการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และด้วยประสบการของบริษัทในการประเมินราคารถบรรทุก เชื่อว่าจะทำให้ไม่เกิดผลกระทบมากหากเกิด NPL ขึ้น
สำหรับนโยบายของบริษัทหลังจากที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) แล้ว บริษัทจะยังคงการขยายตลาดในการให้สินเชื่อรถบรรทุกมือสองอยู่ เนื่องจากต้องอาศัยความชำนาญในการเข้ามาบุกตลาดนี้ และเป็นตลาดที่สามารถมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ดี และสูงกว่าตลาดรถบรรทุกใหม่ หรือรถบรรทุกที่มีอายุ 1-5 ปี
"ตลาดรถบรรทุกมือสองนี้มีมูลค่ามากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งปัจจุบันเรามีพอร์ตแค่ 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งจะเห็นว่ายังมีโอกาสการเติบโตอีกมาก และการแข่งขันในตลาดนี้ค่อนข้างต่ำเพราะต้องอาศัยความชำนาญในการประเมิณราคารถบรรทุก เราจึงเชื่อมั่นว่าด้วยคุณสมบัติที่แตกต่างจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนแน่นอน"นายกานต์ดนัย กล่าว