บล.ทิสโก้ ประเมิน SET ซึมลงแต่โอกาสน้อยแตะ 1,200 จุดหากการเมือง-โควิดไม่แรง

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday September 18, 2020 12:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มแกว่งซึมลง ขณะที่มูลค่าซื้อขายถดถอยลงเรื่อย ๆ จึงเชื่อว่าจะเห็นการโยกเม็ดเงินเวียนกลุ่มลงทุนไปเรื่อย ๆ โดยยังคงมุมมองโซนดัชนีหุ้นไทยที่บริเวณ 1,250-1,280 จุด เป็นระดับที่น่าทยอยซื้อสะสม "เพื่อการลงทุน" ขณะที่มีความเป็นไปได้น้อยที่ดัชนีหุ้นไทยจะหลุดต่ำกว่า 1,250 จุดลงมาเคลื่อนไหวที่บริเวณ 1,200 จุดต้น ๆ ยกเว้นการชุมนุมทางการเมืองมีความรุนแรงจนถึงขั้นนองเลือด และ/หรือเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19รอบ 2 ภายในประเทศ จนทำให้รัฐบาลต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

สำหรับดัชนีบริเวณ 1,250-1,280 จุด เป็นระดับที่น่าทยอยซื้อสะสมนั้น อิงจาก 1. ระดับค่าเฉลี่ยอัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า 12 เดือน (12 m Fwd. PER) ที่ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 16-17 เท่า จากเดิมประมาณ 15-16 เท่าในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งจะได้ดัชนีที่เหมาะสมในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หรือในไตรมาส 4/63 ที่ 1,221-1,297 จุด และควรจะอยู่สูงกว่าระดับ 1,300 จุดขึ้นไปในช่วงไตรมาส 1/64 และ 2. การพักตัวทางเทคนิคตามหลัก "Fibonacci Retracement" ปัจจุบันดัชนีหุ้นไทยกำลังมีแนวโน้มพักตัวที่ 38.2% หรือคิดเป็นระดับดัชนีที่ที่ 1,269 จุด

ปัจจัยที่ต้องติดตามในช่วงหลังของเดือน ก.ย. ยังคงอยู่ที่ปัจจัยการเมืองในประเทศ ทั้งการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาในวันที่ 19 ก.ย. และการประชุมสภาฯในวันที่ 23-24 ก.ย. ว่าจะมีการพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และในมาตราใด ในขณะเดียวกันการเมืองในต่างประเทศก็มีแนวโน้มดุเดือดมากขึ้น ทั้งการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ สถานการณ์ตึงเครียดสหรัฐฯ-จีน และความไม่แน่นอนของผลการเจรจาการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า

นอกจากนี้ความผันผวนของราคาน้ำมันล่าสุดในช่วงต้นเดือนนี้ นอกจากจะกดดันราคาหุ้นกลุ่มพลังงาน-ปิโตรเคมีแล้ว ยังกดดันความเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทยด้วย และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจซ้ำเติมให้การหั่นประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยยังไม่สิ้นสุดลง อิงจากการศึกษาความสัมพันธ์ในอดีตพบว่า ทุก ๆ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ที่เปลี่ยนแปลง 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จะมีผลให้ดัชนีหุ้นไทยเปลี่ยนแปลงในทิศทางเดียวกันประมาณ 10 จุด และภาพรวมกำไรของบริษัทจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกว่า 2,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น (SET EPS) ที่ประมาณ 30 สตางค์ต่อหุ้น

สำหรับหุ้นที่น่าสะสม "เพื่อการลงทุน" จะเน้นหุ้นที่ราคาหุ้นยังปรับขึ้นน้อยกว่าตลาด (Laggard) แต่แนวโน้มกำไรครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวขึ้น หุ้นเด่นที่ชอบ คือ AEONTS, BAM, BDMS, BEM, CPALL, KTC, MTC และ WHA และทยอยเก็บหุ้นปันผลที่คาดจะให้อัตราเงินปันผล (Div. Yield) เฉลี่ยมากกว่า 4% ต่อปี แนะนำ DCC, EASTW, INTUCH, LH, QH, NYT, PROSPECT, RATCH และ TVO (หมายเหตุ : PROSPECT กลุ่มทิสโก้เป็นที่ปรึกษาการเงินและผู้จัดจำหน่าย)

ประเด็นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้น ได้แก่ 1. หุ้นรับอานิสงส์ข่าววัคซีนและการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ (STV) ได้แก่ AOT, BDMS, CENTEL และ SPA 2. หุ้นเก็งประเด็น Window Dressing – BCH, BGRIM, BJC, CBG, EPG, GULF และ ORI และ 3. หุ้นที่ประเมินเบื้องต้นว่างบไตรมาส 3/63 จะออกมาดีทั้ง YoY และ QoQ – BGC, DELTA, KCE, KTC, MTC, PRM และ SYNEX


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ