นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ (QTC) เปิดเผยว่า บริษัทยังมั่นใจรายได้ในปี 63 จะทำได้ตามเป้าหมายที่ 1 พันล้านบาท แม้ว่าปัจจัยโควิด-19 จะกระทบต่อแผนการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐชะลอตัว ทำให้การลงทุนต่าง ๆ ถูกเลื่อนออกไป แต่ปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ได้เริ่มคลี่คลายมากขึ้น และการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศกลับมาเป็นปกติ ทำให้บริษัทสามารถทยอยส่งหม้อแปลงไฟฟ้าให้กับลูกค้าต่างประเทศ และรับรู้รายได้เข้ามาได้มากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และยังมีออร์เดอร์ใหม่ ๆ จากลูกค้าเข้ามา โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศ
โดยในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทคาดว่ารายได้จะปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรกเล็กน้อย จากการทยอยส่งมอบงานได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้จากงานในมือ (Backlog) ในครึ่งปีหลังนี้เกือบ 300 ล้านบาท จากมูลค่า Backlog ที่มีทั้งหมด 340 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นออร์เดอร์จากลูกค้าต่างชาติราว 200 ล้านบาท ลูกค้าภาคเอกชน 100 ล้านบาท ลูกค้าการไฟฟ้า 25 ล้านบาท งานบริการ 10 ล้านบาท และสินค้าใหม่ 5 ล้านบาท
ขณะที่กลยุทธ์ของบริษัทในครึ่งปีหลังนี้จะเน้นรับออร์เดอร์จากลูกค้าต่างประเทศเข้ามามากขึ้น เพราะมีมาร์จิ้นดี ส่งผลบวกต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ส่วนงานประมูลโครงการใหม่ ๆ ที่บริษัทติดตามอยู่เป็นโครงการของการไฟฟ้า 2 โครงการ มูลค่ารวม 1.5-2 พันล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงเดือนต.ค.-พ.ย.นี้ บริษัทคาดหวังจะได้รับงานราว 10%
ส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมนั้น บริษัทได้เตรียมความพร้อมไว้แล้วหลายโครงการ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีโครงการโซลาร์ฟาร์ม 1 แห่ง ในปราจีนบุรี กำลังการผลิต 8.67 เมกะวัตต์ ซึ่งได้จำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้ว ตั้งแต่ปี 54
ด้านโอกาสการเติบโตของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าในอนาคต บริษัทมองว่าจะมีความต้องการใช้หม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า และการติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า ที่ภาครัฐให้การสนับสนุน และการติดตั้งจุดชาร์จไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งจะทำให้บริษัทจะได้รับประโยชน์ โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาด 4,000 MVA หรือคิดเป็น 6,000 เครื่อง/ปี สามารถรองรับงานได้มูลค่า 1.8 พันล้านบาท/ปี
สำหรับเป้าหมายในระยะ 5 ปีของบริษัท (ปี 63-67) ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นไปแตะ 2-3 พันล้านบาท โดยจะขยายฐานลุกค้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้น พร้อมกับเดินหน้าลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้า เพื่อให้มีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 70% และในส่วนธุรกิจผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าจะมีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 30%