ภาวะตลาดหุ้นนิวยอร์กปัญหาตลาดซับไพรม์สหรัฐฉุดดาวโจนส์ปิดลบ 31.14 จุด

ข่าวหุ้น-การเงิน Saturday August 11, 2007 07:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์กปิดขยับลงเมื่อคืนนี้ (10 ส.ค.) เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นในตลาดปล่อยกู้จำนองให้กับลูกค้ากลุ่มซับไพรม์ในสหรัฐ แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้อัดฉีดเม็ดเงินจำนวนมากเข้าสู่ระบบการธนาคารเพื่อลดความตื่นตระหนกในตลาดแล้วก็ตาม
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลง 31.14 จุด หรือ 0.23% ปิดที่ 13,239.54 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ขยับขึ้น 0.55 จุด หรือ 0.04% ปิดที่ 1,453.64 จุด และดัชนี Nasdaq ร่วงลง 11.60 จุด หรือ 0.45% ปิดที่ 2,544.89 จุด
ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นนิวยอร์กมีอยู่ประมาณ 5.11 พันล้านหุ้น ลดลงเมื่อเทียบกับวันพฤหัสบดีที่ 5.76 พันล้านหุ้น มีจำนวนหุ้นลบมากกว่าหุ้นบวกในอัตราส่วน 5 ต่อ 3
ความตื่นตระหนกระลอกใหม่เกี่ยวกับปัญหาตลาดซับไพรม์เกิดขึ้นเมื่อ บีเอ็นพี พาริบาส์ วาณิชธนกิจชื่อดังของฝรั่งเศส ได้ประกาศปิดกองทุน 3 แห่งที่เข้าไปลงทุนและได้รับผลกระทบอย่างหนักในตลาดซับไพรม์ อีกทั้งยังห้ามลูกค้าไถ่ถอนเงินจากกองทุนหลายแห่งที่บีเอ็นพีบริหารอยู่ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.2 พันล้านดอลลาร์
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เฟดตัดสินใจอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการธนาคารเป็นเงินมูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วงเช้าวันศุกร์ จากนั้นได้ปล่อยเงินเข้าสู่ระดับอีก 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ และหลังสุดอีก 3 พันล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาภาวะตึงตัวในระบบและเพื่อลดความตื่นตระหนกในตลาด
นายเอ็ด ยาร์เนดี ประธานบริษัทยาร์เนดี รีเสิร์ชกล่าวว่า "คณะกรรมการเฟดพยายามทำทุกวิถีทางที่จะลดความตื่นตระหนกในตลาด ผมคิดว่าอีกทางเลือกหนึ่งที่เฟดอาจจะทำคือ 'ลดอัตราดอกเบี้ย' ซึ่งบางทีเรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นก่อนการประชุมเดือนก.ย."
"ในอดีตเฟดเคยใช้วิธีปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความสับสนอลหม่านในตลาด หลังจากเกิดวิกฤตการณ์หนี้สินในรัสเซีย จนทำให้กองทุนเฮดจ์ Long-Term Capital Management ล้มละลายในปี 2541" นายยาร์เนดีกล่าว
นอกจากนี้ ธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลกได้ออกมาเคลื่อนไหวหลังจากปัญหาตลาดซับไพรม์ในสหรัฐเริ่มรุนแรงขึ้น โดยธนาคารกลางยุโรป ธนาคารกลางแคนาดา ธนาคารกลางญี่ปุ่น และธนาคารกลางออสเตรเลีย พร้อมใจกับอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการธนาคารเพื่อคลี่คลายภาวะตึงตัว ส่วนธนาคารอีกหลายแห่ง อาทิ ธนาคารสิงคโปร์ยืนยันว่าพร้อมที่จะปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบหากจำเป็น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ