นายอภินันท์ รัชฎสมบัติ เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทย-เยอรมัน โปรดักส์(TGPRO)เปิดเผย"อินโฟเควสท์"โดยคาดว่าการเจรจากับพันธมิตรใหม่ที่จะเข้ามาร่วมทุนจะได้ข้อสรุปในช่วงไตรมาส 3 หรือ ไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับการได้ข้อสรุปการเจรจาปรับลดหนี้
"การเจรจาพันธมิตร รวมทั้งเรื่องลดหนี้ ขณะนี้กำลังเจรจาอยู่หลายราย และมีคนแสดงความสนใจอยู่หลายรายเช่นกัน แต่ช่วงนี้ยังไม่ค่อยคืบหน้า ซึ่งจริงๆเรื่องลดหนี้กับเรื่องพันธมิตรน่าจะไปด้วยกัน...ตอนนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 ค่อยมาถาม มีทั้งไทยและต่างประเทศ"นายอภินันท์ กล่าว
ปัจจุบัน บริษัทมีหนี้ตามแผนฟื้นฟูฯ เหลืออยู่ประมาณ 740 ล้านบาทหากไม่นับรวมดอกเบี้ยคงค้างมาตรฐานบัญชี ขณะที่บริษัทมีกำไรสะสมยังน้อยอยู่ ณ สิ้นไตรมาส 1/50 ประมาณ 40-50 ล้านบาท แต่มีส่วนต่ำมูลค่าหุ้นอยู่ประมาณ 200 กว่าล้านบาท
โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/50 บริษัทมี D/E ที่ 12 เท่าจาก 17 เท่า หลังจากได้จ่ายคืนหนี้ส่วนหนึ่งและมีกำไรเพิ่มเข้ามา
นายอภินันท์ คาดว่า สิ้นไตรมาส 2/50 D/E ก็น่าจะลดลงไปอีกอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการจ่ายคืนหนี้ตามที่แผนงานกำหนดไว้ และคาดว่าผลกำไรจะสูงขึ้นกว่า 2.30 ล้านบาทในไตรมาส 2/49 แม้ว่ายอดขายไตรมาส 2 จะชะลอตัวจากไตรมาส 1/50 ที่ยอดขาย 556 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลขายปกติที่ยอดขายจะสูงสุดในไตรมาส 1 และ 4 ขณะที่ไตรมาส 2 และ 3 จะชะลอตัวลง
"โรงงานน้ำตาลแต่ละแห่งในภูมิภาค หรือประเทศไทยถ้าเทียบกับปากีสถาน จะเปิดซ่อมไม่เหมือนกัน อย่างไตรมาส 1 มียอดขาย 500 กว่าล้านบาท แต่ไตรมาส 2 เราไม่ถึง"นายอภินันท์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่ายอดขายทั้งปีน่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมายประมาณ 10% จากปี 49 ที่มียอดขาย 1,720 กว่าล้านบาท ส่วนปี 51 จะเติบโตอย่างไรเป็นประเด็นที่ต้องหารือกับพันธมิตร หรือหากเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อลดทุนได้ก็จะมีช่องทางที่จะเติบโตได้มากขึ้นในด้านเงินทุนหมุนเวียนที่จะนำมาซื้อวัตถุดิบ
"ยอด sell เราอาจจะ growth ได้มากกว่าเดิม ส่วนหนึ่งต้องรอตรงนี้ด้วย"นายอภินันท์ กล่าว
*โอดบาทแข็งกระทบรายได้วูบ แม้ปรับราคาขายแต่ชดเชยไม่หมด
นายอภินันท์ กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่ากระทบบริษัทแน่นอน เพราะมียอดขายเป็นดอลลาร์ 30% แม้ว่าจะพยายามปรับขึ้นราคาขาย แต่คงเป็นไปไม่ได้ที่สามารถชดเชยกับระดับการแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากถึง 17%ได้ โดยราคาขายตลาดต่างประเทศปรับขึ้นเต็มที่แค่เกือบ 10% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันบริษัทก็มีการสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศที่ต้องจ่ายเป็นดอลลาร์ส่วนหนึ่ง และวัตถุดิบบางส่วนถึงแม้จะซื้อในประเทศแต่ก็อิงราคาในต่างประเทศ ดังนั้นจึงช่วยชดเชยผลกระทบจากบาทแข็งได้อีกส่วน
"เงินบาทแข็งกระทบเราแน่นอน เพราะเคยขาย 1 ดอลลาร์ได้ 40 บาทตอนนี้เหลือ 33 บาท แต่ก็ชดเชยด้วยการขึ้นราคา แต่ขึ้นแล้วไม่ cover ในเรื่องของการแข็งค่าเงิน โดยปรับราคาขายขึ้น 10% เป็นการเฉลี่ยทั้งปี ตามราคาวัตถุดิบ"นายอภินันท์ กล่าว
นายอภินันท์ กล่าวว่า แนวโน้มของการปรับราคาขึ้นในอนาคตคงทำได้ลำบากเพราะราคาสแตนเลสขึ้นอยู่กับราคาตลาดโลก ยกเว้นสินค้าขนาดใหญ่ เช่น ท่อในโรงงานอุตสาหกรรม ที่อาจปรับขึ้นได้มากกว่าบ้าง ซึ่งบริษัทพยายามรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่เฉลี่ย 13-15% โดยในช่วงไตรมาส 1/50 อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 13% กว่า ๆ
"ของเราส่งออกประมาณ 30% ราคาเฉลี่ยต่อหน่วย convert ออกมาราคาส่งออกต่ำกว่าในประเทศ แต่ที่ไม่ขายในประเทศเพราะ demand จำกัด และเรามีนำเข้าวัตถุดิบ ก็อยากจะส่งออกเพื่อมาชดเชยดอลลาร์ด้วย"นายอภินันท์ กล่าว
ในแง่ราคาขายค่าเฉลี่ยยังสูงกว่าปีที่แล้วหลายผลิตภัณฑ์ แต่ช่วงเดือนมิ.ย.เริ่มชะลอลง หากครึ่งปีหลังปริมาณการผลิตเท่าเดิม ขณะที่ราคาสแตนเลสลดลงก็คงจะกระทบกับเป้าหมายยอดขายทั้งปี ดังนั้น หากผลิตเพิ่มขึ้นก็จะทำให้ปริมาณการขายไปชดเชยเรื่องราคาได้
"ราคาสแตนเลสตอนนี้กำลังตกอยู่ เพราะฉะนั้นยอดขายเดือนมิ.ย.ของเราเหมือนจะไม่ดีเพราะลูกค้าในประเทศก็ wait and see อยู่"นายอภินันท์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--