นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่ารายได้ในปี 64 จะกลับมาเติบโตได้ในระดับตัวเลข 2 หลัก และเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากปีนี้รายได้ชะลอตัวรับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การลงทุนของภาคธุรกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัท
แต่ปีหน้าเชื่อว่าภาคธุรกิจจะเริ่มกลับมาทยอยลงทุนอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ส่งผลให้เริ่มกลับมาเปิดประเทศทำให้การติดต่อค้าขายกลับมามากขึ้น ส่งผลดีต่อธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมของบริษัททั้งในไทยและเวียดนามมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวขึ้น โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ดินในปี 64 ไม่ต่ำกว่า 1,000 ไร่ จากปีนี้ที่ได้ลดเป้าลงเหลือ 900 ไร่
อย่างไรก็ตาม หากภาครัฐยังไม่สามารถเปิดประเทศได้ในอีก 2 เดือนข้างหน้าก็อาจจะทำให้ยอดขายที่ดินในปีนี้ลดลงเหลือ 600-700 ไร่
"ปีนี้เป็นปีที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ทำให้ธุรกิจชะลอตัวลง แต่เชื่อว่าปีหน้าจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ จากสถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มดีขึ้น และจะทำให้รายได้ของ WHA ทำ All time high ในปี 64 ได้แน่นอน"นางสาวจรีพร กล่าว
นางสาวจรีพร กล่าวว่า สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายซัพพลายเชนที่จะเห็นการกลับมามากขึ้นในปี 64 และจะเป็นปัจจัยหนุนต่อการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรมในเวียดนาม ซึ่งถือเป็นประเทศที่นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ให้ความสนใจย้ายฐานการผลิตเข้ามาในเวียดนามเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มสินค้าเทคโนโลยี โดยนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทในเวียดนาม ปัจจุบันมีพื้นที่ 1,000 ไร่ มียอดขายแล้ว 300 ไร่ โดยยังมีลูกค้าที่สนใจเข้ามาซื้อที่ดิน แต่ติดปัญหาของการปิดประเทศทำให้ยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้
สำหรับแผนการขยายนิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในเวียดนาม บริษัทจะเข้าไปลงทุนในพื้นที่ทางตอนใต้ของกรุงฮานอย พื้นที่ 20,000 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้เจรจาซื้อที่ดินไปแล้วเบื้องต้น แต่ยังไม่สามารถเดินทางเข้าไปดูพื้นที่และทำข้อตกลงได้ ทำให้การพัฒนาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในประเทศเวียดนามล่าช้าออกไปบ้าง แต่ถือว่าไม่กระทบต่อบริษัทแต่อย่างใด และปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจยังไม่กลับมาฟื้นตัวขึ้นทำให้บริษัทยังไม่เร่งรีบลงทุนโครงการใหม่มากนัก
นางสาวจรีพร กล่าวอีกว่า ปีนี้เดิมบริษัทตั้งงบลงทุนไว้ 9 พันล้านบาท แต่ได้ปรับลดลงมาเหลือ 5.3 พันล้านบาท เนื่องจากเลื่อนการลงทุนบางส่วนออกไป เช่น การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ในเวียดนาม และการก่อสร้างอาคาร WHA Tower ที่ล่าช้าออกไป ทำให้เลี่อนงบลงทุนบางส่วนไปใช้ในปี 64 แต่บริษัทยังคงงบลงทุน 5 ปี (ปี 63-67) ไว้ที่ 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงบลงทุนที่รวมการเข้าซื้อกิจการ (M&A) ด้วย
ขณะที่สถานการณ์ล่าสุด บริษัทมองเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของธุรกิจทั้ง 4 กลุ่ม ภายในปีนี้ โดยธุรกิจโลจิสติกส์ ในไตรมาสที่ 3/63 ได้ลงนามสัญญาอีกประมาณ 40,000 ตารางเมตร นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างการเจรจาให้เช่าพื้นที่คลังสินค้าอีกกว่า 170,000 ตารางเมตรกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจอาหาร และธุรกิจผู้ประกอบการโลจิสติกส์ โดยบริษัทคาดว่าพื้นที่คลังสินค้าภายใต้การถือครองและบริหารทั้งหมดของบริษัท จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,560,000 ตารางเมตร ภายในสิ้นปีนี้
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม การก่อสร้างของนิคมอุตสาหกรรมแห่งที่ 11 ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 จะเริ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4/63 หลังจากได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการก่อสร้างและผ่านการรับรองตามมาตรฐานของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ไปแล้วก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ โครงการขยายนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเออีสเทิร์นซีบอร์ด 4 ในพื้นที่พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ สระบุรี 2 มีกำหนดเริ่มดำเนินการตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ทั้งนี้ บริษัทพร้อมรองรับการขยายธุรกิจในอนาคตเพื่อเตรียมต้อนรับนักลงทุนที่วางแผนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยจากผลกระทบของความตึงเครียดทางการค้าหรือการหยุดชะงักของซัพพลายเชน
ธุรกิจสาธารณูปโภค และพลังงาน บมจ.ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ (WHAUP) มั่นใจครึ่งปีหลังธุรกิจฟื้นตัวได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์ภัยแล้งคลี่คลาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการกลับมาดำเนินธุรกิจได้อย่างปกติ โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและยานยนต์ รวมถึงการดำเนินธุรกิจของลูกค้ากลุ่มใหม่ ขณะที่ในส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้าภายในสิ้นปีนี้ WHAUP ตั้งเป้ากำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 592 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็นพลังงานเชิงพาณิชย์ 547 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา 42 เมกะวัตต์ และที่เหลืออีก 3 เมกะวัตต์ มาจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมชลบุรี คลีนเอ็นเนอร์ยี (CCE)
ธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม ยังคงเดินหน้าติดตั้งไฟเบอร์ออฟติก (FTTx) ให้ครอบคลุมพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 10 แห่งในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันติดตั้งอย่างสมบูรณ์แบบแล้วในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด 6 แห่ง และเร่งดำเนินการติดตั้งให้เสร็จสิ้นอีก 4 แห่ง นอกจากนี้ยังให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์กับลูกค้ารายใหญ่ภายในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคมชั้นนำอีกหลายราย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ได้ลงนามในสัญญาการให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์กับ บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค จำกัด (JasTel) ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตชั้นนำในประเทศและระหว่างประเทศ ในเครือบมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เพื่อช่วยดูแลระบบเน็ตเวิร์ก และให้บริการเช่าพื้นที่วางเครื่องเซิร์ฟเวอร์