นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงตามตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียต่างปรับตัวลงกันทั่วหน้าตามตลาดสหรัฐฯที่ร่วงลงจากแรงขายหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยี โดยตลาดมีความกังวลการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะทำให้เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวล่าช้า ซึ่งเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ซบเซา โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 54.4 ในเดือนก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 เดือน
นอกจากนี้ ถ้อยแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ระบุว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจคงจะเชื่องช้า ต้องมีมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจสหรัฐฯมาช่วย ซึ่งถ้ายังไม่มีก็อาจจะมีปัญหาได้ ทำให้มีแรงขายหุ้นออกมา
ส่วนราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่ปรับตัวลงไป 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา และตอบรับสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) เปิดเผยว่า สต็อกน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 1.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 18 ก.ย. ซึ่งเป็นการลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน
อย่างไรก็ดี ตลาดบ้านเราคงจะไม่ปรับตัวลงแรง แม้จะมีแรงกดดันจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยปี 64 โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะขยายตัวที่ 3.6% จากเดิมคาดการณ์ขยายตัว 5.0% หลังปรับลดคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือแค่ 9 ล้านรายในปี 64 จากเดิม 16.25 ล้านราย ทำให้อาจมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และกลุ่มโรงแรม ได้ อีกทั้งวันนี้ให้ติดตามการชุมนุมทางการเมืองด้วย
พร้อมให้แนวรับ 1,250-1,255 จุด ส่วนแนวต้าน 1,272-1,275 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (23 ก.ย.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 26,763.13 จุด ร่วงลง 525.05 จุด (-1.92%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 10,632.99 จุด ลดลง 330.65 จุด (-3.02%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,236.92 จุด ลดลง 78.65 จุด (-2.37%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 131.49 จุด, ดัชนี KOSPI ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ลดลง 37.62 จุด, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 204.68 จุด, ดัชนี TAIEX ตลาดหุ้นไต้หวัน ลดลง 96.40 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 13.99 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (23 ก.ย.63) 1,264.01 จุด ลดลง 3.62 จุด (-0.29%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 854.30 ล้านบาท เมื่อวันที่ 23 ก.ย.63
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (23 ก.ย.63) ปิดที่ 39.93 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 13 เซนต์ หรือ 0.3%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (23 ก.ย.) อยู่ที่ 0.33 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.59 อ่อนค่าจากวานนี้ ตลาดกังวลโควิดระบาดในยุโรปกระทบเศรษฐกิจ
- กนง.มติเอกฉันท์ "คง" ดอกเบี้ย 0.5% พร้อมปรับเพิ่ม "จีดีพี" ปีนี้หดตัวน้อยลงเหลือ 7.8% แต่หั่นคาดการณ์ เติบโตปีหน้าเหลือ 3.6% เหตุการท่องเที่ยว แนวโน้มชะลอตัวกว่าคาด ประเมินอีก 2 ปี เศรษฐกิจกลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด ด้าน "พาณิชย์"เผยส่งออกเดือนส.ค. หดตัว 7.9% ชี้ตลาดสหรัฐโตเด่นเดือนที่ 3 ยังประเมิน ทั้งปีติดลบ 5-8%
- นายกสมาคมอสังหาฯชี้โควิดลากยาว จุดเสี่ยงอสังหาฯไปต่อไม่ไหว หลังภาพรวมปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง 50% หวั่นหมดระยะพักหนี้ ยอดปฏิเสธสินเชื่อพุ่งต่อ แนะรัฐ"ลดภาษีโอนซื้อขายกิจการ" พยุงปิดกิจการ ถูกเจ้าหนี้ขายทอดตลาด ขณะ"เครดิตบูโร" เตือนจับตาหนี้ครัวเรือนพุ่ง กระทบหนี้ที่อยู่อาศัย
- แบงก์ชาติ มั่นใจตรวจสอบ ดูแล สถาบันการเงินใกล้ชิด สกัดฟอกเงินสนับสนุนก่อการร้าย ย้ำหากพบธุรกรรมน่าสงสัยต้องรายงานป.ป.ง. ส่วนกรณีเอกสาร FinCEN พบ "4 แบงก์ไทย" มีธุรกรรมน่าสงสัย ไม่ได้หมายความเป็นธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย ชี้ยังต้องรอตรวจสอบ ด้าน "กรุงไทย" เผยอยู่ระหว่างสอบแหล่งที่มาข้อมูล ลั่นพร้อมให้ความร่วมมือ ขณะหุ้นแบงก์ยังร่วงต่อเนื่อง
- น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ยอดการส่งออกไทยในเดือน ส.ค. 63 มีมูลค่า 20,212 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 7.94% แต่มีมูลค่าสูงเกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในรอบ 5 เดือน และติดลบน้อยลง เมื่อเทียบกับที่เคยลบสูงสุดถึง 23.17% ในเดือน มิ.ย. 63 ถือว่าพ้นจุดต่ำสุดแล้ว โดยสินค้าส่งออกสำคัญมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มเกษตรและอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม ทูน่ากระป๋อง เนื้อสุกร เครื่องปรุงรส 2.สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น คอมพิวเตอร์ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และ 3.สินค้าป้องกันการติดเชื้อ เช่น ถุงมือยาง
- นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท.ทำทุกวิถีทางเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 80 ล้านคน-ครั้งในปี 63 ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว หรือเอ็มโอยู กับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อดึงเศรษฐีภูธร หรือนักธุรกิจท้องถิ่นที่เป็นสมาชิกของหอการค้าทั่วประเทศให้เดินทางท่องเที่ยวในประเทศ เริ่มตั้งแต่เดือน พ.ย. 63-ก.พ. 64
*หุ้นเด่นวันนี้
- BCH (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 20 บาท คาดกำไร Q3/63 จะทรงตัว Y-Y ที่ระดับราว 400 ล้านบาท เป็นอย่างน้อย โดยยังได้แรงหนุนจากบริการตรวจหาเชื้อโตวิด-19 บริการ ASQ และรายได้ประกันสังคมที่แข็งแกร่ง และคาดได้ประโยชน์จาก Special Tourist Visa ที่ภาครัฐเตรียมเปิดรับชาวต่างชาติ
- ALT (คิงส์ฟอร์ด) "ซื้อเก็งกำไร"เป้า 4.30 บาท Backlog ยัง ณ สิ้นไตรมาส 2 ยังแข็งแกร่งที่ระดับ 1.73 พัน ลบ. ในช่วงที่เหลือของปีบริษัทยังคงรับรู้รายได้จากโครงการ Smart Grid (ประมาณ 400 ล้านบาท) และโครงการโครงข่ายรถไฟ (Strong Project อีก 167 ล้านบาท) ล่าสุดบริษัทร่วมทุนของ ALT อย่าง SIC มีการลงนาม MOU กับทาง กฟผ. ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อขยายโครงข่ายของ Fiber Space (ทั้งท่อใต้ดินและสายไฟบนดิน) ทำให้บริษัทมีขอบเขตการขยายงานในอนาคตไปอีกมาก ส่งผลให้รายได้ในอนาคตมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง สำหรับประมาณการกำไรปกติปี 2563-2564 โดยประเมินไว้ที่ระดับ 83 ล้านบาท และ 141 ล้านบาท พลิกจากขาดทุนในปี 2562 และเติบโตต่อเนื่อง +70%YoY ในปี 2564 ตามลำดับ