นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยในงานสัมมนา "เจาะกลยุทธ์การลงทุน หุ้น ทองคำ ตราสารหนี้ กองทุน ในช่วงโควิด-19" ว่า ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหลังร่วงลงไปที่ระดับ 900-1,000 จุด ในช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยในขณะนี้คงจะไม่ลงไปถึงระดับดังกล่าวอีกแล้ว เนื่องจากมองว่า Downside เริ่มจำกัด หรือน่าจะอยู่บริเวณ 1,200 จุด หากดูจากการปรับประมาณการ Corporate Earning ของนักวิเคราะห์ต่างประเทศที่เริ่มมีการปรับประมาณการขึ้น และการปรับลดประมาณการของนักวิเคราะห์ในประเทศน่าจะมีไม่มากแล้ว
ทั้งนี้มองตลาดหุ้นไทยจากนี้ยังน่าลงทุนอยู่ จาก Earnings yield Gap ปัจจุบันสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังพอสมควร หรือประมาณ 3% กว่าๆ ซึ่งถือว่ายังมีความน่าสนใจอยู่หากเทียบกับดอกเบี้ย ขณะที่ก็คาดการณ์ว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะกลับมาเป็นขาขึ้นได้ในช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า จากกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น รวมถึงสภาพคล่องในประเทศที่อยู่ในระดับสูง สอดคล้องกับทั่วโลก ทำให้ช่วยเพิ่มโอกาส Fund Flows กลับเข้าตลาดหุ้นไทย อีกทั้งเงินมีแนวโน้มกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ (Emerging market) ช่วงก่อนเลือกตั้งสหรัฐฯ
โดยแนะนักลงทุนให้ลงทุนใน 4 กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดมีกำไรเติบโตอย่างรวดเร็วในปี 64 ได้แก่ หุ้นขนาดเล็ก (SSET) จากระดับ Valuation ของหุ้นขนาดเล็กปรับลงมากที่สุด, กลุ่มอาหาร , เฮลแคร์ และค้าปลีก เป็นต้น
"ตลาดหุ้นไทย Downside คงเหลือไม่มากแล้ว ส่วนจะรีบาวด์เมื่อไหร่ขึ้นอยู่กับ Earning Outlook ว่าจะเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้นักวิเคราะห์คงปรับประมาณการกันเกือบจะเสร็จแล้ว โดยช่วงปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าน่าจะเริ่มเห็นโมเมนตัมของ Earning ที่เริ่มกลับมา และตลาดหุ้นก็น่าจะปรับตัวดีขึ้น"
นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นน่าจะไปไหนได้ไม่ไกล และดอกเบี้ยนโยบายน่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงปัจจุบันที่ 0.50% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว 3-5 ปี น่าจะปรับตัวสูงขึ้นแต่คงไม่มาก
สำหรับโอกาสการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ นักลงทุนที่ไม่สามารถรับความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ และดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอยู่ในระดับต่ำ ยังมองเป็นโอกาสในการเข้าซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของรัฐบาลที่ออกมามากขึ้นในปีนี้ ซึ่งมีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาลรุ่นปกติ ขณะที่โอกาสการลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชนของนักลงทุนทั่วไป ก็มองว่ามีโอกาสมากขึ้น โดยปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.63) การเสนอขายประชาชนทั่วไปมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาที่ 27% จากปีก่อน 17% รวมถึงยังมีการออกหุ้นกู้อันดับเครดิตสูง หรือ A- ขึ้นไปเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปมากขึ้น สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับที่ไม่มากนัก
นายวิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า ในภาวะแบบนี้ควรกระจายการลงทุนไปในทุก Sector โดยระยะสั้นแนะจัดพอร์ตการลงทุน แบ่งเป็น กองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ (fixed income) 40% จากดอกเบี้ยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำไปจนถึงสิ้นปี, หุ้นไทย 15% เนื่องด้วยหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลง 10-20% ซึ่งหากปรับตัวลงใกล้ระดับ 1,200 จุด ควรเพิ่มน้ำหนักขึ้น, หุ้นทั่วโลก ให้น้ำหนัก 12%, กองรีท 30% และทองคำ 3% จากคาดว่าราคาน่าจะแกว่งตัวลงในเร็วๆนี้ โดยให้รอจังหวะเข้าลงทุนเพิ่มในช่วง 1,750 เหรียญสหรัฐฯ/ออนซ์