บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) เผยไตรมาส 2 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 26% ทะลุเป้าตามคาด พร้อมมียอดขายรูปดอลลาร์ โตกว่า 14% ขณะที่ยอดขายในรูปบาทก็โตขึ้น 4% สวนกระแสค่าเงิน เป็นผลจากประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านต้นทุน และการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง ขณะเดียวกันยอดขายของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า และกุ้งมีการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก พร้อมมั่นใจครึ่งปีหลังสามารถเติบโตได้ตามเป้า
นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร TUF ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและบรรจุกระป๋องรายใหญ่ของไทย เปิดเผยถึง ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 50 ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิ 430.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 340.7 ล้านบาท โดยกำไรต่อหุ้นก็เพิ่มขึ้น 26% จาก 0.39 บาทในปี 2549 เป็น 0.49 บาท ในปีนี้
นอกจากนี้ในส่วนของรายได้จากการขายก็เพิ่มขึ้นทั้งในรูปของเงินเหรียญสหรัฐ และในรูปของเงินบาท โดยยอดขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐอยู่ที่ 396.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้น 14% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 49 ที่ 346.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันรายได้จากการขายในรูปของเงินบาทก็เพิ่มขึ้น 4% จาก 13,186 ล้านบาทในปี 2549 มาอยู่ที่ 13,728.4 ล้านบาทสำหรับปี 50 โดยมีรายได้รวมในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน จาก 13,259.9 ล้านบาทในปี 2549 เป็น 13,877.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% ในปี 50
ในช่วง 6 เดือนแรกบริษัทมีผลกำไรสุทธิทั้งสิ้น 957.9 ล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้น 1.10 บาท เพิ่มขึ้น 27% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 756.1 ล้านบาท และมีกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 0.87 บาท ขณะที่รายได้จากการขายในรูปของเงินเหรียญสหรัฐในช่วง 6 เดือนแรกก็เติบโตขึ้นเช่นกัน โดยมียอดขายทั้งสิ้นอยู่ที่ 757.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเติบโตขึ้น 9% เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2549 ที่ 697.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ปัจจุบันบริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 27,443 ล้านบาท
นายธีรพงศ์ กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 ของบริษัท ประเด็นในเรื่องของค่าเงินบาท ยังคงเป็นปัญหาต่อเนื่องสำหรับภาพรวมธุรกิจของบริษัท เนื่องจากกว่า 90% ของบริษัท มีรายได้มาจากการส่งออก ซึ่งบริษัทก็พยายามปรับตัวมาโดยตลอด รวมถึงการพยายามหามาตรการมารองรับ เพื่อให้กระทบต่อธุรกิจของบริษัทให้น้อยที่สุด โดยการใช้นโยบายบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อรองรับกับค่าเงินที่แข็งขึ้น แต่วิธีการจัดการนั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับกลไกของตลาดในขณะนั้นเป็นหลัก
พร้อมกับการบริหารจัดการต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ แต่อย่างไรก็ดี ในภาพรวมกลุ่มธุรกิจของบริษัทจะเห็นว่า บริษัทมีการดำเนินธุรกิจส่งออกจากในประเทศไทย และยังได้มีการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศอีก ซึ่งนับว่าเป็นส่วนผสมทางธุรกิจที่ทำให้บริษัทสามารถกระจายความเสี่ยงจากความหลากหลายของกลุ่มธุรกิจได้
จากกลยุทธ์ดังกล่าว ทำให้ในไตรมาสนี้บริษัทมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูง แม้ว่าจะประสบกับปัญหาของค่าเงินที่แข็งขึ้นถึง 8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แต่บริษัทยังสามารถมีกำไรสุทธิ ยอดขายในรูปดอลลาร์ ยอดขายรูปเงินบาท และรายได้รวม เพิ่มขึ้น 26% 14% 4% และ 5% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน บริษัทยังคงยึดนโยบายหลักในเรื่องของการสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นในเรื่องของการขยายตลาดใหม่ การเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับการเติบโต และการลงทุนใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักของเรา ทั้งนี้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
"การที่ยอดขายและกำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากยอดขายของผลิตภัณฑ์หลักของเราคือ ปลาทูน่า เพิ่มขึ้น 14% และผลิตภัณฑ์กุ้งที่เพิ่มขึ้น 9% ส่งผลให้ปริมาณขายรวมของไตรมาส 2 ปีนี้เพิ่มขึ้นถึง 9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาราคาวัตถุดิบปลาทูน่าสคริปแจ็คมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากราคาเฉลี่ยที่ 990 เหรียญต่อตันในเดือนมีนาคม 2550 ปรับขึ้นมาถึง 1,200 เหรียญต่อตันในเดือนกรกฏาคม 2550 นับว่าเป็นสถานการณ์ที่ค่อนข้างรุนแรงในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามบริษัทยังสามารถปรับตัวได้ เนื่องจากสามารถควบคุมต้นทุนได้อย่างเหมาะสม"นายธีรพงศ์กล่าว
ทั้งนี้คาดว่าสถานการณ์นี้น่าจะเป็นแค่ปัจจัยระยะสั้นเท่านั้น ในไตรมาส 4 สถานการณ์ในเรื่องของราคาปลาน่าจะดีขึ้น ในส่วนของผลิตภัณฑ์กุ้งนั้น ยังคงมีอัตราการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากบริษัทย่อย 2 บริษัทในอเมริกาคือ เอ็มเพรส อินเตอร์เนชั่นแนล และ ไทร-ยูเนี่ยน โฟรเซ่น ฟู้ดส์ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็ง มีผลการดำเนินงานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์กุ้ง
สำหรับสัดส่วนยอดขายตามผลิตภัณฑ์ในไตรมาส 2 นี้ ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ายังคงเป็นสินค้าหลักที่มีสัดส่วนยอดขาย 50% จากผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัท รองลงมาคือ กุ้งแช่แข็ง 19% ตามด้วยอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง 9% อาหารแมวบรรจุกระป๋อง 8% อาหารกุ้ง 7% ขายในประเทศ 4% และปลาหมึกแช่แข็ง 3% โดยมีตลาดส่งออกอยู่ที่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เอเชีย อัฟริกา ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง แคนาดา และอเมริกาใต้
“จากสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ต้องยอมรับว่าปีนี้นับว่าเป็นอีกปีหนึ่งที่ยากต่อการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากปัจจัยภายนอกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของค่าเงิน ราคาน้ำมัน และราคาของวัตถุดิบปลาทูน่าที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ดี บริษัทได้มีการติดตามสถานการณ์ในเรื่องเหล่านี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับหาแนวทางเพื่อรองรับกับสถานการณ์ต่างๆ อย่างรัดกุม ทั้งนี้เพื่อให้ผลการดำเนินงานของบริษัทมีอัตราการเติบโตที่มั่นคง และมีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง" นายธีรพงศ์ กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--