นายธนวงษ์ อารีรัชชกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) หรือเอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจี ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโปรแกรมระบบจัดเก็บข้อมูลการขนส่งขยะอัจฉริยะ (KoomKah Smart Manifest) ร่วมกับบริษัทในกลุ่มบมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น (AMATA) ได้แก่ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด โดยจะร่วมกันพัฒนาโปรแกรม KoomKah Smart Manifest ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ต่อยอดจากเว็บแอปพลิเคชัน "คุ้มค่า" (KoomKah) ของเอสซีจี ซึ่งถือเป็นโซลูชันด้านดิจิทัลแบบครบวงจรใช้ในการบริหารจัดการธนาคารขยะ โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่เพื่อรองรับการใช้งานการจัดเก็บข้อมูลขนส่งขยะภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะโดยเฉพาะ
เอสซีจีและอมตะ ต่างเห็นถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด การที่สององค์กรได้มาแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นร่วมกัน จะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดโครงการต่าง ๆ ไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น โครงการถนนพลาสติกรีไซเคิลที่เคยได้ทำร่วมกันมาก่อน
สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาโปรแกรม KoomKah Smart Manifest เพื่อช่วยในการบริหารจัดการขยะของนิคมอุตสาหกรรมอมตะนั้น ทางเอสซีจีจะนำความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัลผสมผสานกับประสบการณ์การทำเว็บแอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า’ (KoomKah) ที่มีธนาคารขยะกว่า 70 แห่งใช้งานอย่างต่อเนื่อง คาดว่าดิจิทัลแพลตฟอร์ม KoomKah Smart Manifest จะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานภายในสิ้นปีนี้
นายอัครเรศร์ ชูช่วย กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ ฟาซิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการของอมตะที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดการก้าวสู่ความเป็นเมืองอัจฉริยะด้านสิ่งแวดล้อม (Smart Environment) ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการข้อมูลการจัดเก็บขยะภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ
อย่างไรก็ตามหากการพัฒนาโปรแกรมนี้ประสบความสำเร็จจะก่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากผู้ประกอบการภายในนิคมฯ มากขึ้นด้านการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจร ซึ่งมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งมีแผนในการส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบอมตะได้นำโปรแกรมไปประยุกต์ใช้ในการจัดเก็บข้อมูลขยะภายในชุมชนอีกด้วย
ปัจจุบัน มีธนาคารขยะที่ใช้งานเว็บแอปพลิเคชัน ‘คุ้มค่า’ (KoomKah) แล้วกว่า 70 แห่งทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยมีธนาคารขยะทั้งในรูปแบบองค์กร และหน่วยงานภายในชุมชน สถานศึกษา บริษัท หรือห้างร้าน รวมไปถึงโครงการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะให้ถูกต้อง เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดประโยชน์แทนการฝังกลบ ซึ่งนอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) แล้ว ยังช่วยลดปัญหาขยะบกที่ไหลสู่ทะเล รวมถึงลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย
‘คุ้มค่า’ (KoomKah) พร้อมพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นโซลูชันด้านดิจิทัลแบบครบวงจร (Digital Solutions) ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการบันทึกข้อมูลขยะเป็นประจำทุกวัน และมีสมาชิกเป็นจำนวนมาก โดยสามารถปรับแต่งเว็บแอปพลิเคชันให้เหมาะสมกับระบบและการใช้งานของแต่ละที่ได้