นายเกรียงชัย บุญโพธิ์อภิชาติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส และ Chief Financial Officer บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) เปิดเผยว่า การออกเสนอขายหุ้นกู้ "ซีพี ออลล์" เมื่อวันที่ 21-22, 24-25 และ 28 กันยายนที่ผ่านมานั้น ได้รับการตอบรับจากผู้ลงทุนเป็นอย่างดี จนทำให้บริษัทสามารถออกหุ้นกู้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งบริษัทจะนำเงินที่ได้ไปใช้สร้างโอกาสการเติบไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
โดยหุ้นกู้ที่ออกเสนอขาย เป็นหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน และมีผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ รวมจำนวน 4 รุ่น ประกอบด้วย รุ่นที่เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนทั่วไป อายุ 4 ปี 9 เดือน 1 วัน อัตราดอกเบี้ย 3.00% ต่อปี และอีก 3 รุ่นที่เสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนรายใหญ่ และ/หรือผู้ลงทุนสถาบัน คือ อายุ 2 ปี 5 เดือน 17 วัน อัตราดอกเบี้ย 1.90% ต่อปี อายุ 9 ปี 7 เดือน 14 วัน อัตราดอกเบี้ย 3.40% ต่อปี และอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ย 3.90% ต่อปี
"บริษัทขอขอบคุณผู้ลงทุนที่ไว้วางใจและให้ความสนใจจองซื้อหุ้นกู้ ซีพี ออลล์ รวมทั้งขอบคุณ ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา , ธนาคารกสิกรไทย , ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์เกียรตินาคินภัทร ผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ ที่เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในครั้งนี้ โดยหลังจากนี้ ซีพี ออลล์ จะนำเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นกู้ไปสร้างโอกาสในการเติบโต รวมถึงส่งต่อโอกาสต่างๆ ไปยังทุกภาคส่วนในสังคมไทย"นายเกรียงชัย
ด้านสถาบันการเงินผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ บมจ.ซีพี ออลล์ ระบุว่า ความสำเร็จในการเสนอขายหุ้นกู้ดังกล่าว มาจากการที่หุ้นกู้ ซีพี ออลล์ สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ลงทุนที่แสวงหาการลงทุนในตราสารที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจและเป็นกิจการที่มีความมั่นคงภายใต้อุตสาหกรรมค้าปลีกที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตสูง ซึ่งการจัดอันดับของ ทริสเรทติ้งที่ระดับ AA- นั้นได้สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทย
ขณะเดียวกัน ซีพี ออลล์ ยังปรับตัวให้พร้อมกับการมุ่งสู่การให้บริการผ่านออนไลน์ และธุรกิจ O2O ทั้งการให้บริการผ่านออลล์ ออนไลน์ รวมถึงบริการเดลิเวอรี่ของ "เซเว่น อีเลฟเว่น" เพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค ตอกย้ำให้ผู้ลงทุนมั่นใจในโอกาสเติบโตในอนาคต
ก่อนหน้านี้ CPALL ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัท ครั้งที่ 2/2563 มูลค่ารวมไม่เกิน 25,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 รุ่น เพื่อนำเงินไปใช้ชำระคืนหนี้จากการออกตราสารหนี้ไม่เกิน 11,000 ล้านบาทภายในปี 63 และอีกจำนวนไม่เกิน 13,900 ล้านบาทจะใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการของบริษัท และ/หรือใช้สำหรับการไถ่ถอนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนภายในปี 64 บางส่วน