นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ขยายการผ่อนคลายมาตรการสำรอง 30% สำหรับเงินทุนจากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น ไม่ว่าจะเป็นตลาดตราสารหนี้ หรือกองทุนรวม และการลงทุนด้านอื่นๆ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจส่วนรวม
พร้อมทั้ง ผ่อนคลายหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้มีการนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกขึ้น เพื่อลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาท
นางภัทรียา กล่าวในโอกาสการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่ตั้งกระทู้ถามสดกรณีปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทว่า นับจากต้นปี 50 จนถึงวานนี้มีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยถึง 1.13 แสนล้านบาท ซึ่งยอมรับว่าผลส่วนหนึ่งของเงินลงทุนดังกล่าวทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น แต่การที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 6% มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เป็นเพราะมีองค์ประกอบอื่น คือ การส่งออกยังขยายตัวได้ดี และยังมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงกว่าประเทศอื่น
"เหตุที่ทำให้เรามีการเกินดุลการค้าอย่างมากนั้น ทำให้ค่าเงินบาทแข็งตัวขึ้นตามเงินทุนไหลเข้ามา ซึ่งรวมถึงดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย ซึ่งมาจาการบริการ การท่องเที่ยว ทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศ เป็นหตุให้บาทแข็งค่าขึ้นมาก"นางภัทรียา กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่าน ๆ มามีเงินทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยมากเช่นเดียวกัน แต่ไม่ได้มีผลทำให้เงินบาทแข็งค่ามากเท่ากับปีนี้
ถ้าย้อนกลับไปดูเมื่อปี 48 มีเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน 1.18 แสนล้านบาท แต่เงินบาทกลับอ่อนค่าลง 5.2% จาก 38.99 บาท เมื่อสิ้นปี 47 มาอยู่ที่ 41.01 บาท เมื่อสิ้นปี 48 หรือในปี 49 มีเงินทุนจากต่างชาติเข้ามา 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งไม่มากเท่ากับปีก่อนหน้า แต่ก็มีผลต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นประมาณ 12%
ดังนั้น การที่เงินลงทุนต่างชาติเข้ามาคงมีผลต่อค่าเงินบาทบ้าง แต่ว่าไม่ได้เป็นตัวหลักที่ทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นถึงเท่ากับในปัจจุบันนี้
ขณะเดียวกันหากเปรียบเทียบว่าหตุการณ์ในไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน จะเห็นว่าเงินทุนจากต่างประเทศก็ไหลเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศอื่นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย หรือ ฟิลิปปินส์ และก็มีผลต่อราคาหลักทรัพย์และตลาดหุ้นประเทศนั้นๆเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ในรอบปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของตลาดหุ้นมาเลเซียได้ปรับขึ้น 38.9%, ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ปรับขึ้น 38.5% , ตลาดหุ้นอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 60% ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 43.7% ขณะที่ตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้น 17.3% เท่านั้น ซึ่งปรับขึ้นมาน้อยกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคนี้
ขณะที่ค่าเงินของไทยแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่น ถ้าเทียบในช่วงเดียวกันที่ราคาหลักทรัพย์ปรับขึ้นมา ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาถึง 11.30% ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ที่ค่าเงินเปโซแข็งค่า 11.62% ขณะที่ริงกิตมาเลเซียแข็งค่า 5.24% ดอลลาร์สิงคโปร์ 4.02% รูเปี๊ยะห์อินโดนีเซียกลับอ่อนค่าลง
"เหตุการณ์นี้ก็เกิดขึ้นในประเทศอื่น คือมีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในประเทศ และมีผลต่อราคาหลักทรัพย์ยิ่งกว่าไทย แต่ขณะเดียวกัน ค่าเงินก็ไม่ได้แข็งค่าขึ้นมามากเท่ากับบ้านเรา อันนี้อาจเป็นผลจากการที่ในปีนี้เรามีสิ่งที่แตกต่าง คือเรามีการส่งออกที่มาก ดุลการค้าของเราเกินดุลมากกว่าที่อื่น"
อย่างไรก็ตาม การที่มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาในตลาดทุนนั้นไม่ได้เป็นเรื่องที่สมควรจะกีดกั้น หรือว่าไม่สมควรจะป้องกันไม่ให้เงินทุนต่างประเทศเข้ามา เพราะการที่เงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทย เนื่องจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยยังจูงใจถ้าเทียบด้วย PE ของตลาดหุ้นไทยยังต่ำกว่าที่อื่นค่อนข้างมาก โดยตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 13 เท่า ขณะที่ตลาดหุ้นในแถบนี้สูงถึง 16-20 เท่า เพราะฉะนั้นอาจจะยังคาดหวังการลงทุนอยู่ได้อีก ถ้าเทียบกับผลตอบแทนการลงทุน
เงินทุนที่เข้ามามากในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมามาจากผลทางการเมืองที่ชัดเจนขึ้น และมีการเตรียมการเรื่องการจัดการเลือกตั้ง โดยในช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. เป็นช่วงที่ต่างชาติเห็นความชัดเจนเรื่องการเมือง มีมูลค่าซื้อสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2-3 หมื่นล้านบาทจาก 1 หมื่นล้านบาทในช่วงก่อนหน้านี้ เป็นเหตุที่ผู้ลงทุนมีความมั่นใจมากขึ้น ก็พร้อมที่จะเข้ามาลงทุน และผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยก็ยังน่าจูงใจ ยังเป็นทางเลือกในการลงทุนของเขาอยู่
นางภัทรียา กล่าวว่า เงินทุนที่เข้ามาในประเทศควรจะนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว อย่างน้อยก็ต้องการให้เข้ามาแล้วอยู่ยาว ไม่ควรสร้างกฎเกณฑ์ที่ทำให้กังวลใจ หรือขาดความมั่นใจ เชื่อว่าถ้ามีเงินทุนเข้ามาในตลาดทุนแล้ว เงินเหล่านี้จะส่งต่อไปยังภาคอุตสาหกรรมไปพัฒนาปรับปรุงให้สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นๆในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจโดยรวม
--อินโฟเควสท์ โดย อภิญญา วุฒิเมธากุล/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--