นายวิน พรหมแพทย์, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดตัวกองทุนเปิดพรินซิเพิล โกลบอล คลาวด์ คอมพิวติ้ง หรือ Principal Global Cloud Computing Fund (PRINCIPAL GCLOUD) ชนิดสะสมมูลค่า: PRINCIPAL GCLOUD-A มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท กำหนดสั่งซื้อขั้นต่ำครั้งละ 1,000 บาท กำหนดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) วันที่ 1 ? 8 ตุลาคม 2563
โดยเป็นกองทุนรวมประเภท Feeder Fund ที่เข้าลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ โดยจะเข้าลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศ WisdomTree Cloud Computing UCITs ETF ชนิดหน่วยลงทุน (Share Class) USD Acc (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียว ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอน และบริหารโดย Wisdom Tree Management Ltd ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการจัดทำ ETF เน้นกลยุทธ์บริหารจัดการแบบ Passive Management (เชิงรับ) เพื่อมุ่งสร้างผลตอบแทนได้ใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิงคือ BVP NASDAQ Emerging Cloud NTR Index
จุดเด่นเน้นการลงทุนในหุ้นของธุรกิจที่มีรายได้หลักจาก Cloud Service ภายใต้เกณฑ์การคัดเลือกหุ้นที่แข็งแกร่ง และ BVP NASDAQ Emerging Cloud NTR Index ใช้วิธีจัดสัดส่วนการลงทุนแบบ Equal-weighted Allocation ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนในภาวะที่ภาพรวมธุรกิจเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และเป็นดัชนีที่มีประวัติผลการดำเนินงานย้อนหลังที่โดดเด่นเหนือกว่าดัชนีหุ้นเทคโนโลยีอื่นๆ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาและตั้งแต่จัดตั้งกองทุน นอกจากนี้คาดว่ากองทุนฯ จะได้รับประโยชน์จากการรีบาลานซ์ดัชนีเพื่อปรับสมดุลของพอร์ตการลงทุนเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กองทุน WisdomTree Cloud Computing UCITs ETF มีสถิติย้อนหลังที่โดดเด่น โดยให้อัตราผลตอบแทนนับจากจัดตั้งกองทุน (6 กันยายน 2562 - 31 สิงหาคม 2563) ให้อัตราผลตอบแทน 74% สูงกว่าดัชนี S&P 500 IT และ Nasdaq ที่ให้อัตราผลตอบแทน 53% และ 54% ตามลำดับ และผลตอบแทนนับจากต้นปี 1 มกราคม ? 31 สิงหาคม 2563 (YTD) 60% สูงกว่าดัชนี S&P 500 IT และ Nasdaq ที่ให้อัตราผลตอบแทน 26% และ 30% ตามลำดับในช่วงเวลาดังกล่าว (ที่มา : WisdomTree, Bloomberg, S&PG Global, Principal Asset Management )
หุ้นของบริษัทที่เข้าลงทุน อาทิ Zoom Video Communications ? Enterprise Storage, Collaboration, and Communications ผู้นำอันดับ 1 ของโลกในธุรกิจออนไลน์ วิดีโอ คอนเฟอเรนซิ่ง ที่มีส่วนแบ่งตลาดถึง 64% ซึ่งมีการพัฒนาแพลตฟอร์มอยู่ตลอดเพื่อรองรับการทำงานแบบรีโมต เวิร์คกิ้ง, Shopify ? E-Commerce & Payment Processing ผู้ให้บริการ E-Commerce Solutions เพื่อการจำหน่ายสินค้าออนไลน์แบบครบวงจร ซึ่งมีรายได้กว่า 714 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เติบโตเกือบเท่าตัวในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้, Adobe ? Publishing ผู้นำธุรกิจครีเอทีฟ คลาวด์ ที่ตอบโจทย์โลกดิจิทัล มีเดีย ซึ่งมีรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังจากเปลี่ยนระบบจัดเก็บค่าบริการเป็นแบบ Subscription (ที่มา:Individual company website 2Q20, Principal Asset Management)
"ปัจจุบันการใช้งานคลาวด์ กำลังกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของโลก เช่นเดียวกับพลังงานไฟฟ้า เครือข่ายการสื่อสาร และยังมีโอกาสเติบโตได้อีก เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของไลฟ์สไตล์ในยุคดิจิทัล การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น การเกิดขึ้นของ Internet of Things และการใช้ Big Data ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ดังนั้นจึงมีโอกาสเติบโตอย่างมีศักยภาพพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล แนะนำเป็นหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจและเพิ่มเติมในพอร์ตการลงทุน" นายวิน กล่าว
นายวิน กล่าวต่อว่า ภาพรวมธุรกิจคลาวด์ เซอร์วิสในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยนับจากปี 2551 - 2563 มูลค่าตลาดรวมทั่วโลกมีอัตราเติบโตถึง 44 เท่า และประเมินว่าธุรกิจคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) ทั่วโลกในปัจจุบัน มีมูลค่าตลาดรวมเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกในอนาคต โดย Gartner บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านไอทีชั้นนำของโลก ประเมินว่าภาพรวมธุรกิจให้บริการคลาวด์ คอมพิวติ้ง ในปี 2562 - 2568 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 21%
เนื่องจากความต้องการพื้นที่เพื่อจัดเก็บและจัดการฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่มีอัตราเติบโตอย่างมาก และยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคตจากการขยายตัวของสังคมออนไลน์ ส่งผลให้การใช้งานคลาวด์ คอมพิวติ้ง กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและการทำงานในยุคดิจิทัลที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก โดยมีโรคโควิด-19 เป็นปัจจัยเร่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เช่น ธุรกิจอี-คอมเมิร์ช, การเรียนและทำงานผ่านระบบออนไลน์
"จากปัจจัยดังกล่าว จึงเป็นโอกาสดีที่จะเข้าลงทุนในหุ้นของบริษัทที่มีรายได้หลักจากการให้บริการคลาวด์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเพื่อให้บริการที่มากกว่าการจัดเก็บข้อมูลอย่างปลอดภัยโดยไม่ต้องมีเซิร์ฟเวอร์ (Serverless) แต่ยังครอบคลุมถึงระบบประมวลผลข้อมูล ระบบเครือข่าย เซิร์ฟเวอร์และแอปพลิเคชั่น เพื่อให้บริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตตามความต้องการของผู้ใช้งานได้ทุกที่ ทุกเวลา สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินธุรกิจและกำหนดกลยุทธ์องค์กร ทำให้คลาวด์ เซอร์วิส เข้ามาแทนที่การลงทุนติดตั้งเซิร์ฟเวอร์เองของบริษัทต่างๆ เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดด้านเครือข่ายและพื้นที่จัดวางเซิร์ฟเวอร์ และค่าใช้จ่ายในการดูแลรวมถึงอัพเดตถูกรวมอยู่กับค่าใช้บริการอยู่แล้ว
จุดเด่นอีกสิ่งคือผู้ให้บริการมีรายได้ที่สม่ำเสมอจากค่าบริการสมาชิกแบบรายเดือนหรือ Subscription ทำให้สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องหรือ Recurring Income และเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้อีกในอนาคต เนื่องจากในปัจจุบันธุรกิจคลาวด์ คอมพิวติ้ง มีส่วนแบ่งในตลาดซอฟท์แวร์โดยรวมเพียง 30% เท่านั้น และเป็นธุรกิจที่ได้รับผลเชิงบวกจากโควิด-19 และมีความโดดเด่นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและยุค New Normal"