ตลท.วอนบจ.ไตร่ตรองก่อนเพิกถอน หลังพบเตรียมจ่อคิวอีก 5 ราย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 13, 2007 17:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          แหล่งข่าวระบุว่า จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ในช่วง 7 เดือนแรกปีนี้(ม.ค.-ก.ค.50) พบว่า มีบริษัทจดทะเบียนเพิกถอนออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนไปแล้ว 3 ราย มูลค่าตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแค็ป)รวม 4,994.1 ล้านบาท ประกอบด้วย บริษัท อยุธยา ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) AYAL, บริษัท อาปิโก ฟอร์จจิ้ง จำกัด (มหาชน) AF, และบริษัท โรงแรมราชดำริ จำกัด (มหาชน)RHC 
ทั้งนี้ยังมีอีก 5 บริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนคือ บริษัท ไทยพาณิชย์ลีสซิ่ง จำกัด (มหาชน), SCBL ธนาคาร ธนชาต จำกัด(มหาชน)TBANK, ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด (มหาชน) SCBT, บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) UCOM และ บริษัท ยูเนี่ยนฟุทแวร์ จำกัด (มหาชน) UF ซึ่งมีมาร์เก็ตแค็ปเมื่อ 9 ส.ค.50 ทั้งสิ้น 71,771.13 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 49 ที่มีบริษัทเพิกถอนเพียง 4 บริษัท มาร์เก็ตแค็ปรวม 49,185.28 ล้านบาท
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสอบถามเหตุผลของบริษัทจดทะเบียนทุกครั้งที่ขอเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ เพราะหากเป็นไปได้ก็ไม่ต้องการให้เพิกถอนออกไป โดยจะพยายามร่วมหาทางแก้ปัญหา หากปัญหาที่ขอเพิกถอนมาจากการแข่งขันก็จะพยายามหารือให้มีการควบรวมกันในกลุ่มเพื่อเพิ่มขนาดให้ใหญ่ขึ้น ลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน แต่หากการเพิกถอนมาจากการปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มเองตลาดหลักทรัพย์ฯ คงไม่สามารถห้ามได้
"หากนับจำนวนบริษัทที่ออกไปก็คงไม่แตกต่างจากปีก่อนมากนัก ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปรับโครงการภายในกลุ่มธุรกิจเอง ทำให้โครงสร้างผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่เรากำหนด ก็ต้องเลือกที่จะถอนตัวออกไป มีเพียงไม่กี่รายที่เกิดจากปัญหาการขาดทุนหรือไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อได้ จึงเลือกที่จะขอออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน ซึ่งเราก็ไม่ต้องการให้ออกไป"นางภัทรียากล่าว
ส่วนธุรกิจในกลุ่มรองเท้าและผู้ผลิตเสื้อผ้าที่กำลังมีประสบปัญหาจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น นางภัทรียากล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ได้เรียกบริษัทใดในจำนวน 10 รายที่เคยบอกว่าจับตาดูมาสอบถามถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น แต่มีบางบริษัทที่ชี้แจงเข้ามาเองและพบว่าไม่ได้มีปัญหาแต่อย่างใด บางรายมีคำสั่งผลิตสินค้าไปจนถึงกลางปี 51 ซึ่งผลการดำเนินงานจะสะท้อนในงบการเงินอยู่แล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 2
นางภัทรียา ยังกล่าวถึงบริษัท พาวเวอร์ พี จำกัด(มหาชน) ที่ไม่ยอมให้ผู้สอบบัญชีเข้าไปตรวจสอบงบการเงินพิเศษตามคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ว่า ตลาดหลักทรัพย์ให้เวลาเพาเวอร์พี แก้ไขงบการเงินตามที่ก.ล.ต.สั่งจนถึงวันที่ 27 ส.ค. เพราะบริษัทชี้แจงว่าอยู่ระหว่างการฟ้องร้องก.ล.ต.ต่อศาลปกครองว่าบริษัทจัดทำงบการเงินอย่างถูกต้อง
อย่างไรก็ดี หากล่าช้ากว่ากำหนดจะถือว่าบริษัทเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน เพราะงบการเงินถือเป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นบริษัทต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ