AOT ส่อเลื่อนลงทุนขยายดอนเมืองเฟส 3 อย่างน้อย 2 ปีหลังต้องทำ EIA ใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 1, 2020 12:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) หรือ ทอท.เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์" ถึงกรณีที่สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ให้จัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการพัฒนาขยายท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 ใหม่ว่า เนื่องจากในรายงาน EIA ชุดเดิม AOT ได้ใช้ความสามารถรองรับผู้โดยสารตามดีไซน์ของอาคาร ที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคน/ปี แต่กพท.จะใช้เกณฑ์การประเมินจำนวนผู้โดยสารที่เกิดขึ้นจริง ทำให้รายงานชุดเดิมพ้นสภาพ ดังนั้นจึงต้องเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่ต้น อาทิ การเปิดรับฟังความคิดเห็น วัดเส้นเสียง เป็นต้น โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาอย่างเร็ว 2 ปี

"โครงการฯ Delay ไป ที่หนักใจ การฟื้นตัวหลังโควิดก็ไม่ได้เหมือน pattern เดิม ปี 63-64 ยุโรปก็ยังแป๊ก ก็ยังต้องขึ้นกับการบินในประเทศ ส่วนอินเตอร์ คิดว่าจีน และภูมิภาคน่าจะได้ ก็จะทำให้ดอนเมืองแออัด ส่วนสุวรรณภูมิที่รับ Long Haul ก็โล่ง ...ดอนเมืองมีบินในประเทศก็เหนื่อยแล้ว หากเปิดประเทศ แล้วบิน Short hual ก็ยังเหนื่อย"นายนิตินัย กล่าว

ปัจจุบัน จำนวนผู้โดยสารที่สนามบินดอนเมืองอยู่ที่วันละ 40,000 คน เทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิดมี 50,000-60,000 คน/วัน และช่วงพีคมีจำนวน 70,000-80,000 คน/วัน ซึ่งลดลงไป 10-40% จากเดิมติดลบ 50-60% การฟื้นตัวของสนามบินดอนเมืองก็น่าจะกลับมาเร็ว เพราะขณะนี้ได้ทำการบินเส้นทางในประเทศ และคาดว่าในปี 64 น่าจะกลับไปบินได้ที่จีน และในตลาดเอเชีย ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ยังไม่สามารถทำการบินระหว่างประเทศได้

ขณะเดียวกันก็ต้องรอ บมจ.การบินไทย (THAI) ทำแผนฟื้นฟูกิจการก่อนว่าจะคืน slot ที่สนามบินสุวรรณภูมิเท่าไร โดยคาดว่า ม.ค.-ก.พ.64 การบินไทยน่าจะจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จแล้ว เพื่อมาประกอบการการบริหารจัดการ อย่างไรก็ดี สายการบินไทยแอร์เอเชีย ได้มาเปิดทำการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิบ้างแล้ว

นายนิตินัย กล่าวย้ำว่า บริษัทจะมีแผนงานการบริหารจัดการทั้งสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อให้เกิดสมดุล (Balance) ให้ได้มากที่สุด

สำหรับความคืบหน้าการเดินหน้าลงทุนโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion)ของสนามบินสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้รอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)หลังจากที่ได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมล็อตสุดท้ายไปให้สภาพัฒน์แล้ว รวมถึงให้ข้อมูลกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)แล้ว

ส่วนงานก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 หรือ Runway 3 ทาง EIA ให้บริษัทชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเสียงให้เสร็จก่อน ซึ่งยังมีเหลือ 5-6% ที่ไม่ได้มารับค่าชเชยเพราะหาเจ้าของไม่เจอ ซึ่งล่าสุดได้วางจำนวนเงินชดเชยไว้ที่กรมบังคับคดี หากผู้มีสิทธิได้รับชดเชยปรากฎตัวก็ให้ไปรับที่กรมบังคับคดี จากนั้น ก็จะกำหนดวันเริ่มงานก่อสร้างได้ ส่วนงานก่อสร้าง อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (SAT1) คาดเปิดบริการได้ในมี.ค.65

*เลื่อนลงทุนสนามบินใหม่

กรรมการผู้อำนายการใหญ่ AOT กล่าวว่าความคืบหน้าสนามบินที่จะสร้างแห่งใหม่ 2 แห่ง คือ ภาคใต้ ที่ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา และภาคเหนือที่จ.เชียงใหม่สร้างบนพื้นที่รอยต่อเชื่อมกับลำพูนนั้น ทางกระทรวงคมนาคมให้ AOT จ้างที่ปรึกษากลางในการประเมินโครงการและความเป็นไปได้ของโครงการ การประเมินจำนวนผู้โดยสาร และตัวเลขการลงทุนรวมถึงจุดคุ้มทุน แม้ว่า AOT จะได้ทำการประเมินเสร็จเรียบร้อยแล้ว

ทั้งนี้ AOT อยู่ระหว่างร่างทีโออาร์จ้างที่ปรึกษากลาง คาดใช้เวลา 6 เดือน ประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ 1 ปีครึ่ง ก็คาดว่าจะใช้ระยะเวลานานในการลงทุนสนามบินใหม่ทั้ง 2 แห่ง

ส่วนสนามบินที่ AOT จะเข้าบริหารสนามบินภูมิภาคของกรมท่าอากาศยาน มีจำนวน 3 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี บุรีรัมย์ และ กระบี่ โดยเป็นในรูปแบบการรับจ้างบริหาร โดยระหว่างนี้รอกรมท่าอากาศยานเจรจากับกรมธนารักษ์ ถึงการส่งเงินสมทบของนอกงบประมาณ โดย Business Model จะนำรายได้ในการบริหารสนามบินมาหักต้นทุน กันเงินที่จะส่งลงทุนในอนาคต ส่วนที่เหลือจะนำรายได้แบ่งกัน โดยหากเจรจาแล้วพบว่ารายได้มีน้อยไม่คุ้มค่าก็อาจจะไม่เข้าไปบริหาร เพราะขณะนี้โควิดทำให้ตัวเลขผู้โดยสารแต่ละสนามบินลดลงและขาดทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ