นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ในไตรมาส 4 ของปี 2563 นี้ว่า นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนคาดเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 2563 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,300 จุด ซึ่งน้อยกว่าผลสำรวจของไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 1,383 จุด
สำหรับจุดสูงสุดของ SET Index ในช่วง ก.ค. ถึงสิ้นปี 2563 เฉลี่ยที่ระดับ 1,347 จุด ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 70.59 ที่คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,301-1,400 จุด และมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 23.53 ที่คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,201-1,300 ตามลำดับ คาดการณ์จุดต่ำสุดของ SET Index ระหว่างปีนับจากนี้มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุด ที่ 1,198 จุด
คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดเฉลี่ยที่ 57.36 บาท ลดจากการสำรวจครั้งก่อน 65.44 บาท โดย EPS Growth ของงบปี 2563 คาดว่า EPS Growth เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ -37
ทั้งนี้ บนสมมติฐานด้านตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปีนี้ มีค่าเฉลี่ยการขยายตัวที่ -7.81% ส่วนสมมติฐาน GDP ปี 2564 นั้นผู้ตอบทุกรายมองว่าเป็นบวกเฉลี่ยอยู่ที่ 3.91% ส่วนราคาน้ำมัน ผู้ตอบแบบสอบถามได้ปรับใช้สมมติฐาน ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยของปี 2563 ที่ 40.42 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในครึ่งหลังของปี 2563 ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก ผู้ตอบแบบสำรวจ 68.18% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก รองลงมาผู้ตอบ 54.55% คาดว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ส่วนปัจจัยอื่นๆ ไม่มีปัจจัยใดที่มีผู้ตอบถึง 50% ที่ระบุว่าเป็นบวก
ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลในด้านลบต่อตลาดทุนไทยในไตรมาส 4 ของปี 2563 ได้แก่ ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศ 100% รองลงมา คือปัจจัยด้านการเมืองในต่างประเทศ เป็นปัจจัยที่มีเสียงโหวต 70% ขึ้นไป รองลงมาสถานการณ์โควิด-19 เศรษฐกิจภายในประเทศ และ Fund Flow จากต่างประเทศสู่ตลาดทุนไทย 68.18% ตามลำดับ
เป็นที่น่าสังเกตว่าทิศทางดอกเบี้ยในประเทศนั้นผู้โหวตส่วนใหญ่มองว่าไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนในไตรมาส 4 โดยมีผู้โหวตเพียง 40.91% ที่มองว่าเป็นปัจจัยบวก แต่ไม่มีผู้ตอบที่มองแย้งว่าจะเป็นผลลบ
สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะว่าภาครัฐควรเร่งนโยบายเรื่องใดที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เสนอให้ภาครัฐใช้นโยบายการคลัง โดยเฉพาะการช่วยเหลือประชาชนให้มีกำลังซื้อ จำนวนร้อยละ 60 ของผู้ตอบ ได้แก่ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ช่วยเหลือผู้ว่างงาน และกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการ"ช้อปช่วยชาติ" ฯลฯ ทั้งนี้มีผู้ตอบร้อยละ 35 ที่เสนอให้เร่งโครงการลงทุนภาครัฐ มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน
นอกเหนือจากข้อเสนอดังกล่าว ด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ มีผู้ตอบร้อยละ 25 ข้อเสนอได้แก่ มาตรการลดภาษีเร่งการลงทุนภาคเอกชนหรือการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นักวิเคราะห์คาดการณ์คงที่ ในไตรมาส 4 ของปี 2563 ร้อยละ 81 ของผู้ตอบ และคาดว่าปรับลด 0.25% ร้อยละ 19 ตามลำดับ
สำหรับการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุน และคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ในไตรมาส 4 ของปี 2563 นี้ มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 22 บริษัท แบ่งเป็น บริษัทหลักทรัพย์จำนวน 16 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 5 บริษัท และบริษัทโกลด์ ฟิวส์เจอร์ส 1 บริษัท