บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มุ่งเป็น Innovation Organization พร้อมเปิดบริการ 5G อย่างเต็มรูปแบบ จากแพ็กเกจและดิจิทัล คอนเทนท์ และสร้างโอกาสและขีดความสามารถให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของประเทศต่อเนื่องจาก 5G รวมทั้งนำ 5G พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 30 ปี ADVANC ได้ส่งมอบให้กับภาครัฐ เป็นมูลค่ารวมกว่า 915,000 ล้านบาท พร้อมการลงทุนต่อเนื่องกว่า 1.1 ล้านล้านบาท และในปีนี้ได้เตรียมงบลงทุนไว้ที่ 35,000 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นตามลำดับ โดยในโอกาสครบรอบ 30 ปีเราตั้งใจอย่างยิ่งที่จะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาประเทศให้พลิกฟื้นเศรษฐกิจก้าวข้ามความท้าทายได้อย่างแข็งแรง
โดยจุดเริ่มต้นของทศวรรษใหม่ของเอไอเอส คือ เทคโนโลยี 5G ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ ทั้งในแง่ของการมอบประสบการณ์ด้านการสื่อสารในโลกเสมือนจริงให้แก่คนไทย และยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเป็นโครงสร้างพื้นฐานให้ทุกภาคส่วน แม้แต่ภาคประชาสังคมเติบโตได้อย่างยั่งยืน
"ก้าวต่อไปของเอไอเอส ในขวบปีที่ 31 เรามุ่งหวังที่จะพลิกโฉมองค์กรสู่การเป็น Innovation Organization อย่างเต็มตัว ที่พร้อมสร้างสรรค์งานบริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์กับความต้องการขององค์กรและลูกค้าทุกเจเนอเรชัน พร้อมทั้งใช้ขีดความสามารถ เทคโนโลยี ร่วมยกระดับชีวิต ความเป็นอยู่ของคนไทยต่อไป"นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ADVANC กล่าว
ADVANC ได้เปิดตัวแพ็กเกจ AIS 5G Max Speed ครบทั้งความแรงและความบันเทิง ปลดล็อกขีดจำกัดความเร็วอินเทอร์เน็ตถึง 1 Gbps เมื่อใช้งานผ่านเครือข่าย AIS 5G จัดเต็มด้วยคอนเทนต์ ความบันเทิง AR และ VR ผ่านแว่น AIS PLAY VR รวมถึง AIS 5G Cloud Game ฟรี
นายสมชัย กล่าวว่า จากการเปิดตัวบริการแพ็กเกจเอไอเอส 5G ซึ่งมีระดับราคาตั้งแต่ 199-1,999 บาท/เดือน บริษัทฯ คาดหวังว่าจะมีผู้ใช้บริการ 5G เพิ่มเป็น 1 แสนรายภายในสิ้นปีนี้ จากปัจจุบันที่มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 6-7 หมื่นราย ขณะเดียวกันก็มองว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ก็จะมีโทรศัพท์มือถือที่รองรับเครือข่าย 5G ของหลายๆค่ายออกมาในตลาดเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 30 รุ่น จากปัจจุบันมีอยู่ 12 รุ่น และคาดการณ์ว่าในปี 64 จะเพิ่มขึ้นอีก 40 รุ่น ทำให้จะช่วยหนุนภาพการใช้บริการ 5G ในประเทศไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ยังมองว่าการใช้บริการ 5G จะครอบคลุมการใช้งานภาคอุตสาหกรรมภายใน 2 ปีนี้ (63-64) และน่าจะครอบคลุมการใช้งานทั่วประเทศได้ภายใน 5 ปี (63-67) จากปัจจุบันเอไอเอสได้ดำเนินการติดตั้งเครือข่าย 5G ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศแล้ว หรือครอบคลุมกรุงเทพและปริมณฑลครอบคลุมแล้วประมาณ 60% ,ทั่วประเทศ 16% และโครงการพัฒนาระเบียง เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประมาณ 90% อีกทั้งยังมีจำนวนผู้ใช้งานโดยรวมมากที่สุดกว่า 41 ล้านเลขหมาย (ณ มิถุนายน 2563)
"ปัจจุบันตลาดโทรศัพท์มือถือ 5G มีผู้ใช้บริการรวมทั้งสิ้น 1.5 แสนราย ซึ่งของเอไอเอสมีประมาณ 6-7 หมื่นราย และเชื่อว่าในไตรมาส 4/63 ก็จะมีโทรศัพท์มือถือออกมาในตลาดอีกจำนวนมากจากหลายๆ ค่าย โดยราคาก็จะอยู่ราว1-2 หมื่นบาท และคาดว่าปีหน้าก็จะมีการออกโทรศัพท์มือถือมาเพิ่มเติมอีก ซึ่งราคาของโทรศัพท์มือถือก็น่าจะปรับตัวลง หรือต่ำกว่า 1 หมื่นบาท ทำให้น่าจะช่วยหนุนการใช้งาน 5G มากขึ้น"
สำหรับกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมาได้ปรับตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ปัจจุบันก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับภาพการแข่งขันที่เริ่มเห็นผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือกลับมาทำการตลาดกันบ้างแล้ว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเจ้าว่าจะดำเนินการอย่างไร
แต่อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงคาดการณ์รายได้ปีนี้จะปรับตัวลดลง จากปีก่อนที่ทำได้ 1.8 แสนล้านบาท