นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะปรับตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากราคาน้ำมันดิบได้ดิ่งแรงเกือบ 4% เมื่อวานนี้ ทำให้ไปกดดันหุ้นในกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในต่างประเทศ ไปกดดันแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมัน อีกทั้งตัวเลขการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกเพิ่มขึ้นในเดือนที่แล้ว และสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 55.4 ในเดือนก.ย. จากระดับ 56.0 ในเดือนส.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 56.3
ด้านตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้เคลื่อนไหวทั้งในแดนบวก-ลบ และหลายตลาดปิดทำการ ทำให้คาดว่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยคงจะเงียบเหงา ทั้งนี้ ให้ติดตามตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐฯคืนนี้
พร้อมให้แนวรับไว้ที่ 1,240-1,230 จุด ส่วนแนวต้าน 1,251-1,252 ถัดไป 1,260 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (1 ต.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 27,816.90 จุด เพิ่มขึ้น 35.20 จุด (+0.13%),ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,380.80 จุด เพิ่มขึ้น 17.80 จุด (+0.53%), ดัชนี Nasdaq ปิดที่ 11,326.51 จุด เพิ่มขึ้น 159.00 จุด (+1.42%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เพิ่มขึ้น 109.68 จุด, ดัชนี FTSE STI ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ลดลง 0.40 จุด, ดัชนี FBMKLCI ตลาดหุ้นมาเลเซีย ลดลง 1.93 จุด
ส่วนตลาดหุ้นจีนปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันชาติ, ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดทำการวันนี้ เนื่องในเทศกาลไหว้พระจันทร์, ตลาดหุ้นไต้หวันปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันหยุด, ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ปิดทำการวันนี้ เนื่องในวันขอบคุณพระเจ้า
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (1 ต.ค.63) 1,247.59 จุด เพิ่มขึ้น 10.55 จุด (+0.85%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 121.10 ล้านบาท เมื่อวันที่ 1 ต.ค.63
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน พ.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (1 ต.ค.63) ปิดที่ 38.72 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 1.50 ดอลลาร์ หรือ 3.7%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (1 ต.ค.) อยู่ที่ 1.80 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 31.58 แข็งค่าหลังดอลล์อ่อน ขานรับมาตรการกระตุ้นศก.สหรัฐคืบหน้า
- "สุพัฒนพงษ์" หนุน คุมเข้มปล่อยซอฟท์โลน หวั่นกู้ไปโปะหนี้เดิมมากกว่าลงทุน ส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจระยะยาว แนะให้ใช้วิธีเจรจา พักหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้เป็นหลัก ส่วนซอฟท์โลนสายการบินในประเทศ 2.7 หมื่นล้าน ให้คลังพิจารณพร้อมวางเงื่อนไขไม่ใช้หนี้เช่า-ซื้อเครื่องบิน
- ปลัดคลังนัดหารือผู้บริหารระดับสูง ถกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น-กลาง เน้นดูแลตรงรายภาคธุรกิจที่ยังเดือดร้อน พร้อมมอบ สศค. ศึกษานำ "ชิมช้อปใช้" ปลุกคนรวยใช้จ่ายย้ำสัญญาณเศรษฐกิจมีทิศทางดีขึ้น ด้าน "แบงก์ชาติ" ระบุดัชนีเชื่อมั่นธุรกิจเดือนก.ย. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเดือนที่ห้า
- ส.อ.ท.เกาะติดปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายปี 63 ห่วงการกลับมาระบาดโควิดรอบ 2 การสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของ ธปท. และปัญหาการเมืองทั้งม็อบ และลุ้นแต่งตั้ง รมว.คลังคนใหม่ ที่มีผลต่อความเชื่อมั่น และการฟื้นตัว ศก.
- นายกรัฐมนตรี ชวนเอกชนลุยลงทุน 'อีอีซี' ต่อเนื่อง เผยยอดขอลงทุน 8 เดือน 277 โครงการกว่า 8.5 หมื่นล้านบาท กนอ.ลั่น พร้อมลุยสมาร์ทปาร์ค หลัง ครม.เห็นชอบ
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งหนังสือเวียนไปยังสถาบันการเงินทุกแห่งทั้งธนาคารพาณิชย์และแบงก์รัฐ ถึงแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย (มัลติ เครดิตเตอร์ส) โดยได้มีหลักเกณฑ์หลายด้าน เช่น หากเจ้าหนี้และลูกหนี้ร่วมมือพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยตามโครงการดีอาร์บิซแล้ว เจ้าหนี้ต้องไม่ถือว่าผิดเงื่อนไข จึงไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดหรือเรียกเก็บค่าบริการ เบี้ยปรับหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดเพิ่มเติมจากลูกหนี้ได้
*หุ้นเด่นวันนี้
- AMA (กรุงศรี) "ซื้อ"เป้า IAA Consensus 6.2 บาท ไตรมาส 3/63 คาดกำไรเพิ่มขึ้นโดดเด่น จากจีนคลาย lockdown หนุนกิจกรรมเดินเรือเร่งตัวขึ้น ส่วนการขนส่งทางบกยังดีต่อและได้ผลบวกจากภาครัฐหนุนใช้น้ำมันดีเซล B10 และ B20
- MINT (เคทีบี) "ซื้อ"เป้า 28 บาท แม้จะมีมุมมองเป็นลบต่อ MINT เพราะมีสัดส่วนโรงแรม NH Hotel ในสเปน 27% และที่กรุงมาดริดที่ 7% แต่อย่างไรก็ดี เชื่อว่า การ Partial lockdown รอบนี้จะไม่เข้มข้นเท่ารอบแรกของสเปนที่ห้ามออกจากบ้านเลย 6 สัปดาห์ช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ผลกระทบเชิงลบรอบนี้จะไม่มากเท่ารอบก่อน และคาดว่าราคาหุ้นของ MINT จะไม่ลงไปทำ New low อีกแล้ว เพราะรอบก่อนตลาดกังวลเรื่องการเพิ่มทุนด้วย แต่ปัจจุบัน MINT เพิ่มทุนเสร็จแล้วและมีสภาพคล่องที่เพียงพอแล้ว โดยระยะสั้นราคาหุ้นจะปรับตัวลดลงเพราะ sentiment เชิงลบดังกล่าว
- TU (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ"เป้า 18 บาท คงมุมมองเชิงบวกต่อกำไร H2/63 ที่จะฟื้นตัวโดย Q3/63 เป็นช่วง High Season ขณะที่ Red Lobster คาดขาดทุนลดลงและมองบวกต่อการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นและผู้บริหารใหม่ ด้านราคาหุ้นกลับมายืนเหนือแนวต้าน 14 บาทได้อีกครั้ง ทางเทคนิคเป็นสัญญาณเชิงบวก พร้อมคาดกำไรปกติปี 2563-2564 โตเฉลี่ยราว 10% ต่อปี ส่วน Valuation ซื้อขายที่ 2021PER เพียง 11.6 เท่า และคาดให้ Dividend Yield 4.3%