บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) ที่ระดับ "A-" พร้อมทั้งคงแนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ"
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงความเสี่ยงของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจากภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนสถานะทางการเงินที่อ่อนแอกว่าคาดในปี 2563 อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) และสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2563
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทและผลงานในธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าตามความต้องการของลูกค้า (Built-to-suit Warehouse) และธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมนอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานรายได้ประจำจำนวนมากที่บริษัทได้รับจากธุรกิจสินทรัพย์ให้เช่า ธุรกิจให้บริการสาธารณูปโภค และเงินปันผลจากการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้า ตลอดจนความยืดหยุ่นทางการเงินจากการขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT หรือทรัสต์ฯ) อีกด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทก็ถูกลดทอนลงจากความเสี่ยงของประเทศ และความเสี่ยงด้านกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทในต่างประเทศ ตลอดจนความผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- การลดลงของระดับหนี้ยังคงเป็นปัจจัยที่ท้าทาย บริษัทมีภาระหนี้อยู่ในระดับที่สูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการขยายการลงทุนจำนวนมากอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.83 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 จากระดับ 3.23 หมื่นล้านบาทในปี 2560 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 8 เท่าในปี 2561-2562 และ 7.2 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จากระดับ 5.6 เท่าในปี 2559
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่สูงเนื่องจากบริษัทมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในอนาคต จากข้อมูลงบลงทุนที่ได้รับจากผู้บริหารของบริษัท คาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนรวม 2 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2565 โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่จะใช้ไปในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยและเวียดนาม ตลอดจนพัฒนาคลังสินค้าให้เช่า นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการลงทุนจำนวนมากในโครงการสาธารณูปโภคอีกด้วย
ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับ 4.9-6 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6.7-7.8 เท่าในช่วงระยะเวลา 3 ปีข้างหน้า และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3-4 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน
- ยอดขายที่ดินชะลอลงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมได้รับแรงกดดันอย่างมากจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการเดินทางและภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของทั้งประเทศลดลง ทั้งนี้ ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยลดลงเหลือเพียงประมาณ 300 ไร่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 เมื่อเทียบกับระดับที่เกินกว่า 700 ไร่ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า
ทริสเรทติ้งได้ปรับลดประมาณการผลการดำเนินงานของบริษัทลงเพื่อสะท้อนถึงการหดตัวที่รุนแรงมากขึ้นของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในปี 2563 และการฟื้นตัวที่เชื่องช้าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการขายที่ดินของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาทในปี 2563 จากระดับ 3.5 พันล้านบาทในปี 2562 ก่อนที่จะปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3-3.6 พันล้านบาทในปี 2564-2565
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนในหลายด้าน ทั้งจากแนวโน้มที่อาจจะเกิดความไม่สงบทางการเมือง สถานการณ์โรคโควิด 19 ที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น ตลอดจนระดับของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างเชื่องช้า อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมจะยังคงมีแนวโน้มที่ดีในระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากทำเลที่ตั้งของประเทศและการพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในขณะที่ความต้องการในการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นผลมาจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาดอย่างหนัก ตลอดจนความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนก็ยังเป็นปัจจัยสนับสนุนอีกส่วนหนึ่งด้วย นอกจากนี้ บริษัทยังจะได้รับอานิสงส์จากการที่บริษัทมีที่ดินจำนวนมากถึงประมาณ 8,800 ไร่ (รวมถึงที่ดินที่อยู่ในนิคมแห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนา) อีกด้วย ซึ่งประมาณ 83% ของที่ดินทั้งหมดนี้อยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและระยองซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก
- ความต้องการพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจจะหดตัวลง แต่ความต้องการพื้นที่ให้เช่าของบริษัทกลับเพิ่มมากขึ้น โดยที่การเพิ่มขึ้นดังกล่าวมาจากการเติบโตอย่างมากของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาด ในการนี้ รายได้ค่าเช่าและค่าบริการของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 20.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยอยู่ที่ระดับ 623 ล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563
ทริสเรทติ้งมองว่าความต้องการพื้นที่ให้เช่าคลังสินค้าและโรงงานจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้ช่องทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทริสเรทติ้งยังคาดด้วยว่าอานิสงส์จากโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกจะช่วยกระตุ้นบรรยากาศและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้มีมากขึ้น
- ฐานรายได้ประจำจากธุรกิจสาธารณูปโภค รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมและความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นของลูกค้าโรงไฟฟ้ารายใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัท นอกเหนือไปจากการปรับราคาค่าบริการ รวมทั้งสัดส่วนรายได้จากการให้บริการน้ำที่มีมูลค่าสูงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ รายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทเติบโตอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 2.3 พันล้านบาทในปี 2562 จากระดับ 2 พันล้านบาทในปี 2559 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate -- CAGR) ที่ระดับ 4.1%
อย่างไรก็ตาม รายได้ดังกล่าวลดลง 10.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมาอยู่ที่ระดับ 1 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 การลดลงดังกล่าวมีสาเหตุมาจากปริมาณยอดขายน้ำที่ลดลงจากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ซึ่งส่งผลให้โรงไฟฟ้าและโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่งเลื่อนแผนการซ่อมบำรุงเพื่อลดปริมาณการใช้น้ำลง ตลอดจนโรงงานบางแห่งโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ได้หยุดการผลิตชั่วคราวในช่วงที่อุปสงค์ลดลงอย่างมากในช่วงสูงสุดของการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับผลกระทบเพียงชั่วคราวและรายได้จากธุรกิจสาธารณูปโภคของบริษัทจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องต่อไปจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและลูกค้าที่ซื้อที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทเริ่มทยอยดำเนินการผลิต
- ผลตอบแทนที่สม่ำเสมอจากเงินปันผลของธุรกิจโรงไฟฟ้า บริษัทลงทุนในธุรกิจโรงไฟฟ้าหลายแห่งผ่านทางบริษัทย่อย โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 570 เมกะวัตต์ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าประมาณ 1-1.2 พันล้านบาทในปี 2563-2565 ซึ่งเงินปันผลดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 19%-20% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทในปี 2563-2565
- เป็นผู้นำในธุรกิจคลังสินค้าที่สร้างตามความต้องการของลูกค้าและธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม บริษัทมีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งจากการเป็นผู้นำใน 2 ธุรกิจ คือ ธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าให้เช่าและธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยบริษัทนั้นถือว่าเป็นผู้นำในธุรกิจคลังสินค้าที่สร้างตามความต้องการของลูกค้าในประเทศไทยด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานกว่าทศวรรษ
ภายหลังจากการซื้อกิจการของ บมจ. ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ (WHAID) (เดิมชื่อ บมจ. เหมราชพัฒนาที่ดิน) ในปี 2558 ส่งผลให้บริษัทเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 41% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่วนผู้นำในลำดับรองลงมาคือ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) (29%) และ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) (18%)
พื้นที่ให้เช่าของบริษัทก็เพิ่มมากยิ่งขึ้นภายหลังจากการซื้อกิจการของบมจ. ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 พื้นที่ให้เช่าทั้งหมดของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้น 2,438,335 ตารางเมตร (ตร.ม.) ในส่วนของพื้นที่ที่มีผู้เช่านั้น บริษัทมีพื้นที่ที่มีผู้เช่าภายใต้การบริหารงานของบริษัทจำนวนทั้งสิ้น 1,999,301 ตร.ม.
- สภาพคล่องอยู่ในระดับเพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะยังคงอยู่ในระดับที่เพียงพอ แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานที่ระดับประมาณ 3.3 พันล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 3.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 9 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในช่วง 12 เดือนข้างหน้าประมาณ 8.7 พันล้านบาทและเงินลงทุนตามแผนอีกประมาณ 6-7 พันล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทและบริษัทย่อยยังมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดทุนและบริษัทยังสามารถขายสินทรัพย์เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ฯ (REIT) ซึ่งเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งด้วย จากทางเลือกดังกล่าวทำให้บริษัทมีความยืดหยุ่นทางการเงินจำนวนมาก
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
-รายได้จากการดำเนินงานจะลดลง 29% มาอยู่ที่ระดับ 8.2 พันล้านบาทในปี 2563 และจะปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.1-1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2564-2565
-อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 46%-60% ในปี 2563-2565
-ค่าใช้จ่ายลงทุนรวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2 หมื่นล้านบาทในปี 2563-2565
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงระดับหนี้ที่เพิ่มขึ้นและผลการดำเนินงานที่อ่อนแอกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ ในขณะที่การฟื้นตัวของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมที่อาจจะล่าช้ากว่าคาด ตลอดจนความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดจากโรคโควิด 19 นั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของบริษัทในระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
- แนวโน้มอันดับเครดิตอาจเปลี่ยนเป็น "Stable" หรือ "คงที่" ได้ในกรณีที่บริษัทสามารถลดภาระหนี้ลงโดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ย จ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 7 เท่าในระยะเวลาที่ต่อเนื่องในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลกระทบจากโรคโควิด 19 ที่มีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทนั้นมีความยืดเยื้อ หรือหากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้เงินกู้ซึ่งส่งผลให้โครงสร้างทางการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทอ่อนแอลง