RATCH เล็งปิดดีล M&A รายใหม่ใน Q4/63,คาดเซ็น PPA กวางจิเวียดนามปี 64

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 6, 2020 14:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อกิจการหรือร่วมลงทุน (M&A) ในโครงการโรงไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอีกหลายดีล คาดว่าจะได้ข้อสรุปอย่างน้อย 1 ดีล ในไตรมาส 4/63 แม้จะเป็นการทำดีล M&A ต่อเนื่องตลอดในปีนี้ แต่เชื่อว่างบลงทุนที่วางสำหรับปีนี้ 1.5 หมื่นล้านบาทจะเพียงพอ เนื่องจากช่วงเริ่มต้นลงทุนอาจยังไม่ต้องใช้วงเงินมาก รวมถึงบางส่วนใช้เงินกู้โครงการ (Project Finance) เข้ามาร่วมด้วย

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างเตรียมออกหุ้นกู้วงเงินไม่เกิน 8 พันล้านบาท ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ในระดับ "AAA" เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ชำระคืนเงินกู้เดิมที่มีอยู่ของบริษัท รวมถึงใช้สำหรับการขยายธุรกิจในโครงการพลังงานหมุนเวียน ซึ่งการนำเสนอข้อมูล (โรดโชว์) เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนค่อนข้างมาก

สำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ขนาด 1,320 เมกะวัตต์ (MW) ในเวียดนามนั้น หลังจากที่ได้ร่วมลงนามความร่วมมือการพัฒนาโครงการกับบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ในกลุ่มการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และบมจ.ผลิตไฟฟ้า (EGCO) ในสัดส่วน ถือหุ้น 30:40:30 ตามลำดับนั้น นับได้ว่าเป็นโครงการแรกในกลุ่ม กฟผ.นั้น หลังจากนี้ก็ต้องใช้เวลาในการเจรจากับทางเวียดนามเพื่อทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และงานก่อสร้าง (EPC) ซึ่งจะพยายามดำเนินการให้จบเพื่อลงนามสัญญา PPA ให้ได้ในปี 64 และสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ภายในปี 68 ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ การเข้าร่วมพัฒนาโครงการกวางจิ ทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเข้ามาอีกราว 400 เมกะวัตต์ตามสัดส่วนการถือหุ้น 30% และมื่อรวมกับกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่ได้เข้ามาในช่วงครึ่งปีแรกราว 243 เมกะวัตต์ และการลงทุนโรงไฟฟ้าผ่าน กองทุน An Binh Energy and Infrastructure Fund (ABEIF) ในเวียดนามที่บริษัทถือหุ้นอยู่ 49% ตลอดจนจะมีการปิดดีลใหม่ในช่วงที่เหลือของปี ก็จะทำให้ปีนี้มีกำลังการผลิตในมือเข้ามาใหม่เป็นไปตามเป้าหมาย 780 เมกะวัตต์ ส่งผลให้สิ้นปี 63 จะมีกำลังการผลิตในมือเพิ่มเป็น 8,714.68 เมกะวัตต์

ขณะที่ล่าสุดบริษัทเข้าถือหุ้น 25% ร่วมกับพันธมิตรเตรียมพัฒนาโครงการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Wood Pellet) ในลาว โดยโครงการอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อทำสัญญาซื้อขายเชื้อเพลิงระยะยาวกับผู้ซื้อหลายราย เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในอุตสาหกรรมและการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ หลังจากนั้นจะสามารถสรุปงบลงทุนและนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่ออนุมัติงบลงทุนต่อไป โดยบริษัทได้รับสัมปทานพื้นที่เพื่อปลูกพืช 4 หมื่นไร่ ซึ่งจะดำเนินการในเฟสแรกก่อน 2 หมื่นไร่ เพื่อผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง 6 หมื่นตัน/ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในไตรมาส 1/64 และเริ่มจำหน่ายในปี 65 หากสามารถดำเนินการได้ดี ก็จะพัฒนาในส่วนที่เหลืออีก 2 หมื่นไร่

ส่วนกรณีที่บริษัท ไทยลาวลิกไนท์ จำกัด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท กล่าวหาว่าบริษัทละเมิดความลับทางการค้าของโจทก์ในการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา ในลาวนั้น ล่าสุดศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำพิพากษายกฟ้องแล้ว แต่ยังต้องรอดูว่าคู่กรณีจะยื่นอุทธรณ์อีกหรือไม่

นายกิจจา กล่าวอีกว่า แนวโน้มผลประกอบการปีนี้น่าจะใกล้เคียงกับปีก่อนที่มีรายได้ 4.3 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิ 5.96 พันล้านบาท แม้ในช่วงครึ่งปีแรกจะทำรายได้ได้ราว 2 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิได้เพียง 2.43 พันล้านบาทก็ตาม แต่ช่วงครึ่งปีหลังจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาในระบบเพิ่มเติมจาก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการส่วนขยายของโรงไฟฟ้านวนคร กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย และ โรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long ในเวียดนาม

ประกอบกับ เป็นช่วงฤดูฝนซึ่งจะปริมาณน้ำมากก็จะส่งผลให้โรงไฟฟ้า น้ำงึม 2 และโรงไฟฟ้าเซเปียน เซน้ำน้อยในลาว ผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น รวมถึงการรับรายได้จากการให้บริการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง และยังรับรู้รายได้ในธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์เซนเซอร์ และค่าเช่าสัญญา Sigfox ซึ่งคาดว่าปีนี้ให้บริการได้ 350 จุด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ