ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 4 พันล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม (Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 1 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปชำระค่าใบอนุญาคลื่นความถี่ และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทในฐานะเป็นผู้ดำเนินธุรกิจหลักที่มีความสำคัญของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "BBB+/Stable" จากทริสเรทติ้ง ตลอดจนสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งของบริษัทในอุตสาหกรรมสื่อสารแบบไร้สายในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ตลอดจนความต้องการใช้เงินลงทุนเพื่อขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้เทคโนโลยีใหม่ และชำระค่าใบอนุญาตคลื่นความถี่
ในปี 2563 รายได้จากซิมท่องเที่ยวและบริการข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming) ของบริษัทลดลงเป็นผลมาจากการห้ามการเดินทางและการจำกัดการทำกิจกรรมนอกเคหะสถานเพื่อระงับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) การขยายฐานลูกค้าเผชิญอุปสรรคจากสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว ถึงแม้บริษัทจะได้ผลกระทบดังกล่าว แต่รายได้จากการให้บริการสื่อสารข้อมูลกลับเติบโตเพิ่มขึ้นจากมาตรการขอความร่วมมือทำงานจากบ้าน (Work-from-Home) ของรัฐบาลและความต้องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและการดำเนินกิจกรรมออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงปิดประเทศดังกล่าว
ผลการดำเนินงานทั้งในส่วนของบริษัทแม่และของบริษัทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 สอดคล้องกับประมาณการของ ทริสเรทติ้ง โดย TRUE มีรายได้จากการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ทั้งสิ้น 6.98 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charges ? IC) จำนวนประมาณ 5.32 หมื่นล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 2.8 หมื่นล้านบาท
ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น มีฐานลูกค้าจำนวน 30.16 ล้านราย ลดลงจาก 30.64 ล้านราย ณ ปลายปี 2562 ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทสร้างรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายทั้งสิ้น 3.79 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนและดีกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่รายได้หดตัว 1% บริษัทยังคงสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่ง โดยเป็นผู้ให้บริการสื่อสารแบบไร้สายขนาดใหญ่อันดับที่สองของประเทศ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในด้านรายได้คิดเป็นสัดส่วน 31.4%
รายได้จากการให้บริการเสียงและข้อมูลของบริษัทเติบโตเกือบ 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากการใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้น รายได้เฉลี่ยต่อเดือนต่อเลขหมาย (Average Revenue Per User ? ARPU) ของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 216 บาทในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 จาก 212 บาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่รายได้จากซิมท่องเที่ยวและรายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติลดลง 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นโดยมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาทในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 และมีเงินทุนจากการดำเนินงานเกือบ 1.1 หมื่นล้านบาท
ภาระหนี้สินของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูง โดยมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วที่ระดับ 2.52 แสนล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2563 และมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ประมาณ 9.1 เท่า และมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ 5.8%
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการแข่งขันที่แข็งแกร่งไว้ได้ และจะยังคงมีผลการดำเนินการที่ปรับตัวดีขึ้น อีกทั้งยังคาดว่าบริษัทจะยังคงสถานะในการเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มทรูต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
ตามเกณฑ์ "วิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม" (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง อันดับเครดิตของบริษัทจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัทแม่ การเปลี่ยนแปลงใดใดในอันดับเครดิตหรือแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของบริษัทด้วยเช่นกัน
ข้อพิพาทด้านกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาในอดีตยังคงมีความไม่แน่นอนและใช้เวลาในการพิจารณาวินิจฉัย ทั้งนี้ อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันในทางลบหากความคืบหน้าของข้อพิพาทส่งผลกระทบทางลบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ