ทริส จัดอันดับเครดิตองค์กร SSP ที่ BBB แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday October 6, 2020 16:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) ที่ระดับ "BBB" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวและมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่ต่ำ นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของโรงไฟฟ้าของบริษัทอีกด้วย ในขณะเดียวกัน อันดับเครดิตก็ถูกลดทอนบางส่วนจากความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศเวียดนามและระดับหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นของบริษัท

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

-กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อันดับเครดิตเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วของบริษัทประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด กระแสเงินสดจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่มักจะคาดการณ์ได้จากการมีอัตราค่าไฟฟ้าที่แน่นอนและความเสี่ยงในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ต่ำ

โรงไฟฟ้าของบริษัทดำเนินการภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัญญาที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวมทั้งผู้รับซื้อไฟฟ้าที่น่าเชื่อถือหลายรายในประเทศญี่ปุ่น และการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity -- EVN) โดยสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวเป็นแบบ Non-firm (สัญญาที่ผู้ผลิตไม่มีข้อผูกมัดเกี่ยวกับการสั่งเดินเครื่อง และจะได้รับเฉพาะค่าพลังงานไฟฟ้า)

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 14 แห่งซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 193.4 เมกะวัตต์ ในส่วนของกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนของการลงทุนของบริษัทนั้นคิดเป็นกำลังการผลิตสุทธิรวม 173 เมกะวัตต์ ปัจจุบันบริษัทกำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่งในประเทศญี่ปุ่น ตลอดจนโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง 1 แห่งในประเทศเวียดนาม และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาในประเทศอินโดนีเซียอีก 1 แห่ง ทั้งหมดนี้จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตสุทธิรวมเพิ่มขึ้นเป็น 263.8 เมกะวัตต์จาก 173 เมกะวัตต์ภายในปี 2566

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้จำนวน 903 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 715 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2562 รายได้ที่เพิ่มขึ้น 26% นั้นมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ที่เปิดดำเนินการในปี 2562 และปี 2563 ซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาในประเทศไทยจำนวน 4 แห่ง และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ในประเทศเวียดนาม และในประเทศมองโกเลียอีกประเทศละ 1 แห่ง บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ 742 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 547 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตามประมาณการพื้นฐาน ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานว่าบริษัทจะสามารถเปิดดำเนินการโครงการใหม่ ๆ ได้ตามแผนการที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเติบโตที่ระดับ 1.3-2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2566 โดยเพิ่มขึ้นจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 888 ล้านบาทในปี 2562

-ผลการดำเนินงานที่น่าพอใจของโรงไฟฟ้า โรงไฟฟ้าของบริษัทมีผลการดำเนินงานโดยเฉลี่ยอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ส่วนใหญ่ของบริษัทสามารถผลิตไฟฟ้าต่อปีได้เกินระดับ P50 (ความน่าจะเป็น 50% ของการผลิตพลังงาน) ซึ่งเป็นเกณฑ์ของการดำเนินงานที่คาดไว้ และจากการที่บริษัทยังคงเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงปี 2559-2562 อย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ผลผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้น เป็น 190 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2562 จาก 85 กิกะวัตต์ชั่วโมงในปี 2558

ในบรรดาโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท มีเพียง บริษัท เสริมสร้างพลังงงาน จำกัด (โครงการ SPN) เท่านั้นที่เปิดดำเนินการมานานที่สุด ในขณะที่โรงไฟฟ้าอื่น ๆ นั้นเปิดดำเนินการมาแล้วไม่ถึง 3 ปี โครงการ SPN สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 85-90 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีซึ่งสูงกว่าระดับ P50 ประมาณ 15% ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการ SPN คิดเป็นประมาณ 36% ของกำลังไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท ในขณะที่โรงไฟฟ้าอื่น ๆ ของบริษัทในประเทศไทยสร้างรายได้ราว 6% และส่วนที่เหลืออีก 58% มาจากโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ

-ความเสี่ยงในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลม อันดับเครดิตลดทอนลงบางส่วนจากความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งแรกของบริษัท โดยปัจจุบันบริษัทกำลังพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งขนาด 48 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนามซึ่งมีกำหนดจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนตุลาคม 2564 ทริสเรทติ้งเห็นว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานลมนั้นมีความเสี่ยงในการก่อสร้างที่ค่อนข้างสูงกว่าเนื่องจากความซับซ้อนในการเลือกเทคโนโลยีและการออกแบบโรงงานเป็นสำคัญ โดยที่ความยากลำบากในการติดตั้งส่วนประกอบสำคัญและความเสี่ยงในการก่อสร้างที่สูงกว่าอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนสูงเกินกว่าที่วางแผนไว้

นอกจากนี้ ความล่าช้าในการก่อสร้างก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายจนกระทบความเป็นไปได้ของโครงการ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงในการก่อสร้างก็ลดลงบางส่วนจากเงื่อนไขของสัญญาก่อสร้างที่เป็นแบบ Engineering Procurement and Construction (EPC) กระนั้นหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ โรงไฟฟ้าพลังงานลมก็มักมีความเสี่ยงในการดำเนินงานที่สูงกว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยเช่นกัน

-มีความเสี่ยงของประเทศที่สูงมากขึ้น ภายในปี 2564 โรงไฟฟ้าของบริษัทที่ตั้งอยู่ในประเทศมองโกเลียและเวียดนามจะคิดเป็นสัดส่วนประมาณหนึ่งในสี่ของโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท ทริสเรทติ้งมองว่าการลงทุนในทั้งสองประเทศนี้มีความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงกว่าโครงการในประเทศไทยและญี่ปุ่น ทั้งนี้ ความเสี่ยงที่สูงขึ้นนั้นเกี่ยวข้องกับความเสมอต้นเสมอปลายของกฎระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนความยากลำบากในการบังคับใช้สัญญา แนวโน้มของความล่าช้าในการได้รับอนุมัติใบอนุญาตที่จำเป็น ข้อจำกัดในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และอื่น ๆ นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ซื้อไฟฟ้าที่สูงกว่าอีกด้วย

-ค่าไฟฟ้าที่ลดลงรวมทั้งภาระดอกเบี้ยจะส่งผลกดดันต่อการทำกำไร อัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงของโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการใหม่และดอกเบี้ยจ่ายที่สูงทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทมีข้อจำกัด อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่บริษัทได้รับลดลงเหลือ 7.7 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในปี 2562 จากที่เคยสูงกว่า 9 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงในช่วงปี 2558-2561 ทั้งนี้ จากประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าในปี 2563-2566 อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับ 7-8 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงหลังจากโครงการโซลาร์ฟาร์มแห่งใหม่ของบริษัทในประเทศญี่ปุ่นและโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเวียดนามเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์

ในช่วงเวลาเดียวกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้นจากเงินกู้สำหรับใช้ในโรงไฟฟ้าในประเทศที่มีความเสี่ยงของโครงการสูง โดยอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยของบริษัทอยู่ที่ระดับ 3.4% ในปี 2562 แต่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.6%-4% ในช่วงปี 2563-2566 ส่งผลให้บริษัทจะมีภาระดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้เงินทุนจากการดำเนินงานทรงตัวอยู่ในช่วง 0.9-1.4 พันล้านบาทต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 0.8 พันล้านบาทในปี 2562

-ระดับหนี้สินเพิ่มสูงขึ้นในช่วงขยายกำลังการผลิต บริษัทได้กู้ยืมเงินจำนวนมากเพื่อนำไปใช้ในการลงทุน นอกเหนือจากเงินกู้โครงการสำหรับโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งแล้ว บริษัทยังมีเงินกู้ยืมระยะยาวเพื่อนำไปลงทุนในบริษัทย่อยที่ดำเนินโครงการต่าง ๆ ด้วย ทริสเรทติ้งคาดว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ระดับหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูงเนื่องจากความต้องการเงินทุนเพื่อลงทุนในโครงการใหม่ ๆ ที่รอดำเนินการ

ณ เดือนมิถุนายน 2563 หนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ที่ 8.3 พันล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ระดับ 65.6% ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าบริษัทจะใช้จ่ายเงินจำนวน 9.3 พันล้านบาทสำหรับการขยายกำลังการผลิตในช่วงปี 2563-2566 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะมีหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 1.4 หมื่นล้านบาทในปี 2565 อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 68%-72%

ทั้งหมดนี้เป็นไปตามสมมติฐานของทริสเรทติ้งที่ว่าบริษัทจะได้รับเงื่อนไขการชำระค่าก่อสร้างจากผู้รับเหมาสำหรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในประเทศเวียดนาม โดยบริษัทจะจ่ายค่าก่อสร้างส่วนใหญ่หลังจากที่โครงการเปิดดำเนินการได้แล้ว ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งประมาณการอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทว่าจะอยู่ที่ระดับ 9.6%-10.3% ในช่วงปี 2563-2566

-สภาพคล่องมีเพียงพอ โครงการโรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่อยู่ภายใต้สัญญาเงินกู้โครงการระยะยาว นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินกู้ยืมทั้งระยะสั้นและระยะยาวกับธนาคารเพื่อใช้ในการสนับสนุนบริษัทย่อยในกลุ่มอีกด้วย ในการนี้ ทั้งบริษัทและบริษัทย่อยสามารถปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขทางการเงินที่เกี่ยวข้องเหล่านี้

ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีหนี้สินทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่จะถึงกำหนดชำระคืนภายใน 12 เดือนข้างหน้าจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.2 พันล้านบาทในขณะเดียวกันบริษัทก็มีเงินสดในมือจำนวน 1.2 พันล้านบาท และทริสเรทติ้งก็คาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานอยู่ที่ประมาณ 900 ล้านบาท

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

-โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564

-กำลังการผลิตรวมจะถึงระดับ 295 เมกะวัตต์ในปี 2565

-ในปี 2563-2566 โรงไฟฟ้าของบริษัทจะผลิตไฟฟ้าได้รวม 219-419 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี

-รายได้จะอยู่ที่ระดับ 1.6-2.7 พันล้านบาทต่อปี

-อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับ 76%-79%

-ค่าใช้จ่ายลงทุนและเงินลงทุนรวมจะอยู่ที่ 9.3 พันล้านบาทในช่วงปี 2563-2566

-บริษัทจะได้รับเงื่อนไขการชำระค่าก่อสร้างจากผู้รับเหมาในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานลมดังที่กล่าวข้างต้น

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทจะมีผลการดำเนินงานที่ดีและสร้างกระแสเงินสดได้ตามที่ประมาณการไว้ และโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนานั้นจะไม่มีความล่าช้าในการก่อสร้างหรือไม่มีต้นทุนในการก่อสร้างที่สูงเกินกว่าคาด ในขณะที่ระดับของหนี้สินจะยังอยู่ใกล้เคียงกับที่ประมาณการไว้

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง

อันดับเครดิตอาจปรับเพิ่มขึ้นหากโรงไฟฟ้าของบริษัทสามารถสร้างกระแสเงินสดได้มากกว่าที่ประมาณการไว้หรือโครงสร้างทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในทางกลับกัน อันดับเครดิตอาจปรับลดลงหากสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงเป็นอย่างมากจากการก่อหนี้จำนวนมากเพื่อการลงทุน หรือผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าต่ำจากที่ประมาณการไว้อย่างมากจนส่งผลทำให้กระแสเงินสดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ