ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. สวนอุตสาหกรรมโรจนะ (ROJNA) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงรายได้ที่สม่ำเสมอจากการจำหน่ายไฟฟ้าและสาธารณูปโภค รวมถึงการที่บริษัทเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวก็มีข้อจำกัดจากระดับหนี้สินที่ค่อนข้างสูงของบริษัท ธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ต่อภาคอสังหาริมทรัพย์
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
-รายได้ที่สม่ำเสมอจากการจำหน่ายไฟฟ้ารายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าของบริษัทมีสัดส่วนมากกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ รายได้จากการที่บริษัทมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นั้นค่อนข้างแน่นอน บริษัท โรจนะ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทมียอดจำหน่ายไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 55% ของกำลังการผลิตทั้งหมดให้แก่ กฟผ. โดยอยู่ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement -- PPA) ระยะยาวจำนวน 3 สัญญาในโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) สัญญาดังกล่าวมีอายุ 25 ปี และปัจจุบัน ณ เดือนมิถุนายน 2563 สัญญามีอายุเหลืออยู่ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ บริษัท โรจนะ เอ็นเนอร์จี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอีกแห่งหนึ่งของบริษัทก็ยังได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟภ. โดยอยู่ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (Very Small Power Producer -- VSPP) จำนวนทั้งสิ้น 3 สัญญาอีกด้วย สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ต่ออายุโดยอัตโนมัติทุก ๆ 5 ปี
นอกจากรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. และ กฟภ. แล้ว อุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าจากลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่สวนอุตสาหกรรมของบริษัทในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 8% อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในการใช้ไฟฟ้าจากลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมลดลง 6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จากผลกระทบของโรคโควิด 19 ทั้งนี้ โรงงานบางแห่งในนิคมอุตสาหกรรมต้องปิดดำเนินการเป็นระยะเวลาครึ่งเดือนหรือลดจำนวนชั่วโมงทำงานลงชั่วคราวในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน 2563
ทริสเรทติ้งคาดว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จะส่งผลกระทบต่อยอดขายไฟฟ้าของบริษัท เพียงเล็กน้อย โดยทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.25-1.29 หมื่นล้านบาทต่อปีและกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.7 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565
-เป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทย บริษัทมีสถานะเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในธุรกิจพัฒนานิคมอุตสาหกรรมของประเทศไทยมาเป็นเวลานานถึงประมาณ 30 ปี จากยอดขายที่ดินในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 16% รองจากอันดับ 1 คือ บมจ. ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) (50%) และอันดับ 2 คือ บมจ. อมตะ คอร์ปอเรชัน (AMATA) (29%)
-ธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนโดยได้รับอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ ตลอดจนสถานการณ์ทางการเมือง บรรยากาศการลงทุนภาคเอกชน และการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ห่วงโซ่อุปทานของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ทั้งหลาย
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลให้ยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมลดลงอย่างมาก โดยยอดขายที่ดินของบริษัทลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ดินของบริษัทยังถือว่าดีกว่าของนิคมอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มียอดขายลดลงมากกว่า 50%
ทริสเรทติ้งยังคงมองว่าธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะยังคงมีแนวโน้มที่ดีในระยะยาว แม้ว่าในระยะสั้นนี้จะมีแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและการจำกัดการเดินทางเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่สงครามการค้าระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังคงยืดเยื้อและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Disruption) ในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาด อย่างหนักนั้นน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการกระตุ้นการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีน โดยที่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถือว่าเป็นประเทศเป้าหมายที่อยู่ในความสนใจในการย้ายฐานการผลิตมากที่สุด
ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมโรจนะมีพื้นที่พร้อมขายจำนวนประมาณ 3,300 ไร่และมีพื้นที่รอการพัฒนาอีกจำนวน 6,900 ไร่ ทั้งนี้ สัดส่วนที่ดินดังกล่าวจำนวนราว ๆ 60% อยู่ในเขตจังหวัดชลบุรีและระยองซึ่งเป็น 2 จังหวัดที่อยู่ในเขตพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศ
-ภาระหนี้อยู่ในระดับสูงในขณะที่สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งมองว่าภาระหนี้สินทางการเงินของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับกระแสเงินสดที่ได้รับโดยวัดจากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายอยู่ที่ระดับ 5.8 เท่า ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทยังคงอยู่ในระดับที่สูงเกินกว่า 50% โดยภาระหนี้ที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าวมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการลงทุนในหลักทรัพย์เพื่อค้าและหน่วยลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ โดย ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีหน่วยลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จำนวน 3.7 พันล้านบาท และมีหนี้สินที่มีหลักประกันคิดเป็น 64% ของหนี้สินทางการเงินทั้งหมด
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่สามารถบริหารจัดการได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า หนี้สินที่จะครบกำหนดชำระภายในระยะ 12 เดือนข้างหน้าและงบดำเนินการคาดว่าจะมีจำนวน 6.2 พันล้านบาทและ 700 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่แหล่งเงินทุนจะประกอบด้วยเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะมีจำนวน 2 พันล้านบาท รวมกับเงินสดในมือและเงินลงทุนระยะสั้นอีกจำนวน 5 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีก 1.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทในระยะเวลาประมาณการจะอยู่ในช่วง 10%-11%
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
-รายได้จากการจำหน่ายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ 1-1.3 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2563-2565
-รายได้จากธุรกิจผลิตไฟฟ้าประมาณการอยู่ที่ 1.05-1.09 หมื่นล้านบาทต่อปี
-อัตรากำไรขั้นต้นและกำไรจากการดำเนินงานโดยรวมจะอยู่ที่ระดับ 20% และ 15% ตามลำดับ
-งบดำเนินการและลงทุนจะอยู่ที่ระดับ 700 ล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเอาไว้ได้ ในขณะที่สัดส่วนกระแสเงินสดจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าคาดว่าจะช่วยบรรเทาความผันผวนของยอดขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมของบริษัทลงไปได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากกระแสเงินสดและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายลดลงต่ำกว่าระดับ 4 เท่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานในระดับหนึ่ง
ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยใช้เงินกู้จำนวนมากจนทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างชัดเจน หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายเพิ่มขึ้นจนอยู่ในระดับเกินกว่า 9 เท่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน