ทริสเรทติ้งปรับเพิ่มอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ.คาราบาวกรุ๊ป (CBG) เป็นระดับ "A" จากเดิมที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงภาระหนี้ที่ลดลงและผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนด้านการผลิตที่ครบวงจรในช่วงปี 2559-2561 ช่วยให้บริษัทมีอัตรากำไรเพิ่มขึ้น บริษัทยังได้เปลี่ยนแนวทางการขยายธุรกิจจากการขยายไปในตลาดสหราชอาณาจักรเป็นตลาดที่ใช้ต้นทุนในการขยายงานน้อยกว่าเช่นในกลุ่มประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ความต้องการในการใช้เงินลงทุนในอนาคตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับกระแสเงินสดภายในของบริษัท
อันดับเครดิตยังคงสะท้อนถึงสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัทในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศและโอกาสในการเติบโตในต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการที่บริษัทต้องพึ่งพาสินค้าน้อยรายการ รวมถึงโอกาสการเติบโตที่ค่อนข้างจำกัดของตลาดเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
-ผลการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นผลมาจากการที่บริษัทมีการผลิตที่ครบวงจร การประหยัดจากขนาดจากการผลิตในจำนวนที่มากขึ้น และมีการใช้สื่อโฆษณาและการส่งเสริมการขายอย่างรอบคอบ โดยอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 13.9% ในปี 2561 เป็น 25.4% ในปี 2562 และ 29.1% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 อัตรากำไรที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากต้นทุนบรรจุภัณฑ์ลดลงหลังจากที่บริษัทได้ก่อสร้างโรงงานผลิตขวดแก้วและกระป๋องอะลูมิเนียมและการประหยัดจากขนาดจากการผลิตในจำนวนที่มากขึ้น บริษัทยังจัดซื้อวัตถุดิบโดยตรงจากผู้ผลิตซึ่งช่วยลดต้นทุนวัตถุดิบ
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารปรับลดลงเนื่องจากบริษัทใช้สื่อโฆษณาและการส่งเสริมการขายที่รอบคอบมากยิ่งขึ้น รวมถึงการปรับลดค่าใช้จ่ายการเป็นผู้สนับสนุนกีฬาฟุตบอลลง ทริสเรทติ้งคาดว่า บริษัทจะสามารถรักษาระดับอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ให้อยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 25%-30% ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
-สถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทย บริษัทมีส่วนแบ่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศเพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มชูกำลังของบริษัทได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับสองในประเทศไทย โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่ระหว่าง 22%-25% สถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งดังกล่าวเป็นผลมาจากตราสัญลักษณ์ของบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี ตลอดจนกลยุทธ์ทางการตลาดที่มีประสิทธิภาพ และเครือข่ายการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมร้านค้าปลีกมากกว่า 180,000 แห่ง
ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศไทยได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 มูลค่าตลาดเครื่องดื่มชูกำลังลดลง 7.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศของบริษัทปรับตัวลง 6.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ภายใต้สมมติฐานพื้นฐาน
ทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้จากการจำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศจะลดลง 5% ในปี 2563 จากนั้นจะฟื้นตัวประมาณ 3% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565 เพื่อลดผลกระทบจากภาษีสรรพสามิตรและภาษีน้ำตาล ซึ่งจะมีการจัดเก็บภาษีในอัตราสูงสำหรับสินค้าที่มีสัดส่วนน้ำตาลอยู่ในระดับสูง ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังได้มีการปรับสูตรการผลิตสินค้าใหม่ โดยยังไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาสินค้าและยังไม่มีการร้องเรียนจากผู้บริโภคถึงรสชาติของสินค้าที่มีการปรับสูตรการผลิต
-โอกาสในการเติบโตในตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม บริษัทมีรายได้จากการส่งออกเครื่องดื่มชูกำลังเติบโตขึ้นอย่างมาก ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รายได้จากการส่งออกของบริษัทเพิ่มขึ้น 29% สู่ระดับ 4.4 พันล้านบาท รายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมีผลมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศกัมพูชาและเมียนมา ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รายได้จากการส่งออกคิดเป็นสัดส่วน 51% ของยอดขายรวมของบริษัทและรายได้จากตลาดส่งออกหลักคือประเทศกัมพูชาคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่งของรายได้จากการส่งออกโดยรวมของบริษัท
เพื่อช่วยเพิ่มการเติบโตของรายได้จากการส่งออก บริษัทได้ช่วยเหลือผู้จัดจำหน่ายในแต่ละประเทศในการทำการตลาดและการส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขาย บริษัทยังได้แบ่งปันแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดและกลยุทธ์ในการเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดและแข่งขันกับคู่แข่ง จากการช่วยเหลือและกิจกรรมการสนับสนุนต่าง ๆ บริษัทเชื่อว่ารายได้และส่วนแบ่งทางการตลาดในประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และจีน จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทริสเรทติ้ง คาดว่ารายได้จากการส่งออกของบริษัทจะเพิ่มขึ้นประมาณ 24% ในปี 2563 และประมาณ 5%-10% ต่อปีในช่วงปี 2564-2565
-บริษัทมีการพึ่งพาสินค้าที่จำกัด บริษัทมีการพึ่งพาสินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งเป็นสินค้าหมวดเล็กหมวดหนึ่งในตลาดเครื่องดื่มโดยรวม ทำให้บริษัทมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงในความนิยมบริโภครวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รายได้ของบริษัทในสัดส่วน 82% มาจากสินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลังซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องดื่มชูกำลังแบบดั้งเดิมซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักคือคนทำงานที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำ บริษัทมีความพยายามในการออกสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังชนิดที่มีรสชาติแตกต่างออกไปเพื่อหวังเจาะฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ซึ่งความสำเร็จในระยะยาวของของผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวยังต้องติดตามความคืบหน้าต่อไป
ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศเป็นตลาดที่ค่อนข้างอิ่มตัวและมีโอกาสในการเติบโตที่จำกัดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มยอดขายภายในประเทศบริษัทได้ออกสินค้าใหม่ประเภทอื่น ๆ เช่น กาแฟพร้อมดื่ม เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำดื่ม และ เครื่องดื่มเสริมอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ บริษัทยังให้บริการจัดจำหน่ายสินค้าแก่บุคคลภายนอก (Third Party) เพื่อที่จะใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการกระจายสินค้าของบริษัท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รายได้จากจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งส่วนใหญ่มาจากสินค้าประเภทสุรา โดยการจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกจะช่วยเพิ่มรายได้ในประเทศแต่จะสร้างอัตรากำไรที่ต่ำกว่า ทั้งนี้ รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากสินค้าใหม่และการจำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลภายนอกจะช่วยลดการพึ่งพิงจากการขายสินค้าประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากสินค้าที่ไม่ใช่เครื่องดื่มชูกำลังของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.5-4.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565
-ระดับหนี้สินปรับตัวดีขึ้น บริษัทมีระดับหนี้สินที่ปรับตัวดีขึ้นเนื่องจากกระแสเงินสดที่ปรับเพิ่มขึ้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 0.6 เท่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จาก 0.9 เท่าในปี 2562 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินก็เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 133.5% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จากระดับ 90.1% ในปี 2562
ทริสเรทติ้งประมาณการว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากดำเนินงานอยู่ที่ระดับประมาณ 3.5-4.0 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2563-2565 โดยบริษัทมีแผนลงทุนทั้งหมด 3.3 พันล้านบาทในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะใช้กระแสเงินสดภายในสำหรับการลงทุน ดังนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1 เท่า ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 100% ในช่วงปี 2563-2565
ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอในช่วง 12 เดือนข้างหน้า โดยแหล่งที่มาของสภาพคล่องประกอบไปด้วยเงินสดจำนวน 868 ล้านบาทและเงินทุนจากการดำเนินงานซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3.5 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งน่าจะเพียงพอสำหรับการจ่ายชำระหนี้เงินกู้ที่มีกับสถาบันการเงินและจ่ายชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในช่วง 12 เดือนข้างหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 2.6 พันล้านบาท
หุ้นกู้ของบริษัทมีเงื่อนไขทางการเงินสำคัญที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนที่ระดับไม่เกิน 2.5 เท่า โดยบริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.37 เท่า ณ เดือนมิถุนายน 2563 ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขทางการเงิน ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนดังกล่าวให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินได้ต่อไปในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2563-2565 ดังต่อไปนี้
-รายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 1.7-2.0 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้า
-อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ให้อยู่ระหว่าง 25%-30% ในช่วงปี 2563-2565
-งบประมาณการลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 3.3 พันล้านบาทในช่วงประมาณการ 3 ปี
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังภายในประเทศและรักษาระดับการเติบโตที่สมเหตุสมผลในตลาดส่งออกได้ ทริสเรทติ้งยังคาดอีกด้วยว่าบริษัทจะยังคงมีอัตรากำไรและผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งในขณะที่ยังคงรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในที่ระดับที่ดีเอาไว้ได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากและเป็นเวลานาน หรือหากบริษัทดำเนินนโยบายทางการเงินที่เสี่ยงมากยิ่งขึ้น โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังไม่มีในระยะอันใกล้นี้ อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถสร้างฐานกระแสเงินสดเพิ่มขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญและมีแหล่งที่มาของรายได้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นอย่างมีสาระสำคัญในขณะที่ยังคงรักษาสถานะทางการเงินที่ดีเอาไว้ได้