นายดิษทัต ปันยารชุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปริมาณการค้าน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ของหน่วยธุรกิจในปี 63 คาดว่าจะลดลงราว 8-10% จากระดับ 1.4 ล้านบาร์เรล/วันในปีที่ผ่านมา หลังความต้องการใช้น้ำมันของโลกปรับลดลงจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก ทำให้การทำธุรกิจต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น แต่ยังมั่นใจว่าหน่วยธุรกิจจะยังสามารถทำกำไรให้กับปตท.ได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนในปีหน้าคาดว่าจะพยายามรักษาระดับปริมาณการค้าให้กลับมาใกล้เคียงกับปี 62 พร้อมกับเพิ่มสัดส่วนปริมาณการค้านอกประเทศ (out-out) ให้มากขึ้นมาอยู่ที่ 50% ของปริมาณการค้ารวม จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 48%
พร้อมกันนี้จะรุกขยายธุรกิจค้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้เพิ่มมากขึ้นตามทิศทางตลาดโลกที่คาดว่าจะเติบโตรวดเร็วมากในช่วง 20 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในโซนเอเชีย อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยปตท.เริ่มเทรด LNG คาร์โก้แรกจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไปปากีสถานและอินเดีย และปัจจุบันขยายออกไปทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณการค้า LNG ราว 9 แสนตัน เพิ่มจากราว 4 แสนตันในปีที่ผ่านมา และวางเป้าปี 64 คาดว่าจะเพิ่มเป็น 1 ล้านตัน หลังล่าสุดมีปริมาณเทรดที่รอส่งมอบถึงไตรมาส 4/64 แล้วประมาณ 4 แสนตัน
ส่วนการค้า LNG โดยผ่านคลัง LNG ของปตท.ที่มีอยู่ในประเทศนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ แต่มองเห็นโอกาส เพราะคลัง LNG ของไทยปัจจุบันมี 1 แห่ง มีขีดความสามารถรับ-จ่าย LNG จำนวน 11.5 ล้านตัน/ปี และเมื่อคลังแห่งที่ 2 แล้วเสร็จจะทำให้มีขีดความสามารถเพิ่มเป็น 19 ล้านตัน/ปีในปี 65 ขณะที่มองการใช้ LNG ในประเทศน่าจะอยู่ในระดับ 5-6 ล้านตัน/ปีเท่านั้น ซึ่งหน่วยธุรกิจก็จะใช้คลังที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอกฎระเบียบที่ชัดเจนจากทางการ
พร้อมกันนี้ยังวางเป้าหมายในปี 64 ธุรกิจจะมุ่งเน้นการนำสินทรัพย์ในกลุ่มปตท.มาร่วมสร้างการค้าให้กับหน่วยธุรกิจ โดยสินทรัพย์ของหน่วยธุรกิจ คือปริมาณความต้องการใช้น้ำมันดิบ และปริมาณการจัดหาปิโตรเลียมและปิโตรเคมี โดยจะนำสินทรัพย์เหล่านี้มาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่ม ไม่เฉพาะเพียงแค่ซื้อมาแล้วขายไปเท่านั้น แต่จะสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าด้วยกันได้ ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่ม 2-3 เท่า และเป็นที่มาของโครงการ Project One เป็นการบริหารจัดการและจัดซื้อน้ำมันดิบร่วมกันของกลุ่มปตท. ซึ่งจะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองในตลาดการค้า หากจัดซื้อร่วมกันในปริมาณมาก และไม่เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โดยปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างริเริ่มจัดทำแผนการดำเนินการร่วมกัน ตั้งเป้าหมายจะเริ่มเทรดร่วมกันในปี 64 และภายใน 5 ปี จะเกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 3,200 ล้านบาท
"ที่เราเทรดอยู่ 1.4 ล้านบาร์เรล/วันทั้ง system base ... system ประมาณ 52% โดยประมาณ และ non system หรือที่เราเรียก out-out ก็อีกประมาณ 48% อันนี้คือสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาให้ปตท.ได้ revenue โลกเรามีความต้องการใช้น้ำมัน 100 ล้านบาร์เรล/วัน เราเทรด 1.4 ล้านบาร์เรลในปีที่แล้ว ก็แค่ 1.4% ของโลก ปีนี้อาจจะน้อยลงประมาณ 8-10% เพราะ demand โลกลดลง เราต้องระมัดระวังการเทรดด้วย ราคาที่ผันผวนมากเราชอบไหม เราชอบ แต่ราคา flat ก็อาจจะลำบากในการค้ากำไร แต่ก็ระวังให้ดีถ้าราคาผันผวนสูง ๆ ก็อาจจะเกิดความเสียหายได้"นายดิษทัต กล่าว
นายดิษทัต กล่าวอีกว่า สำหรับการค้าน้ำมันดิบของหน่วยธุรกิจ รวมถึงต้องดูแลบริหารจัดการการนำเข้าน้ำมันดิบให้กับกลุ่มปตท.ให้มีความเหมาะสมและลดความเสี่ยงตามสถานการณ์ต่าง ๆ โดยล่าสุดได้ลดสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบจากแหล่งตะวันออกกลาง จากปีที่ผ่านมามีการนำเข้าสูงในสัดสว่น 57% ก็ลดลงเหลือราว 51% ในปีนี้ และวางเป้าหมายจะลดลงเหลือ 45% ในปี 64
หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ของปตท. ดำเนินธุรกิจการค้าระหว่างประเทศอย่างครบวงจร เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ ควบคู่ไปกับการขยายฐานการค้าไปยังทุกภูมิภาคทั่วโลก ครอบคลุมการจัดหาการนำเข้า การส่งออก และการค้าระหว่างของผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น น้ำมันดิบ คอนเดนเสท ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ตัวทำละลาย และเคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมทั้งให้บริการบริหารความเสี่ยงด้านราคา และจัดหาการขนส่งระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่มีเป้าหมายหลักในการเป็นบริษัทการค้าสากลชั้นนำของโลก
ปีที่ผ่านมา หน่วยธุรกิจมีปริมาณการค้ารวม 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน และการค้าอนุพันธ์ ซึ่งเป็นการบริหารความเสี่ยงราว 1 ล้านบาร์เรล/วัน การจองเที่ยวเรือมากกว่า 1 พันเที่ยวเรือ/ปี มีคู่ค้ามากกว่า 1,200 ราย ในกว่า 70 ประเทศ สร้างรายได้ให้กับปตท.มากกว่า 30% ของรายได้จากการขายรวม แต่ในส่วนของกำไรนับว่ายังมีส่วนน้อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจหลักของปตท.
ทั้งนี้ หน่วยธุรกิจมีการจัดตั้งบริษัทในเครือและสำนักงานตัวแทนในจุดศูนย์กลางการค้าต่าง ๆ ของโลก เช่น สิงคโปร์ ,เมืองเซี่ยงไฮ้ ของจีน ,กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ , เมืองอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเมืองฮิวสตัน รัฐเท้กซัส สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะที่สหรัฐ ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับกลุ่มปตท. ในการสร้างความเชื่อมโยง ขยายฐานการค้าให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วโลก