นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ก.ล.ต.เตรียมเสนอปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ในหลายส่วน โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต.ในช่วงไตรมาส 1 หรือไตรมาส 2 ของปี 64
"กฎหมายที่ออกไปทุกครั้งต้องมีการทบทวนประสิทธิภาพประสิทธิผล ในกฎหมายที่เป็นข้อติดขัด หรือทำให้เรามีความคล่องตัวขึ้น เราก็ต้องแก้กฎหมาย"นางสาวรื่นวดี กล่าว
หนึ่งในประเด็นที่จะมีการแก้ไขกฎหมาย คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้ถึงเวลาแล้วที่ ก.ล.ต.ต้องคิดว่าจะต้องเป็นพนักงานสอบสวนเองเพื่อปิดช่องว่าง (gap) ในการทำงาน เพราะที่ผ่านมาการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มีความล่าช้า เนื่องจากเมื่อร้องทุกข์กล่าวโทษไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ก็ต้องไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ จึงเสนอแก้ไขกฎหมายให้ ก.ล.ต.สามารถทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนแล้วทำสำนวนส่งให้อัยการสั่งฟ้องได้เอง
นอกจากนั้น จะมีการพิจารณามาตรการลงโทษที่เหมาะสมกับลักษณะและความร้ายแรงของการกระทำความผิด เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่สงมีประสิทธิภาพ สามารถป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดได้
นางสาวรื่นวดี ยังกล่าวว่า ในประเด็นอื่น ๆ ที่จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ได้แก่ ผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี, การจัดตั้งสภาธุรกิจตลาดทุนไทย, การเสนอขายหลักทรัพย์ดิจิทัล, การคุ้มครองพยาน, ผู้ถือหุ้นรายใหญ่, ตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์, โครงสร้างองค์กรกำกับดูแลตลาดทุน และ กองทุนเยียวยาผู้ลงทุน
ในส่วนของผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี จะมีการปรับปรุงกฎหมายและกลไกที่เกี่ยวของกับการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชีในตลาดทุน โดยให้ความเห็นชอบสำนักงานสอบบัญชี ปรับปรุงลักษณะความผิดและบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสม เนื่องจากขณะนี้มีประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่ไม่ได้มีการกำกับดูแลสำนักงานผู้สอบบัญชี แต่กำกับเฉพาะตัวผู้สอบบัญชี ซึ่งขณะนี้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มาทำวิจัยเรื่องนี้เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลแล้ว
ขณะที่การเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล ปรับปรุงการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเป็นหลักทรัพย์ให้มีความชัดเจน โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปตามแนวทางสากล และสอดคล้องกับต่างประเทศ ปัจจุบัน ก.ล.ต.กำกับดูแลเฉพาะคนกลาง คือ ICO Portal ภายใต้ความหมายของหลักทรัพย์ คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหลักทรัพย์รองรับ เพราะถือเป็นการระดมทุนโดยแท้ ซึ่งขณะนี้มีหลายบริษัทสนใจมาหารือแล้ว จึงต้องปรับปรุงกฎหมายหลักทรัพย์ให้รองรับผู้เล่นสินทรัพย์ดิจิทัลในฝั่งของหลักทรัพย์
การจัดตั้งสภาธุรกิจตลาดทุนไทย จะต้องมีการยกร่างกฎหมายออกมารองรับให้มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เช่นเดียวกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อให้เป็นศูนย์กลางองค์กรภาคตลาดทุนในการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงปฏิบัติการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ต่อตลาดทุน
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ จะปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแลผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ประกอบธุรกิจในตลาดทุน โดยสะท้อนถึงผู้มีอำนาจควบคุมที่แท้จริง โดยพิจารณาจำนวนสิทธิออกเสียงและปรับปรุงบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น
ตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักทรัพย์ ปรับปรุงโครงสร้างศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ให้รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป การกำกับดูแลกรรมการและผู้บริหาร และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของตลาดรองและองค์กรที่เกี่ยวเนื่องฯ รวมทั้งยกระดับการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ฯ
การคุ้มครองพยาน เพิ่มกลไกการให้ความคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแสในชั้นการตรวจสอบการกระทำความผิด ทำให้สำนักงาน ก.ล.ต.มีช่องทางได้รับข้อมูลและพยานหลักฐานสำคัญ เพราะอาจได้รับผลกระทบจากการให้ข้อมูลกับทางการเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำความผิด
การจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ลงทุน จากพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้องที่ผิดพลาด โดยอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการปรับปรุงกฎหมายรองรับการจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหายอันเกิดจากการกระทำอันไม่เป็นธรรมในตลาดทุน
ส่วนโครงสร้างองค์การกำกับดูแลตลาดทุน เพื่อให้สามารถรองรับพัฒนาการ ความเปลี่ยนแปลงในตลาดทุน และมีความเป็นกลาง ตลอดจนสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นางสาวรื่นวดี ยังเปิดเผยอีกว่า ก.ล.ต.ยังมีโครงการ Regulatory Guillotine เนื่องจาก ก.ล.ต.มีกฎลำดับรองที่อยู่ในความดูแล เป็นฉบับประมวล 538 ฉบับ แยกเป็นรายฉบับได้ 1,653 ฉบับ จึงกำหนดเป้าหมายที่จะลดลงให้ได้ 50% โดยมีโครงการนำร่อง 21 โครงการ มุ่งเน้นปรับปรุงกฎลำดับรองทุกด้าน ทั้งปรับปรุงกระบวนการขั้นตอน ลดจำนวนแบบคำขอ และ ปรับปรุงเนื้อหาสาระ