นายอนุพนธ์ ศรีอาจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.บีฟิท กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นเช้านี้น่าจะอ่อนตัวลงเพราะปัจจัยภายนอกส่วนใหญ่ติดลบตามดาวโจนส์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นก่อนหน้านี้อยู่แล้วแต่วันไหนที่ตลาดหุ้นต่างประเทศปรับลงแรง ตลาดหุ้นไทยก็จะเซตามลงไปด้วย และทั้งสัปดาห์ที่แล้วจะเห็นนักลงทุนต่างชาติขายออกมาตลอดเป็นการปรับพอร์ตปรับฐานที่เกิดขึ้นตามตลาดหุ้นทั่วโลก เพราะช่วงนี้ตลาดหุ้นลงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อตลาดบ้านเราอยู่
ส่วนปัจจัยภายในไม่มีอะไรที่แตกต่างมากนัก ช่วงนี้จะค่อนไปตามปัจจัยภายนอกมากกว่า
แนวรับ 830 จุด และ 820 จุด ต้องลุ้นว่าจะหลุด 830 จุดหรือเปล่า เพราะสัปดาห์ก่อนมีลงไป test 830 จุด และดีดกลับขึ้นมา วันนี้ต้องดูอีกรอบเพราะราคาน้ำมันก็ปรับลงฉะนั้นหุ้นพลังงานอาจจะโดนแรงถ่วงด้วย แนวต้าน 840 และ 845 จุด
ประเด็นของการพิจารณาการลงทุน :
- ตลาดหุ้นนิวยอร์คล่าสุด(3 ส.ค.) ดัชนีดาวโจนส์ ปิดที่ 13,181.91 จุด ลดลง 281.42 จุด(-2.09%) ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดที่ 1,433.06 จุด ลดลง 39.14 จุด(-2.66%) และดัชนีแนสแด็ก ปิดที่ 2,511.25 จุด ลดลง 64.73 จุด (-2.51%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,132.62 ล้านบาทเมื่อ 3 ส.ค.นี้
- ราคาน้ำมันดิบส่งมอบเดือน ก.ย.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุดที่ 75.48 ดอลลาร์/บาร์เรล ลดลง 1.38 ดอลลาร์
- คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ประชุมร่วมวันนี้กำหนดหลักเกณฑ์กองทุน 5,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ช่วยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท-ขาดสภาพคล่อง แบงก์เคาะอัตราดอกเบี้ย MLR-2.25% ระบุเสี่ยงสูงหวั่นเกิดเอ็นพีแอล ด้าน ส.อ.ท.เสนอตั้งคณะกรรมการกรองสมาชิกก่อนให้สินเชื่อ เปิดกว้างเอสเอ็มอีลงทะเบียนขอเงินกู้ "ประธาน ส.อ.ท." มั่นใจภายใน 30 วันปล่อยสินเชื่อได้ ขณะที่กลุ่มสิ่งทอ-เครื่องนุ่งห่ม -เครื่องใช้ไฟฟ้า-ชิ้นส่วนยานยนต์ และอาหารจ่อคิวยื่นขอ
- “สภาพัฒน์ มั่นใจเศรษฐกิจปี 50 ยังขยายตัว 4-4.5% แม้ต้องเผชิญกับผลกระทบจากค่าบาทที่แข็งค่า ระบุการส่งออกยังเป็นตัวหลักผลักดันเศรษฐกิจขยายตัว ขณะที่อัตราว่างงานโดยรวมลดลงและไม่น่าวิตก เผยสัญญาณลงทุน-บริโภคเริ่มดีขึ้น แนะรัฐรักษาเสถียรภาพค่าเงินฟื้นเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง
- ผอ.สำนักงานศุลกากรภูมิภาคที่ 4 (ศก.4)เผยขณะนี้มีการนำเงินบาทไทย ไปแลกกับเงินเหรียญสหรัฐ ในประเทศสิงคโปร์จำนวนมาก และแลกกลับเป็นเงินบาทในประเทศไทย เพื่อทำกำไรส่วนต่างถึง 2-3 บาท/เหรียญสหรัฐ
- กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะสามารถชำระหนี้เงินกู้ของสถาบันการเงินที่ยังค้างอยู่ 1.7 หมื่นล้านบาทได้หมดภายในเดือน ส.ค.นี้ เนื่องจากกองทุนสะสมรายได้เป็นไปตามเป้าหมายเฉลี่ย 3.6-3.7 พันล้านบาท จากการเรียกเก็บเงินส่งเข้ากองทุนของเบนซิน 3.40 บาทต่อลิตร และ ดีเซล 1.50 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันกองทุนน้ำมันมีรายรับมากกว่ารายจ่ายเฉลี่ย 800 ล้านบาทต่อเดือน
- นโยบายปล่อยลอยตัวราคาก๊าซแอลพีจี และปัญหาเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้ประกอบการเซรามิกเผชิญกับการแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีโรงงานขนาดใหญ่อย่างน้อย 10 แห่ง ที่ส่อเค้าว่าอาจจะต้องปิดโรงงานในอนาคต
- ตลาด-โบรกฯ และนักลงทุน ประสานเสียงค้านมาตรการเพิ่มหลักประกันซื้อขายหุ้นเป็น 15% จากปัจจุบัน 10% "วิเชฐ" ยอมรับหากเพิ่มหลักประกันจริง กระทบกลุ่มลูกค้าใหม่ แต่เชื่อฉุดการลงทุนระยะสั้น ส่วนระยะยาวแล้วถือเป็นผลดี เหตุเป็นเครื่องยืนยันว่ามีเงินลงทุนจริง ขณะที่บล.กิมเอ็ง ระบุควรศึกษาผลกระทบให้รอบคอบ หวั่นเพิ่มภาระให้ลูกค้า ยอมรับ 10% ที่ใช้อยู่ช่วยลดปัญหาเบี้ยวหนี้ลงมาก "ศิริวัฒน์" มองมาตรการเกินความจำเป็นเพิ่มความเสี่ยงนักลงทุนรายย่อยและโบรกเกอร์
- แบงก์รับภาระตั้งสำรองสูงขึ้นในปีนี้จากผลกระทบด้านเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น รับครึ่งหลังอาจต้องสำรองเพิ่ม และเกณฑ์ไอเอเอส 39 กระทบเอ็นพีแอลและภาระการสำรองตลอดปี หวังปีหน้าเศรษฐกิจฟื้น
- ผลการดำเนินงานของกองทุนวายุภักษ์ 1 ในปี 2550 คาดว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงานทั้งปี 9 พันล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเงินปันผลจากหุ้นที่กองทุนถืออยู่ ที่เป็นหุ้นพื้นฐานดี โดยเฉพาะหุ้น ปตท.ที่ถืออยู่ 50% ของมูลค่ากองทุน 1 แสนกว่าล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย จำเนียร พรทวีทรัพย์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--