หุ้น NRF ปิดเทรดวันแรกที่ 6.05 บาท เพิ่มขึ้น 1.45 บาท (+31.52%) จากราคาขาย IPO ที่ 4.60 บาท/หุ้น มูลค่าซื้อขาย 6,031.25 ล้านบาท โดยเปิดตลาดที่ 9.05 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 9.20 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 5.80 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯในด้านของการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมเบื้องต้นของบมจ.เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ (NRF) ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดขายสินค้าราว 90% มาจากกลุ่มเครื่องปรุงรสและซอส (ราว 60% เป็นการรับจ้างผลิต) และเป็นสัดส่วนของกลุ่ม Plant-Based ราว 10% ณ ราคา IPO คิดเป็น PER ที่ 95 เท่า เทียบกับธุรกิจที่ใกล้เคียงกันคือบมจ.เอ็กโซติค ฟู้ด (XO) และบมจ.อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) ซึ่งซื้อขายที่ PER 26 เท่า และ 44 เท่าตามลำดับ โดยบริษัทมีจุดเด่นคือ ความพยายามที่จะเป็นธุรกิจสำหรับผู้บริโภคสมัยใหม่ที่เน้นอาหารที่เป็นมิตรกับทั้งผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งคาดหวังการเติบโตของธุรกิจที่สูงจากแผนการลงทุนหลายโครงการ และบริษัทมีหุ้นที่ห้ามขาย 745.68 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 55% ภายในระยะเวลา 1 ปี
NRF มี 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ (1) กลุ่ม Ethnic Food ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจผลิตภัณฑ์รับจ้างผลิต (OEM และ Private Brand) ซึ่งคิดเป็นประมาณ 63% ของยอดขายรวม และธุรกิจผลิตภัณฑ์ภายใต้ตราสินค้าของบริษัทฯ (NRF Brand Ethnic Foods) ได้แก่ ตราพ่อขวัญ, ตรา Lee Brand, ตรา Thai Delight, ตรา Shanggie, ตรา DeDe, และตรา Sabzu ซึ่งคิดเป็นประมาณ 26% ของยอดขายรวม (2) กลุ่ม Plant-Based Food ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารโปรตีนจากพืช ซึ่งคิดเป็นประมาณ 7% ของยอดขายรวม และ (3) กลุ่ม Functional Product ได้แก่ ธุรกิจผลิตภัณฑ์ที่ทำหน้าที่เฉพาะด้าน รวมถึงสินค้าอุปโภคที่ไม่ใช่อาหารในบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม (V-Shapes)
โครงการในอนาคต :
1) การลงทุนในซิตี้ฟูด (ซื้อหุ้นเพิ่มเติม 85% เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 100%) (Ethnic Food)
2) การเพิ่มกำลังการผลิต และปรับปรุงกระบวนการผลิตภายในโรงงาน (Ethnic Food)
3) สร้างโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชแห่งใหม่ในประเทศไทย (Plant Based - Food)
4) ซื้อโรงงานผลิตอาหารโปรตีนจากพืชในประเทศอังกฤษและอเมริกาผ่านการลงทุนในแพลนท์แอนด์บีน (Plant Based - Food)
5) การร่วมลงทุนในสตาร์ทอัพอาหารโปรตีนจากพืชและเซลล์ (Cell-based) ประมาณ 100 สตาร์ทอัพ ผ่าน BIG Idea Venture และ New Protein Fund