บมจ.ลีโอ โกลบอล โลจิสติกส์ (LEO) หนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ครอบคลุมทั่วโลก เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) 120 ล้านหุ้น ในปลายเดือนต.ค. เพื่อนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงต้นเดือนพ.ย. ระดมทุนเพื่อใช้ต่อยอดธุรกิจเพื่อเพิ่มมาร์จิ้น สร้างรายได้ประจำลดความผันผวนของธุรกิจ รวมถึงมองหาดีล M&A ในธุรกิจขนส่งทางอากาศ (Air Freight) ตามความต้องการใช้บริการที่เพิ่มขึ้น พร้อมชูจุดเด่นแตกต่างกับคู่แข่ง จากการที่มีฐานลูกค้าที่หลากหลายอุตสาหกรรมทำให้มีรายได้การกระจายตัว พร้อมกับมีประสิทธิภาพการควบคุมต้นทุนที่ดี หนุนการทำกำไรมีเสถียรภาพ ท่ามกลางการแข่งขันที่สูงแต่ก็มีโอกาสของการเติบโต
นายเกตติวิทย์ สิทธิสุนทรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ LEO กล่าวกับ "อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทดำเนินธุรกิจรับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและโลจิสติกส์ครบวงจรชั้นนำของไทยได้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 จากช่วงเริ่มต้นที่เป็นเพียงผู้ให้บริการขนส่งทางเรือกับลูกค้า และต่อมาได้ยกระดับการให้บริการในรูปแบบ one stop service ครอบคลุมบริการในส่วนขาเข้า ขาออก บริการศุลกากร บริการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือมาสู่ทางบกให้กับลูกค้า และขยายมาสู่การให้บริการขนส่งทางอากาศในปัจจุบัน
ด้านเครือข่ายพันธมิตรและคู่ค้าให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ของบริษัทถือเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้การบริการมีศักยภาพ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน จากเครือข่ายพันธมิตรการขนส่งที่มีอยู่กว่า 190 ประเทศทั่วโลก ทำให้การเชื่อมโยงเครือข่ายการขนส่งมีความแข็งแกร่ง และสามารถดำเนินการขนส่งได้อย่างราบรื่น พร้อมกับการให้ความสำคัญเรื่องการสร้างความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้า
"การทำธุรกิจเราต้องนึกถึง long term นอกจากเราจะขยายธุรกิจให้เติบโตขึ้นแล้ว สิ่งที่สำคัญ และเป็น Pain Point ของลูกค้าที่เราต้องนำมาสร้างโอกาสในระยะยาวให้กับบริษัท คือ ทำอย่างไรให้เขามั่นใจว่าใช้บริการขนส่งของเราแล้วของที่เขาส่งไปจะไม่เสียหายหรือไม่สูญหาย เราจึงให้ความสำคัญในการทำประกันการขนส่ง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ถ้าเขาเลือกและมั่นใจใช้บริการเรา เขาก็มั่นใจได้ว่าเงินเขาไม่หาย"นายเกตติวิทย์ กล่าว
สำหรับการเดินหน้าเสนอขายหุ้น IPO ครั้งนี้มีบล.ทรีนีตี้ เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ซึ่งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เริ่มนับหนึ่งแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) แล้ว และบริษัทเริ่มเดินสายให้ข้อมูลแก่นักลงทุน (โรดโชว์) ไปแล้วที่หาดใหญ่ ชลบุรี และเชียงใหม่ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี และในสัปดาห์หน้าจะจัดโรดโชว์ที่กรุงเทพฯ
นายเกตติวิทย์ กล่าวว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO ไปใช้ลงทุนต่อยอดธุรกิจ โดยจะนำไปลงทุนธุรกิจ LEO Self-Storage & E-Fulfillment Center จำนวน 2 โครงการ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีอนาคตจากความต้องการใช้บริการพื้นที่เก็บสินค้าของลูกค้า โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี และเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำทำให้รายได้ไม่มีความผันผวน ประกอบกับเป็นธุรกิจที่ให้มาร์จิ้นที่ดี ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการมองหาที่ดินเพื่อขยายพื้นที่เช่าจัดเก็บสินค้าของลูกค้าเพิ่มเป็น 2,000 ตารางเมตร จากปัจจุบันมี Self-Storage 1 แห่ง มีพื้นที่เช่า 1,200 ตารางเมตร
นอกจากนี้จะนำเงินที่ได้มาใช้พัฒนาระบบขนส่งผ่านแดนไปยังประเทศเมียนมา พร้อมกับการขยายพื้นที่บริการรับฝากตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ และการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเงินทุนในการเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศและกลุ่มประเทศอาเซียน ด้วยการซื้อและควบรวมกิจการ (M&A) ในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะการให้บริการขนส่งทางอากาศ (Air Freight) ซึ่งเริ่มมีความต้องการใช้บริการมากขึ้น ซึ่งการทำ M&A จะทำให้บริษัทสามารถขยายงานดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และทันต่อความต้องการใช้บริการของลูกค้า
สำหรับจุดเด่นของบริษัท คือการมีบุคลากรและทีมงานคุณภาพ มีประสบการณ์ในการทำงานมานานกว่า 30 ปี มีอัตราค่าบริการที่เหมาะสม ทั้งค่าบริการการขนส่งสินค้าทางเรือ ทางอากาศ และมีหน่วยงานที่ดำเนินพิธีการทางศุลกากรเอง ซึ่งเอกสาร B/L (Bill of Lading) ทุกฉบับของบริษัทมีการทำประกันภัยคุ้มครองความรับผิดชอบ (Liability Insurance) ของผู้ประกอบการขนส่งกับบริษัทประกันภัยชั้นนำ และมีเครือข่ายการขนส่งที่ครอบคลุม 190 ประเทศทั่วโลก
ด้านความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นที่ดำเนินธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ มาจากการที่บริษัทมีลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งและโลจิสติกส์กระจายอยู่ในหลากหลายอุตสาหกรรม จากฐานลูกค้าที่ใช้บริการอยู่ทั้งหมดกว่า 1,200 ราย ไม่พึ่งพาลูกค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นหลัก ทำให้รายได้มีการกระจายตัว และมีการดำเนินธุรกิจที่ติดต่อและเข้าถึงลูกค้าโดยตรง ทำให้มีความเข้าใจความต้องการใช้บริการของลูกค้อย่างมาก ส่งผลให้มีการนำเสนอบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เป็นอย่างดี และความยืดหยุ่นในการดำเนินงานที่ปรับเปลี่ยนได้รวดเร็ว
นอกจากนี้มียังประสิทธิภาพเรื่องการควบคุมต้นทุน อย่างการหันมาใช้บริการเช่าเครื่องบินเหมาลำในการขนส่งแทนการใช้การขนส่งร่วมกับเครื่องบินโดยสาร ทำให้บริษัทมีมาร์จิ้นมากขึ้น และการใช้บริการขนส่งทางรถของพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการที่ดีกว่าบริษัท ทำให้บริษัทมีประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุน
นายเกตติวิทย์ กล่าวว่า ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทถือเป็นจุดที่แตกต่างจากธุรกิจอื่น เพราะการทำกำไรของบริษัทค่อนข้างมีเสถียรภาพจากการกระจายฐานลูกค้า ซึ่งจะเป็นหนึ่งจุดที่นักลงทุนสามารถใช้พิจารณาเพื่อลงทุนในธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งทำให้บริษัทมีความน่าสนใจ และนักลงทุนสามารถเชื่อมั่นในการทำงานและผลตอบแทนที่จะได้รับ อีกทั้งในส่วนของหนี้สินก็มีอยู่น้อยมาก โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) น้อยกว่า 1 เท่า ประกอบกับมีศักยภาพต่อยอดและขยายสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจได้อย่างมั่นคง
สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติกส์ในประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากเป็นตลาดที่มีผู้ประกอบการหลายราย แต่ในส่วนของบริษัทไม่ได้เข้าไปแข่งขันด้านราคา แต่เน้นการแข่งขันด้านคุณภาพการบริการ เน้นการสร้างความพึงพอใจแก่ลูกค้าและตอบโจทย์ความต้องการใช้บริการของลูกค้าเป็นหลัก เน้นการสร้างมาร์จิ้นที่ดีมากกว่าการสร้างวอลุ่มที่สูง เปรียบเสมือนการนำบริษัทเข้าไปแข่งขันในตลาก Blue Ocean และหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาด Red Ocean
ส่วนผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปีจนถึงกลางปี ทำให้ปริมาณาการขนส่งหายไปค่อนข้างมากจากการล็อกดาวน์ โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือที่ปริมาณการขนส่งหายไป 25-30% ในช่วงแรกของการระบาดโควิด-19 รวมถึงปริมาณการขนส่งทางอากาศก็หายไปด้วยเช่นกัน แต่หลังจากที่การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลายลงบ้างในช่วงครึ่งปีหลัง ประกอบการที่ประเทศจีนเริ่มกลับมาเปิดงานภาคอุตสาหกรรม ทำให้ปริมาณการขนส่งทางเรือและอากาศตั้งแต่เดือมิ.ย.63 ทยอยฟื้นตัวช่วยให้ภาพรวมของผลการดำเนินงานของบริษัทเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้นตาม แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงของการแพร่ระบาดที่ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามและระมัดระวังผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ต่อธุรกิจ
อย่างไรก็ตามบริษัทยังมองอนาคตของอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ในประเทศไทยยังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการใช้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น และการที่รัฐบาลบรรจุการส่งเสริมอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์ชาติฉบับต่อไป ก็เชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมมีโอกาสขยายตัวได้ในอนาคต
ด้านสัดส่วนรายได้ของบริษัท ณ สิ้นไตรมาส 2/63 รายได้หลักยังคงมาจากการขนส่งทางเรือ 64% รายได้จากการขนส่งทางอากาศ 19% รายได้จากการขนส่งทางรถ 16% และรายได้ส่วนที่เหลือมาจากการให้บริการอื่น ๆ และ Self-Storage ซึ่งก้าวต่อไปของบริษัทในการขยายธุรกิจจะเพิ่มรายได้จากการขนส่งทางอากาศมากขึ้น จากการมองหาดีล M&A และเพิ่มรายได้จาก Self-Storage จากการลงทุนพัฒนาเพิ่มอีก 2 โครงการ
*โบรกฯให้ราคาเป้าหมาย LEO ที่ 4.36-4.44 บาท
โบรกเกอร์ ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) โนมูระ พัฒนสิน 4.36 ฟินันเซีย ไซรัส 4.44
บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุในบทวิเคราะห์ ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ LEO ที่ 4.36 บาท/หุ้น ด้วยวิธี P/E multiple ที่ 20 เท่า (อิงจากค่า P/E เฉลี่ยของหุ้นโลจิสติกส์ใน SET และ mai) โดย LEO เป็นผู้ประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ครบวงจรครอบคลุมทั่วโลก เป็นพันธมิตรกับสายเดินเรือสัญชาติเกาหลี และผู้ให้บริการขนส่งพัสดุและเอกสารเร่งด่วนระหว่างประเทศจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งในปีนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กระทบต่อปริมาณขนส่ง แต่ได้ประโยชน์จากราคาค่าบริการขนส่งทางอากาศสูงขึ้น และการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่ายทำได้ดี หนุนกำไรสุทธิให้เติบโตได้ 27% จากปีที่แล้ว เป็น 58 ล้านบาท และในปี 64-65 คาดว่ากำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจและปริมาณขนส่งสินค้า
โดยมี Catalysts จากราคาค่าบริการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้น ปริมาณขนส่งทางทะเลได้รับการชดเชยจากงานขนส่งทางอากาศที่โยกมาขนส่งทางทะเลแทน และการควบคุมต้นทุน ค่าใช้จ่ายภายในบริษัท ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์มีแนวโน้มเติบโตจากนโยบายรัฐสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าในภูมิภาคอาเซียน และได้ประโยชน์จากการขยายตัวของธุรกิจ E-Commerce
ด้านบล.ฟินันเซีย ไซรัส ในกลุ่ม Finansia ซึ่งเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย ระบุในบทวิเคราะห์ว่า LEO เป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรทั้งทางทะเล อากาศ บก โดยมีจุดแข็งคือมีเครือข่ายพันธมิตรใน 190 ประเทศทั่วโลก ประกอบกับมีทีมขายที่มีความเชี่ยวชาญ และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้ามายาวนาน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการรักษาฐานลูกค้าไม่ให้ย้ายไปใช้บริการกับรายอื่น แม้ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จะได้รับผลลบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กำไรลดลง 9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ล่าสุดการกลับมา Reopen ทำให้ความต้องการบริการขนส่งฟื้นตัวขึ้น ทั้งนี้คาดว่า LEO จะมีกำไรสุทธิปี 63 เติบโต 29% จากปีก่อน และโตต่อเนื่อง 27% จากปีนี้ จากการฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด-19 โดยประเมินราคาเป้าหมายที่ 4.44 บาท/หุ้น