UF ขอเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดฯเพื่อยุติธุรกิจผลิตรองเท้าหลังขาดทุนหนัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday August 1, 2007 09:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายทรงศักดิ์ ธรรมภิมุขวัฒนา กรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเนี่ยนฟุทแวร์(UF) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2550 มีมติอนุมัติให้บริษัทฯ ดำเนินการขอเพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เนื่องจากบริษัทฯต้องการจะยุติการดำเนินธุรกิจรองเท้า 
สาเหตุที่บริษัทฯจะหยุดดำเนินธุรกิจรองเท้า เพราะอุตสาหกรรมรองเท้ามีการแข่งขันสูงจากต่างประเทศ ปัจจุบันเป็นตลาดของผู้ซื้อน้อยราย ทำให้มีโอกาสน้อยในการเจรจาต่อรองเงื่อนไขและราคาขาย ถึงแม้บริษัทฯได้พัฒนาทั้งระบบการบริหารจัดการ และกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่ความสามารถในการทำกำไรก็ลดลงทุกปีและบริษัทฯประสบผลขาดทุนติดต่อกันมาเกินกว่า 3 ปี
นอกจากนั้น อุตสาหกรรมรองเท้าต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก บริษัทฯประสบกับสภาวะการขาดแรงงานทั้งๆที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มอยู่ตลอดเวลา บริษัท ฯได้พยายามแก้ไขปัญหาการขาดแรงงาน โดยให้บริษัทย่อยที่ทำชิ้นส่วนรองเท้าให้บริษัทไปประกอบกิจการในต่างจังหวัด แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตอย่างรุนแรง
ประกอบกับ แรงงานไม่เสถียรคือมีการเข้าออกเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้นทุนการฝึกอบรมสูงและส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิต และการส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ไม่ตรงตามกำหนดเวลา ทำให้บริษัทฯต้องรับภาระค่าขนส่งทางอากาศ(Airfreight) ที่เป็นค่าใช้จ่ายสูงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจรองเท้าในจีนและเวียดนามซึ่งมีแรงงานจำนวนมาก และมีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าไทยทำให้ไม่สามารถแข่งขันในธุรกิจนี้ได้
และต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะด้านสาธารณูปโภคและพลังงาน อันประกอบด้วยค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน และค่าขนส่งเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมทั้งค่าวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทฯจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ขบวนการผลิต และการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อตอบสนองความต้องการของคู่ค้าที่มีการปรับเปลี่ยนความต้องการมากขึ้นตลอดเวลา จะก่อให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและไม่อาจผลักภาระให้กับคู่ค้าได้ทั้งหมด ซึ่งส่งผลให้รายได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการผลิต
บริษัท ฯได้ทำธุรกิจซื้อขายในรูปเงินตราต่างประเทศซึ่งเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นส่วนใหญ่ ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน และค่าเงินบาทมีแนวโน้มว่าจะแข็งค่าในระดับนี้ต่อไปในระยะยาว ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาประสบปัญหาเป็นอย่างมาก
เมื่อบริษัทฯคำนึงถึงผลตอบแทนทางธุรกิจการแข่งขันทางการค้า ความเสี่ยงกับความจำเป็นที่บริษัทฯจะต้องลงทุนในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของคู่ค้าแล้ว บริษัทฯพิจารณาเห็นว่าธุรกิจนี้มีความเสี่ยงสูงมีโอกาสที่จะขาดทุนต่อไป นับเป็นธุรกิจที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน บริษัทฯจึงตัดสินใจเลิกการผลิต เพื่อมิให้เกิดความเสียหายมากกว่านี้
บริษัทฯจะดำเนินการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าตามคำสั่งซื้อที่มีอยู่ภายในปี 2550 จนครบถ้วน หลังจากนั้นก็จะหยุดดำเนินกิจการรองเท้า ทั้งของบริษัทและบริษัทย่อย และยังไม่มีนโยบายที่จะดำเนินธุรกิจอื่นใดอีก บริษัทฯจะทยอยหยุดดำเนินการผลิตและจะรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างแรงงานและเงินชดเชยตามกฎหมาย
นางทรงศักดิ์ กล่าวว่า ในการดำเนินการขอเพิกถอนหลักทรัพย์โดยสมัครใจดังกล่าว บริษัทฯจะปฏิบัติตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อมูลเบื้องต้นดังนี้
ผู้เสนอซื้อ : บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) (SUC)
ประเภทหลักทรัพย์ ณ วันปิด : หุ้นสามัญ จำนวน 9,896,120 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้
สมุดทะเบียนพักการโอนหุ้น หุ้นละ 10 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 98,961,200 บาท
เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550
ความสัมพันธ์กับบริษัท : เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ของบริษัท โดยลงทุนในบริษัทฯ จำนวน 10,103,880 หุ้น หรือคิดเป็น
สัดส่วนร้อยละ 50.52 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของบริษัทฯ
ราคาเสนอซื้อหุ้นสามัญ : ราคา 3.29 บาทต่อหุ้น
ที่ปรึกษาทางการเงินของผู้เสนอซื้อ: บริษัท เอสเซท โปร แมนเนจเม้นท์ จำกัด
ที่ประชุมยังมีมติอนุมัติการแต่งตั้งบริษัท หลักทรัพย์ฟาร์อีสท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระของผู้ถือหุ้น และกำหนดวันประชุมชี้แจงผู้ลงทุน (Presentation) เพื่อเสนอแนะความเห็นเกี่ยวกับการขอเพิกถอนหุ้นและข้อเสนอของผู้เสนอซื้อหุ้น ในวันที่ 28 สิงหาคม 2550 และกำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2550 ในวันอังคารที่ 4 กันยายน 2550 กำหนดวันปิดสมุดเบียนพักการโอนหุ้น เพื่อสิทธิในการเข้าร่วมประชุมผู้ถือ หุ้นตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2550
พร้อมทั้งให้บริษัทฯขอความช่วยเหลือทางการเงินจากบมจ.สหยูเนี่ยน(SUC) ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ วงเงินกู้ 180 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนก่อนหยุดดำเนินธุรกิจ โดยประมาณการระยะเวลาการชำระคืนภายใน 1 ปี โดยคำนวณดอกเบี้ย อิงตาม
อัตราดอกเบี้ย MLR ของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง และบริษัทฯจะใช้วงเงินนี้เมื่อได้รับการพิจารณาอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ