นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ดัชนีหุ้นไทยทางเทคนิคยังอยู่ในแนวโน้มแกว่งไซด์เวย์ดาวน์ จนกว่าจะสามารถขึ้นมายืนเหนือระดับ 1,300 จุดเท่านั้นตลาดหุ้นไทยจึงจะเปลี่ยนแนวโน้มเป็นแนวทางอื่น ทำให้ยังคงกลยุทธ์หลัก คือ แนะนำหาจังหวะทยอยสะสมช่วงตลาดอ่อนตัว แต่ไม่ต้องรีบร้อน เนื่องจาก 3 ปัจจัยเสี่ยงหลักยังคงกดดันตลาดอยู่ เช่น สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศ ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป, ความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ และปัญหาการเมืองในประเทศที่ยังคาราคาซังอยู่ ทั้งการชุมนุมทางการเมือง และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ แนะนำสะสม "เพื่อการลงทุน" หวังผลในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า ได้แก่ หุ้นที่แนวโน้มกำไรปีหน้าฟื้นตัวโดดเด่น ราคาหุ้นมีโอกาสปรับขึ้นมากกว่า 20% จากมูลค่าเหมาะสมทางปัจจัยพื้นฐาน แนะนำ AEONTS, BAM, BDMS, BEM, CPALL, MTC, PTTGC, TWPC และ WHA และแนะทยอยเก็บหุ้นปันผลที่คาดมีอัตราเงินปันผลมากกว่า 4% ต่อปี แนะนำ DCC, EASTW, INTUCH, LH, QH, NYT, PROSPECT, RATCH และ TVO
ส่วนหุ้น"เทรดดิ้ง-เก็งกำไรระยะสั้น" แนะนำหุ้นที่คาดว่างบจะออกมาดีเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน คือ AP, MTC, RBF, SAPPE, SYNEX และ TU รวมถึงหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัวในระยะสั้น จาก"ช้อปดีมีคืน" คือ COM7, CRC และ HMPRO และหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวขึ้น คือ KSL และTVO
นายอภิชาติ กล่าวว่า จากการรวบรวมประมาณการผลประกอบการของตลาดโดยรวมจาก Bloomberg Consensus ของหุ้นจำนวน 111 บริษัท คิดเป็น 71% ของมูลค่าตลาดรวมทั้งหมด (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ต.ค.) นักวิเคราะห์คาดว่า ไตรมาส 3/63 บริษัทจดทะเบียนไทยจะมีกำไรสุทธิรวม 9.56 หมื่นล้านบาท ฟื้นตัวแค่ 5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ยังหดตัวแรง 45% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะถูกถ่วงด้วยหุ้นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สายการบิน และสนามบิน ที่ยังมีผลขาดทุนอยู่ ขณะที่หุ้นธุรกิจโรงกลั่นคาดจะมีผลขาดทุนเช่นกัน จากอัตราค่าการกลั่นที่ต่ำมาก ดังนั้น การประกาศผลประกอบการไตรมาสนี้จึงไม่คาดว่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้มากนัก
สำหรับการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ (Special Tourist VISA : STV) กลุ่มแรกจากจีนประมาณ 120 คนในช่วงปลายเดือน ต.ค. นี้ แม้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อส่งเสริมบรรยากาศการท่องเที่ยวไทย แต่คงไม่สามารถคาดหวังผลเชิงบวกต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวในกลุ่มดังกล่าวประเมินว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1,200 คนต่อเดือน และจะสร้างรายได้ให้ประเทศราว 1,200 ล้านบาทต่อเดือน เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงก่อนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 3 ล้านคนต่อเดือน และสร้างรายได้ประมาณ 160,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือยังไม่ถึง 1% ทั้งในแง่ของจำนวนนักท่องเที่ยว และจำนวนรายได้
นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดการแพร่ระบาดฯ ตามมาด้วย โดยเฉพาะหากเริ่มต้นเปิดรับนักท่องเที่ยว STV กลุ่ม 2 และกลุ่ม 3 ที่รัฐบาลมีแนวทางจะลดการกักตัวลงเหลือ 7 วัน จนถึงไม่ต้องมีการกักตัวเลยตามลำดับ ในช่วงแรกๆ หากมีข่าวการติดเชื้อฯ เกิดขึ้น จะทำให้ราคาหุ้นในตลาดผันผวนได้ง่าย และน่าจะใช้เวลาอีกเป็นเดือนกว่านักลงทุนจะเริ่มคุ้นชินกับข่าวดังกล่าว ดังนั้น จึงอยากให้นักลงทุนเตรียมใจเผื่อไว้สำหรับความผันผวนในอนาคตด้วย
สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศนั้น ล่าสุดนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อคุมการชุมนุม ตั้งแต่เวลา 4.00 น. ของวันที่ 15 ต.ค. เป็นต้นไป คาดว่าจะกดดันกระแสเงินทุนต่างประเทศไหลออกต่อเนื่อง อิงจากการประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินจากเหตุความวุ่นวายทางการเมืองหลายครั้งในอดีตดัชนีหุ้นไทย จะปรับตัวลงเฉลี่ย 2% ในช่วง 3 วันทำการ และต่างชาติมักเป็นผู้ขายสุทธิเฉลี่ยประมาณ 4,000 ล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว แต่หลังจากนั้นดัชนีหุ้นไทยจะเริ่มจะฟื้นตัวดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ต่อมา โดยจะเคลื่อนไหวตามสถานการณ์การเมืองภายในประเทศและปัจจัยอื่นที่เข้ามามีผลกระทบ