ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาทของบริษัทที่ระดับ "BBB+" ด้วยเช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ไปใช้ชำระคืนหนี้และขยายพอร์ตสินเชื่อ
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันและฐานเงินทุนที่เข้มแข็งของบริษัท รวมทั้งยังสะท้อนถึงความสามารถในการทำกำไรที่ดีและคุณภาพสินทรัพย์ที่ทรงตัว ตลอดจนแหล่งเงินทุนที่หลากหลายและสถานะสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตก็ได้รับแรงกดดันจากแนวโน้มผลกระทบที่จะมีต่อคุณภาพสินทรัพย์และสถานะทางการเงินของบริษัทที่อาจเกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำให้ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงจนถึงเวลานี้
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะดำรงสถานะผู้นำในธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันต่อไปในระยะปานกลางได้ โดยเชื่อว่าบริษัทจะสามารถต่อยอดความชำนาญในการดำเนินธุรกิจในตลาดดังกล่าวรวมทั้งขยายเครือข่ายสาขาและฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมียอดสินเชื่อคงค้างที่เติบโตขึ้น 16% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมาอยู่ที่ 6.33 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทยังได้เปิดสาขาเพิ่มเติมอีก 461 แห่งเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่และขยายฐานลูกค้าให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยบริษัทมีจำนวนสาขาทั้งหมดอยู่ที่ 4,568 แห่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 และมีเป้าหมายที่จะขยายให้ถึง 4,700 แห่งภายในสิ้นปี 2563
ทริสเรทติ้งคาดว่าโครงสร้างเงินทุนของบริษัทจะคงความแข็งแกร่งต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงโดยเฉลี่ย 5 ปีที่ประมาณ 24% โดยผลกำไรที่แข็งแกร่งและนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่มีความระมัดระวังน่าจะช่วยสนับสนุนการสะสมฐานทุนของบริษัทได้ อีกทั้งทริสเรทติ้งยังคาดว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขสำคัญทางการเงินที่ให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นไว้ไม่เกิน 4 เท่าได้
โดยทริสเรทติ้งประมาณการว่าอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3 เท่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่ง ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงและอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 23.7% และ 2.9 เท่าตามลำดับ
ความสามารถในการสร้างผลกำไรในระดับเพียงพอของบริษัทนั้นน่าจะช่วยสนับสนุนการดำรงสถานะทุน การก่อหนี้ และการสร้างกำไรที่แข็งแกร่งให้แก่บริษัทได้อย่างต่อเนื่อง โดยทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่าอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยโดยเฉลี่ย 5 ปีของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 7.9% ในขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 อัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 8.7% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 อันเนื่องมาจากความจำเป็นในการตั้งค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตในระดับต่ำตามมาตรการผ่อนปรนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) บริษัทมีต้นทุนทางเครดิตที่ปรับเป็นตัวเลขเต็มปีแล้วอยู่ที่ระดับ 0.3% ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนจากการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อค้างชำระมากกว่า 90 วัน) ของบริษัทยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 212%
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะยังคงรักษาความสามารถในการทำกำไรเอาไว้ได้ในอีก 2-3 ปีข้างหน้าด้วยการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ
ทริสเรทติ้งคาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ของบริษัทอาจอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลังจากที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ของ ธปท. สิ้นสุดลง อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดว่าคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนตัวลงนั้นจะอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้และจะมีผลกระทบต่อสถานะความเสี่ยงของบริษัทในขอบเขตที่จำกัด โดยนโยบายการให้สินเชื่อที่เข้มงวดและกระบวนการจัดเก็บหนี้ที่มีประสิทธิภาพน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมผลขาดทุนด้านเครดิตที่อาจเกิดขึ้นได้
ทั้งนี้ สินเชื่อของบริษัทที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งจะสิ้นสุด ณ สิ้นเดือนมิถุยนายน 2563 รวมไปถึงโครงการการพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ และคิดเป็น 9% ของลูกหนี้รวม ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 โดยประมาณ 80% ของลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติแล้ว ทริสเรทติ้งจึงเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรักษาเป้าหมายอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตหรือสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมที่ระดับต่ำกว่า 2% เอาไว้ได้ โดย ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 1.0% ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับในปี 2562
สถานะในการระดมทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัทนั้นมีปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่บริษัทมีความสามารถในการเข้าถึงตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนรวมถึงมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินหลายแห่งซึ่งแสดงถึงการมีช่องทางในการระดมทุนที่หลากหลาย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินต่าง ๆ จำนวนทั้งสิ้น 9.7 พันล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางการตลาด รวมทั้งมีผลประกอบการที่น่าพอใจ สามารถควบคุมคุณภาพสินเชื่อ และรักษาอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตในอนาคตอันใกล้นี้มีความเป็นไปได้ในระดับที่จำกัด อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอัตราส่วนเงินทุนที่ปรับความเสี่ยงของบริษัทอยู่ในระดับที่สูงกว่า 25% ในขณะที่ผลประกอบการทางการเงินยังคงแข็งแกร่งโดยมีอัตราส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ต่อสินทรัพย์เสี่ยงถัวเฉลี่ยที่อยู่ในระดับสูงกว่า 8% อย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากคุณภาพสินทรัพย์หรือความสามารถในการทำกำไรของบริษัทถดถอยลงจนนำไปสู่การมีสถานะเงินทุนที่อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญและความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เดิมหรือความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น