บลจ.ไทยพาณิชย์ ปันผลกองหุ้นญี่ปุ่น-หุ้นผันผวนต่ำ มีมุมมองบวกต่อตลาดญี่ปุ่น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 22, 2020 11:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางนันท์มนัส เปี่ยมทิพย์มนัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลกองทุนหุ้นต่างประเทศพร้อมกัน 2 กองทุน ในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา ประกอบด้วยกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นญี่ปุ่น (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBNK225D) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2562 ? 30 ก.ย. 2563 ในอัตรา 0.3689 บาทต่อหน่วย ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจ่ายปันผลระหว่างกาลเมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2563 ไปแล้วจำนวน 0.1384 บาทต่อหน่วย เหลือจ่ายงวดนี้ 0.2305 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 12 รวมจ่ายปันผล 3.5787 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 11 ต.ค. 2556)

และกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ หุ้น LOW VOLATILITY (ชนิดจ่ายเงินปันผล) (SCBLEQ) สำหรับผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 2563 ? 30 ก.ย. 2563 ในอัตรา 0.2280 บาทต่อหน่วย ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 8 รวมจ่ายปันผล 1.4841 บาทต่อหน่วย (นับจากจัดตั้งกองทุนเมื่อ 28 เม.ย. 2559)

ทั้งนี้ กองทุน SCBNK225D จัดเป็นกองทุน 5 ดาว ประเภท Thailand Fund Japan Equity ของมอร์นิ่งสตาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 2563) มีนโยบายการลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Nikkei 225 Exchange Traded Fund (กองทุนหลัก) เฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน บริหารงานโดย Nomura Asset Management Co.,Ltd. จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และลงทุนในสกุลเงินเยน (JPY) มีนโยบายเน้นลงทุนในตราสารทุนทั้งหมดที่เป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 และตราสารทุนที่กำลังจะมาเป็นส่วนประกอบของดัชนีนิคเคอิ 225 ในสัดส่วนการลงทุนเดียวกับจำนวนหุ้นในดัชนีนิคเคอิ 225 (Nikkei 225 Index หรือ Nikkei Stock Average) มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไม่น้อยกว่าร้อยละ90 ของมูลค่าสินทรัพย์ที่ลงทุนในต่างประเทศ

ส่วนกองทุน SCBLEQ มีนโยบายลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุน Low Volatility Equity Portfolio (กองทุนหลัก) ชนิดหน่วยลงทุน (Share Class) I สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ (USD) บริหารโดย AllianceBernstein L.P โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน และอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้กองทุนหลักลงทุนในหุ้นทั่วโลกมีการบริหารจัดการเชิงรุก (Active) โดยการคัดเลือกหุ้นในพอร์ตที่มีคุณภาพดี มีความผันผวนต่ำ ราคาน่าสนใจ สามารถลดความผันผวนในพอร์ตโดยรวมได้ ปัจจุบันมีการกระจายการลงทุนในหุ้น 70 - 90 ตัว กระจายการลงทุนไปยังหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น กลุ่มไอที การเงิน เฮลท์แคร์ และสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ฯลฯ

นางนันท์มนัส กล่าวว่า ในช่วงต้นปี 2563 ความไม่แน่นอนจากเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก กระทบการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น Semi-Conductor ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวสัญชาติหลักที่เข้ามาเที่ยวในญี่ปุ่น รวมไปถึงการประกาศเลื่อนการจัดแข่งขันโอลิมปิก 2563 ที่เป็นแรงผลักดันภาคการบริโภคหลัก แต่ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐโดยนโยบายการคลังคิดเป็นมูลค่า 117 ล้านล้านเยน ซึ่งถ้ารวมนโยบายภาครัฐทั้งหมดคิดเป็นร้อยละ 40 ของตัวเลข GDP ญี่ปุ่นต่อปี

นอกจากนี้ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ออกมาตรการบรรเทาสภาพเศรษฐกิจโดยการเพิ่มเพดานการเข้าซื้อตราสารการเงินระยะสั้น และตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคธุรกิจเอกชนที่ 30 ล้านล้านเยนต่อปีถึงเดือนมี.ค. 2564 รวมไปถึงยกเลิกเพดานการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่ 80 ล้านล้านเยนต่อปี และเข้าซื้อ ETFs และ JPREITs เพื่อสนับสนุนตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยมาตรการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐและธนาคารกลาง ประกอบกับตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงอย่างมีนัยยะ ทำให้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นสามารถดันราคากลับมาใกล้เคียงจุดสูงสุดของปี 2563

สำหรับตลาดหุ้นทั่วโลก ถึงแม้ว่าจะเผชิญความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ จนส่งผลให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางได้ผนึกกำลังกับรัฐบาลทั่วโลกเร่งออกนโยบายเพื่อต่อสู้กับวิกฤติในครั้งนี้ผ่านมาตรการต่างๆ ทั้งนโนบายการเงินและการคลัง อาทิ การประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน การเพิ่มปริมาณวงเงิน Quantitative Easing (QE) การออกกลไกการปล่อยสินเชื่อพิเศษต่างๆ และเดินหน้านโยบายช่วยเหลือเพื่อชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ ทำให้นักลงทุนเริ่มคลายความกังวล ประกอบกับตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มปรับตัวขึ้นภายหลังลงสู่จุดต่ำสุดของปีในช่วงปลายเดือน มี.ค. สำหรับในระยะถัดไป คาดว่าตลาดหุ้นทั่วโลกยังคงได้รับแรงหนุนจากภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ และปริมาณ QE ที่ออกมาในปริมาณมาก อย่างไรก็ดี นักลงทุนควรจับตาการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ที่สร้างความไม่แน่นอนเชิงนโยบาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ