นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) เปิดเผยว่า บริษัทได้วางกลยุทธ์รุกขยายแฟรนไชส์ร้าน "เขียง" ซึ่งเป็นแบรนด์เรือธงในกลุ่มร้านอาหารไทยตามสั่งแนวสตรีทฟู้ดที่เปิดตัวมากว่า 1 ปี โดยบริษัทวางเป้าหมายภายในสิ้นปีนี้จะมีร้านเขียงเปิดให้บริการครบ 100 สาขา จากปัจจุบันมีกว่า 80 สาขา ส่วนใหญ่เป็นการขยายสาขาแบบแฟรนไชส์ ซึ่งจะทำให้เขียงก้าวขึ้นเป็นแบรนด์สตรีทฟู้ดร้านอาหารไทยตามสั่งแบบ Omni Model ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย
สำหรับแผนงานขยายเขียงในปี 64 จะมุ่งเน้นการขยายแฟรนไชส์อย่างต่อเนื่องทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ปัจจุบันได้ข้อสรุปแผนงานขยายแฟรนไชส์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลอีกไม่ต่ำกว่า 100 สาขา ในจำนวนนี้คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงการทำสัญญากับแฟรนไชส์ 2 รายที่ต้องการขยายร้านเขียงประมาณ 60 สาขาในปีหน้า จึงมั่นใจว่าจะสามารถขยายสาขาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นแบรนด์ที่นึกถึงเมื่อต้องการรับประทานอาหารตามสั่งรสชาติจัดจ้าน
ทั้งนี้ ร้านเขียงแบ่งเป็น 2 โมเดลคือ แบบสแตนดาร์ดและแบบโลว์คอสต์ ประกอบด้วย 8 รูปแบบคือ สาขาในคอมมิวนิตี้มอลล์, ฟู้ดคอร์ท, สถานีบริการน้ำมัน, เทสโก้โลตัส, สถานีรถไฟฟ้า MRT, ตึกแถว, แบบสแตนอโลน, และภายในห้างสรรพสินค้า กระจายในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ อาทิ เชียงใหม่, หาดใหญ่ เป็นต้น ทำให้ร้านเขียงมีรูปแบบสาขาที่หลากหลายสามารถเข้าถึงได้ทุกพื้นที่ ทั้งในย่านธุรกิจ ย่านชุมชน คอนโดฯ ที่ทำงาน รถไฟฟ้าใต้ดิน หรือห้างสรรพสินค้า
ผู้ที่สนใจลงทุนแฟรนไชส์บริษัท คิดค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้า 600,000 บาท ค่าธรรมเนียมลอยัลตี้และมาร์เก็ตติ้งเดือนละ 15,000 บาท และเงินลงทุนอีก 1-2 ล้านบาท สำหรับเปิดร้านขนาดพื้นที่ 40-50 ตารางเมตร รองรับได้ประมาณ 20-30 ที่นั่ง โดยสาขาส่วนใหญ่สามารถสร้างยอดขายเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาท (ขึ้นกับทำเลและจังหวัดที่เปิดบริการ) และบางสาขาที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีสามารถสร้างยอดขายได้ถึงเดือนละ 600,000 ? 800,000 บาท ดังนั้น หากตั้งอยู่ในทำเลที่ดีจึงมีโอกาสคืนทุนภายในระยะเวลา 1-3 ปี
"เราต้องการให้เขียงเป็นแบรนด์ร้านอาหารตามสั่งที่มีสาขาเปิดให้บริการทุกจังหวัดทั่วประเทศ เสมือนร้านสะดวกซื้อของอาหารตามสั่ง โดยเราพร้อมเป็นที่ปรึกษาให้กับแฟรนไชส์ในการเพิ่มศักยภาพขยายสาขาและให้บริการแก่ลูกค้า เพื่อยกระดับสู่การเป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์ในอนาคต พร้อมทั้งร่วมเติบโตไปกับชุมชนโดยการสนับสนุนสินค้าในท้องถิ่น เช่น ข้าว, ใบกะเพรา, เครื่องปรุงรส ฯลฯ ในการนำมาใช้ปรุงอาหาร" นายบุญยงกล่าว