ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. กรุงเทพดุสิต เวชการ (BDMS) ทีjระดับ "AA" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทจากการเป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศที่มีเครือข่ายโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงผลการดำเนินงานที่ดีของบริษัท ตลอดจนความเสี่ยงทางด้านการเงินที่อยู่ในระดับปานกลางและสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ และผลกระทบอันเกิดจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19)
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
-เป็นผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บริษัทเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนของประเทศไทย โดยในปี 2562 บริษัทมีรายได้จากการให้บริการด้านสุขภาพและรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 7.96 หมื่นล้านบาท คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดประมาณ 53% ของรายได้รวมของกลุ่มผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทสูงกว่าบริษัทคู่แข่งที่มีรายได้เป็นอันดับสองซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 12%
ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทมีเครือข่ายโรงพยาบาล 49 แห่งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ บริษัทให้บริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมทุกระดับ โดยมีจำนวนเตียงรองรับการให้บริการผู้ป่วยในทั้งสิ้น 6,085 เตียง หรือคิดเป็นสัดส่วน 16% ของจำนวนเตียงในโรงพยาบาลเอกชนทั้งหมดในประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังมีบุคลากรทางการแพทย์ที่มากที่สุดในอุตสาหกรรม โดยมีแพทย์ที่ปฏิบัติงานในเครือโรงพยาบาลมากกว่า 12,800 คนและมีพยาบาลอีกประมาณ 10,000 คน เมื่อพิจารณาถึงขนาดเครือข่ายโรงพยาบาลที่กว้างขวางและบริการทางการแพทย์ที่หลากหลายแล้ว ทริสเรทติ้งจึงเห็นว่า บริษัทน่าจะยังคงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งและคงความได้เปรียบในการแข่งขันที่เหนือกว่าคู่แข่งต่อไปได้
-ธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 มาตรการควบคุมการเข้าประเทศอย่างเคร่งครัดและการกักกันโรคสำหรับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศที่เข้ามาในราชอาณาจักรส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติลดลง ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 รายได้รวมของผู้ประกอบการที่ให้บริการด้านสุขภาพที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงประมาณ 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ รายได้ของผู้ประกอบการที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ป่วยต่างชาติในตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์หดตัวลงถึง 15%-30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยปกติแล้วสัดส่วนรายได้รวมของบริษัทจะมาจากผู้ป่วยชาวไทยคิดเป็นประมาณ 70% และที่เหลือมาจากผู้ป่วยต่างชาติ วิกฤตการณ์โรคโควิด 19 และการปิดประเทศส่งผลทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติของบริษัทลดลงอย่างมากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 ส่วนจำนวนผู้ป่วยชาวไทยก็ลดลงในเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ประชาชนเกิดความหวาดกลัวโรคโควิด 19 อย่างมากและเป็นช่วงจำกัดเวลาออกนอกเคหสถานอีกด้วย ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มาใช้บริการด้านสุขภาพในโรงพยาบาลของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 หดตัวลงไปประมาณ 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 2,948 คนต่อวัน ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยชาวไทยลดลงประมาณ 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 22,245 คนต่อวัน ส่งผลทำให้รายได้จากการรักษาพยาบาลโดยรวมของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.2 หมื่นล้านบาท จากระดับ 3.85 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ลง ทริสเรทติ้งคาดว่ากลุ่มผู้ป่วยต่างชาติในตลาดท่องเที่ยวเชิงการแพทย์อาจเป็นกลุ่มชาวต่างชาติกลุ่มแรก ๆ ที่ได้รับอนุญาตเมื่อมีการเปิดประเทศเพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้ประกาศแผนการที่จะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาพำนักระยะยาวในประเทศไทยได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ด้วยสถานะในการแข่งขันที่แข็งแกร่งของประเทศไทยในเรื่องคุณภาพการให้บริการด้านการแพทย์ ทำเลที่ตั้ง และราคาที่ต่ำกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ จึงทำให้ชาวต่างชาติจำนวนมากยังคงต้องการเข้ามารับบริการด้านการแพทย์ในประเทศไทย
หลังจากมาตรการต่าง ๆ เริ่มผ่อนคลายลง สัญญาณการฟื้นตัวของจำนวนผู้ป่วยในประเทศเริ่มปรากฏแม้ว่าจะยังไม่กลับไปถึงระดับปกติก็ตาม บริษัทมีฐานผู้ป่วยชาวไทยจำนวนมากและยังได้พยายามเพิ่มจำนวนผู้ป่วยในประเทศด้วยการรณรงค์ส่งเสริมการขายต่าง ๆ และร่วมมือกับบริษัทประกัน ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงประมาณ 20% ในปี 2563 และจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นในปี 2564 แต่ยังต่ำกว่าระดับรายได้ในปี 2562 ประมาณ 10% และหลังจากนั้นจะเพิ่มกลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 8.2-8.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 2 ปีถัดมา
ในปี 2562 บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับประมาณ 1.94 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทลดลงไป 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ 7.6 พันล้านบาท เนื่องจากรายได้ที่หดตัวลง ทั้งนี้ ในปี 2563 บริษัทได้ควบคุมค่าใช้จ่ายและเลื่อนการลงทุนหลัก ๆ ออกไปเพื่อลดผลกระทบจากการลดลงของรายได้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะอยู่ในช่วง 19%-20% โดยพิจารณาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด 19 และค่าใช้จ่ายดำเนินงานหลัก ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร
-ชื่อเสียงโรงพยาบาลที่แข็งแกร่งและครอบคลุมคนไข้หลากหลายกลุ่มช่วยสนับสนุนการเติบโตของรายได้ บริษัทมีเครือข่ายโรงพยาบาลภายใต้ 5 แบรนด์หลัก ได้แก่ "โรงพยาบาลกรุงเทพ" "โรงพยาบาลสมิติเวช" "โรงพยาบาลบีเอ็นเอช" "โรงพยาบาลพญาไท" และ "โรงพยาบาลเปาโล" ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในประเทศไทย
ปัจจุบันโรงพยาบาลในเครือของบริษัทจำนวน 14 แห่งได้รับการรับรองมาตรฐานจาก Joint Commission International (JCI) และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในกลุ่มคนไข้ชาวต่างชาติและคนไข้ชาวไทย โดยโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลสมิติเวช และโรงพยาบาลบีเอ็นเอชมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นคนไข้ที่มีรายได้ปานกลางระดับบนไปจนถึงรายได้สูงและคนไข้ชาวต่างชาติ ในขณะที่โรงพยาบาลเปาโลและโรงพยาบาลพญาไทมีลูกค้าเป้าหมายเป็นกลุ่มคนไข้ที่มีรายได้ปานกลางถึงสูงและคนไข้ในระบบประกันสังคม
บริษัทได้ยกระดับโรงพยาบาลชั้นนำจำนวน 10 แห่งให้เป็นศูนย์การแพทย์แห่งความเป็นเลิศ (Centers of Excellence -- COEs) ที่พร้อมด้วยเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ขั้นสูงเพื่อให้บริการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังได้เปิด "BDMS Wellness Clinic" และ "Movenpick BDMS Wellness Resort Bangkok" เพื่อให้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ทั้งนี้ ในช่วงมาตรการปิดประเทศ Wellness Resort ของบริษัทเป็นโรงแรมกลุ่มแรกๆ ในกรุงเทพมหานครที่ได้เข้าร่วมเป็นโรงแรมสำหรับการกักตัวเพื่อสังเกตอาการสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (Alternative State Quarantine -- ASQ) ในขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้จัดหอพักผู้ป่วยในโรงพยาบาล 30 แห่งในเครือข่ายโรงพยาบาลของบริษัทเพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสำหรับกักตัวเพื่อสังเกตอาการผู้ป่วยที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (Alternative Hospital Quarantine --AHQ) อีกด้วย ทั้งนี้ การเข้าร่วมเป็นสถานที่กักตัวเพื่อสังเกตอาการสำหรับผู้เดินทางกลับมาจากต่างประเทศดังกล่าวจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากการลดลงอย่างมากของจำนวนผู้ป่วยต่างชาติลงได้บ้าง
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา รายได้จากกลุ่มคนไข้ที่มีประกันสุขภาพของบริษัทได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทได้ร่วมมือกับบริษัทประกันเพื่อขยายฐานกลุ่มคนไข้ที่มีประกันสุขภาพ โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 บริษัทมีรายได้ค่ารักษาพยาบาลจากกลุ่มคนไข้ที่มีประกันสุขภาพคิดเป็นสัดส่วน 32% ของรายได้จากการรักษาพยาบาลรวมของบริษัท โดยเพิ่มขึ้นจาก 31% ในปี 2562 และ 29% ในปี 2561 ทั้งนี้ คาดว่าการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนไข้ที่มีประกันสุขภาพจะช่วยเพิ่มอัตราการครองเตียงผู้ป่วยในของโรงพยาบาลได้ในช่วงระยะยาว
-การแข่งขันที่รุนแรงจะยังคงดำเนินต่อไป ทริสเรทติ้งเห็นว่าปัจจัยพื้นฐานของธุรกิจโรงพยาบาลในช่วงระยะปานกลางยังคงดีอยู่ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสภาวการณ์สังคมสูงอายุและความตื่นตัวด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การแข่งขันในอุตสาหกรรมทั้งจากผู้ประกอบการภายในประเทศและต่างประเทศจะยังคงรุนแรง ในความเห็นของทริสเรทติ้งเห็นว่า การแข่งขันในอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดภายในประเทศน่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นจากจำนวนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนที่จะเกิดขึ้นใหม่หลายแห่งในช่วงระยะ 3 ปีข้างหน้า
โดยมีจำนวนคลินิกพิเศษที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาลรัฐเพิ่มมากขึ้น และยังมีผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนรายใหม่ ๆ เข้ามาแข่งขัน นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมหลายแห่งได้เปลี่ยนรูปแบบธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการด้านสุขภาพอีกด้วย การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นนี้อาจนำมาซึ่งการเคลื่อนย้ายของบุคคลากรทางการแพทย์และพยาบาลระหว่างโรงพยาบาลและอาจก่อให้การแข่งขันทางด้านราคาในช่วงระยะกลางได้
-ภาระหนี้สินในระดับปานกลาง ทริสเรทติ้งคาดว่าหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะอยู่ในระดับ 2.9-3.2 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทจะนำเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปใช้เพื่อการบำรุงรักษาสินทรัพย์ประมาณปีละ 3.5-8 พันล้านบาท รวมทั้งใช้สำหรับการขยายพื้นที่บริการทางการแพทย์เพิ่มเติมในโรงพยาบาลที่มีอยู่อีกจำนวนหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของบริษัทแล้ว ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานเป็นเงินลงทุนส่วนใหญ่ได้
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า หากไม่มีการเข้าซื้อกิจการขนาดใหญ่โดยใช้หนี้สินเป็นเงินทุนแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ต่ำกว่า 35% ในขณะที่ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ที่ระดับประมาณ 2 เท่า และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่สูงกว่า 40%
-มีสภาพคล่องที่เพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทมีสภาพคล่องที่เพียงพอ ในช่วง 12-24 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนของบริษัทจะมาจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 4.3 พันล้านบาทที่มี ณ เดือนมิถุนายน 2563 โดยคาดว่าบริษัทจะมีเงินทุนจากการดำเนินงานประมาณ 1.2-1.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ความต้องการใช้เงินทุนจะเป็นค่าใช้จ่ายเงินลงทุนตามแผนประมาณ 6.5-8 พันล้านบาทต่อปี บริษัทมีหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 3.5 พันล้านบาทในปี 2564 และมีหนี้ระยะยาวและหู้นกู้ที่จะครบกำหนดชำระอีกประมาณ 5.1 พันล้านบาทในปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทมีเงินลงทุนใน บริษัท โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีมูลค่าตามราคาตลาดรวมอยู่ที่ 1.72 หมื่นล้านบาท ณ วันที่ 16 ตุลาคม 2563 ที่จะช่วยเสริมความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทอีกด้วย
ข้อกำหนดทางการเงินที่บริษัทมีกับผู้ถือหุ้นกู้และธนาคารระบุให้บริษัทต้องคงระดับอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินที่มีภาระดอกเบี้ยจ่ายต่อส่วนทุนไม่ให้เกิน 1.75 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินสุทธิต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายไม่ให้เกิน 3.25 เท่า ทั้งนี้ ณ เดือนมิถุนายน 2563 บริษัทสามารถรักษาข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวเอาไว้ในระดับที่ต่ำกว่าเกณฑ์ได้โดยมีอัตราส่วนอยู่ที่ระดับ 0.4 เท่าและ 1.9 เท่าตามลำดับ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวต่อไป
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
-รายได้จะลดลงประมาณ 20% ในปี 2563 และจะค่อย ๆ ปรับดีขึ้นในปี 2564 แต่ยังต่ำกว่าระดับรายได้ในปี 2562 ประมาณ 10% และหลังจากนั้นจะเพิ่มกลับขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 8.2-8.6 หมื่นล้านบาทต่อปีในช่วง 2 ปีถัดมา
-อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะอยู่ในช่วง 19%-20%
-เงินลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ประมาณ 2.9 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2566
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนเอาไว้ได้และจะยังคงมีสภาพคล่องที่เพียงพอต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันให้ต้องปรับลดลงหากบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เชิงรุกจากการใช้เงินกู้เป็นเงินลงทุนและ/หรือซื้อกิจการจนทำให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายสูงกว่า 2.0 เท่า หรืออัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ต่ำกว่า 40% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ในขณะที่โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตนั้นมีจำกัดในช่วงระยะปานกลาง